วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เยือนถิ่นสามโคกจากนิราศภูเขาทอง



นิราศภูเขาทองได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศที่ไพเราะที่สุดและดีที่สุดของสุนทรภู่ สุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องนี้ขณะบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ ได้เดินทางโดยเรือไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ นิราศเรื่องนี้พร้อมไปด้วยกระบวนกลอนอันไพเราะและแฝงแง่คิดในการดำรงชีวิตไว้มากมาย ผู้อ่านจะเห็นสัจธรรมของชีวิตที่ว่า “เมื่อมีวันรุ่งเรืองก็ต้องมีวันที่ตกต่ำ” ที่สุนทรภู่ได้พบเจอ และได้รับความรู้จากสภาพสังคมชาวบ้านสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สุนทรภู่ได้บรรยายไว้อีกด้วย



สำหรับการเดินทางในนิราศนั้นสุนทรภู่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯเมื่อเดือนสิบเอ็ด หลังจากรับกฐินแล้ว โดยล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยากับบุตรชายชื่อหนูพัด ออกเดินทางจากวัดราชบูรณะ ผ่านพระบรมมหาราชวัง ท่าแพ (ท่าราชวรดิษฐ์) วัดประโคนปัก โรงเหล้า บางยี่ขัน บางจาก บางพลู บางพลัด บางโพ บ้านญวน วัดเขมาภิรตาราม ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ บางธรณี บ้านมอญ บางพูด บ้านใหม่ บางเดื่อ บางหลวง เชิงราก สามโคกบ้านงิ้วถึงเกาะราชครามในตอนเย็นจึงล่องเรือต่อมาจนพลบค่ำก็ถึงตำบลกรุงเก่า ขณะนั้นพระนายไวย(พระยาไชยวิชิต (เผือก)) ซึ่งคุ้นเคยกับสุนทรภู่ดีได้เป็นผู้รั้ง สุนทรภู่ตกยากจึงไม่กล้าแวะเข้าไปหา สุนทรภู่จึงไปพักค้างคืนที่หน้าวัดพระเมรุ ขณะจำวัดในเรือถูกโจรเข้ามาขโมยของ แต่สุนทรภู่รู้ตัวเสียก่อน ครั้นรุ่งเช้าสุนทรภู่จึงไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ได้พบพระบรมธาตุในเกสรดอกบัวจึงได้อัญเชิญมา แต่รุ่งเช้าก็อันตรธานไป สุนทรภู่พักค้างคืนที่วัดภูเขาทองคืนหนึ่งจึงได้ล่องเรือกลับกรุงเทพมหานคร มาจำพรรษาที่วัดอรุณราชวราราม ตอนท้ายของนิราศ สุนทรภู่กล่าวว่านิราศเรื่องนี้ที่กล่าวถึงความรักไว้ เป็นเหมือนพริกไทยใบผักชีโรยหน้าอาหารให้เกิดความสวยงามเท่านั้นเอง หาได้มีความรักจริงๆไม่



ในตอนที่ผ่านสามโคกนี้สุนทรภู่ได้กล่าวถึงความรักความอาลัยอาวรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเสด็จสวรรคตหลายปีแล้ว แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ไม่เสื่อมคลาย สุนทรภู่ย้อนนึกถึงตอนที่พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเยื้องเมืองสามโคก ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่ชาวมอญเป็นล้นพ้น พสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างเนืองแน่น ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า "ประทุมธานี" ดังที่กล่าวไว้ในนิราศว่า



๏ ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี


ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว


โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว


โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ


สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย


แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี




เมืองสามโคกเป็นเมืองที่มีประวัติยาวนานมากว่า370 ปี ที่ตั้งเดิมอยู่บริเวณวัดพญาเมือง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ใกล้ๆกับวัดป่างิ้ว) เมืองนี้ได้ร้างไปเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่1 ในพ.ศ.2112 ชื่อสามโคกนี้มีปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่1 (พระเจ้าอู่ทอง) ต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้กล่าวถึงกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญว่าด้วยการใช้ตราราชการพ.ศ.2179 แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง โดยระบุว่าสามโคกเป็นหัวเมืองขึ้นกับกรมพระกลาโหม



บ้านสามโคกได้ถูกบันทึกไว้ในแผ่นที่ที่ชาวฮอลันดาเขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๓๒๖ เป็นภาพวาดหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่คุ้งน้ำฝั่งตะวันตก โดยมีคำบรรยายในหมายเลขกำกับที่มุมว่า “Potte – Bakkers Drop” หมายถึงหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา หรือ หมู่บ้านปั้นหม้อซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของบ้านสามโคกว่า หมู่บ้านนี้ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย มีการก่อตั้งโคกเนิน เพื่อสร้างเผาเตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสามโคก แต่ละโคกก็มีการก่อเตาเรียงคู่ขนานสลับซับซ้อนกันอยู่ ประมาณว่า ทั้งสามโคกมีเตารวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕ เตา แหล่งเตาเผาที่บ้านสามโคก นับเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนล่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปทุกครัวเรือนโดยเฉพาะ ตุ่มอีเลิ้งซึ่งเป็นตุ่มดินสีแดงไม่เคลือบ ปากเล็กก้นลึก กลางป่อง ซึ่งต่อมาเรียกตามชื่อแหล่งผลิตว่า ตุ่มสามโคกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญที่บ้านสามโคก




ที่มาของชื่อ “สามโคก”


ชื่อสามโคกมีตำนานและข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการและคนในท้องถิ่นมากมาย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (2537: 36-37) กล่าวว่า สามโคกเป็นชุมชนโบราณที่ใช้เรียกชุมชนของชาวรามัญที่เข้าไปตั้งเตาเผาหม้อ เผาโอ่งอ่างกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ราบลุ่มดินดี ดังนั้นการอาศัยอยู่ได้โดยยึดอาชีพเผาหม้อเช่นนั้นจำเป็นต้องทำเตาให้สูงเป็นโคกเพื่อหนีน้ำ ส่วนจะมีจำนวนเตาเพียงสามโคกหรือเหลืออยู่เพียงสามเตาสามโคกเป็นเรื่องโยงเหตุให้เข้ากับชื่อพื้นที่



การทำเตาเผาภาชนะดินเผานั้นน่าจะเป็นวิชาเฉพาะของชาวรามัญหรือบรรพบุรุษดั้งเดิม เพราะพบว่ามนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคกลางนั้นได้พบวิธีปั้นภาชนะดินเผากันแล้วมากกว่า๓๐๐๐ปี ส่วนการพัฒนารูปแบบจากเดินเผาเรียบมาเป็นลวดลายโดยใช้เชือกทาบ ดินแปะหรือทำดอกทำลายจากแม่พิมพ์นั้น เป็นเรื่องการสร้างภาชนะดินเผาให้สวยงาม ซึ่งทั้งคนไทยและรามัญก็น่าจะทำภาชนะดินเผาเป็น แต่รูปแบบภาชนะดินเผาของชาวรามัญนั้นเป็นรูปแบบที่แตกต่างและสังเกตได้ชัดเจน จึงสรุปว่าภาชนะดินเผาของชาวรามัญน่าจะมีแหล่งกำเนิดที่บ้านสามโคกแห่งนี้



หากชื่อสามโคกนี้ไม่เกี่ยวกับการทำเตาเผาหม้อของชาวรามัญแล้วก็มีเหตุที่เล่าขานกันว่าสถานที่แห่งนั้นมีโคกอยุ่สามโคกที่น้ำท่วมไม่ถึง เมื่อเป็นเช่นนี้บริเวณใกล้เคียงก็น่าจะเป็นที่ราบน้ำท่วมเป็นประจำ



อีกความหนึ่งมีตำนานเล่ามาว่าเมื่อพระเจ้าอู่ทองพาไพร่พลอพยพหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทองนั้น ได้มาหยุดพักที่สามโคกแห่งนี้ก่อนที่จะขึ้นไปตั้งราชธานีที่กรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงออกสำรวจบริเวณพื้นที่นี้เพื่อจะสร้างเมืองใหม่และทรงข้ามไปสำรวจบริเวณวัดวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงเห็นว่าเป็นดินดอนเหมาะแก่การสร้างเมืองมาก พระองค์จึงทรงประทับอยู่ที่นั่น วัดนี้ต่อมาประชาชนได้พากันเรียกว่า “วัดพญาเมือง”เพราะเคยมีพระเจ้าแผ่นดินมาประทับอยู่



จากปากคำของคุณยายประทุม ภู่ระหงซึ่งสอดคล้องกับที่กล่าวไว้ในนิราศเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ ว่า พระเจ้าอู่ทองเอาทรัพย์สินเงินทองมากองไว้ถึง3 กองเพื่อเป็นค่าจ้างในการสร้างเมืองใหม่ พอเกิดโรคห่าก็อพยพหนี ทรัพย์ที่กองไว้คงจะสูญหายด้วยน้ำมือโจรก็เป็นได้ จำนวนทรัพย์3กองก็กลายเป็นชื่อเมืองสามโคกในเวลาต่อมา




เศรษฐกิจบ้านสามโคก


เศรษฐกิจบ้านสามโคกในสมัยอยุธยามีลักษณะเศรษฐกิจในครัวเรือน ประชาชนมีรายได้แน่นอน การค้าขายเจริญดี เศรษฐกิจดี จึงมีการปลูกสร้างวัดเป็นจำนวนมากด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา



ชุมชนมอญบ้านสามโคก เป็นชุมชนที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาและอิฐมอญออกจำหน่าย ชาวรามัญเป็นคนปั้นหม้อหรือเรียกว่าหม้อมอญกันติดปาก ในสมัยนั้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นของจำเป็นต้องใช้กันทุกครัวเรือน เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ส่วนอิฐนั้น เป็นที่ต้องการของทางการในการสร้างบ้านแปงเมือง และก่อสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ อาชีพของชาวรามัญในชั้นแรกน่าจะเป็นการนำสินค้าออกขายทางเรือ มีเรื่องเล่ากันว่าชาวรามัญได้นำหม้อดินและภาชนะดินเผาออกขายทางเรือไปทั่วท้องน้ำทั้งกรุงศรีอยุธยาและสามโคกถึงบางกอก ดังนั้นชุมชนของชาวมอญในครั้งแรกจึงน่าจะยึดอาชีพทำนาทำสวนและปั้นหม้อนำไปค้าขายทางเรือ ส่วนชายชาวรามัญก็จัดตั้งทหารอาสากองรามัญ สังกัดกรมอาสาหกเหล่า



มอญสามโคก


เมื่อพุทธศักราช 2202 ได้เกิดสงครามระหว่างพม่ากับจีน เป็นเหตุให้พวกมอญในพม่าที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมสงครามได้พากันหลบหนีจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามาสวามิภักดิ์ในกรุงศรีอยุธยา โดยมีมังนันทมิตรเป็นหัวหน้ามอญ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญเหล่านั้นตั้งครอบครัวอยู่ ณ บ้านสามโคก ปลายเขตแดนกรุงศรีอยุธยาต่อกับเขตเมืองนนทบุรีและบริเวณวัดตองปุ ชานพระนครของกรุงศรีอยุธยา



ต่อมาในราว พ.ศ. 2317 แผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวมอญได้ก่อการกบฏในพม่าโดยมี พระยาเจ่ง เจ้าเมืองอัตรัน เป็นหัวหน้ากบฏและได้อพยพครัวมอญเข้ามาในประเทศไทย พระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ครัวมอญพระยาเจ่งไปตั้งภูมิลำเนา ณ เมืองสามโคกเช่นเดียวกับครัวมอญชุดแรกและมีครัวมอญบางกลุ่มได้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด ครัวมอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้จำนวนประมาณ 3,000 คน ครัวมอญพระยาเจ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า มอญเก่า



ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ. 2358 ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะ เข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า " มอญใหม่” โดยมีสมิงรามัญแห่งเมืองเมาะตะมะเป็นหัวหน้า จำนวนประมาณ 40,000 คนเศษ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มอญใหม่กลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองสามโคก เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ (เมืองพระประแดง) ชื่อบ้านเรือนวัดวาอารามที่ชุมชนนั้น เริ่มปรากฏเป็นภาษามอญ โดยตั้งชื่อหมู่บ้านและวัด ให้เหมือนกับชี่อหมู่บ้านในเมืองเดิมของตน เพื่อให้ผู้อพยพมาได้รวมเป็นพวกเดียวกัน เช่น บ้านเมตารางค์ อยู่ในเขตตำบลเชียงรากน้อยเป็นชื่อแม่น้ำบีฮะตางค์ ในเมืองเมาะตะมะ บ้านเดิง อยู่ในเขตตำบลเชียงรากน้อย เป็นชื่อเมืองอยู่ติดกับเมืองมะละแหม่ง แปลว่า บ้านเมืองเก่า เป็นต้น เมื่อเวลาผ่านไปจากชุมชนขนาดเล็ก "บ้านสามโคก" จึงกลายเป็น "เมืองสามโคก" ในกาลต่อมา




บ้านชาวมอญ : มอญขวาง


วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย (2546 : 133-134) กล่าวว่า การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวมอญเมืองสามโคกนั้นตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมแก่การดำรงชีวิต สะดวกสบายในการสัญจรไปมา การจัดตั้งหมู่บ้านแบบรวมกลุ่มมีวัตถุประสงค์ที่จะรวมกันอยู่ของกลุ่มชนเดียวกัน เช่น เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ประเพณีเดียวกัน บ้านมอญมีลักษณะเด่นที่ต่างกับบ้านชาวไทย5ประการคือ



1. เป็นหมู่บ้านใหญ่ ลักษณะการตั้งหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านใหญ่ ตั้งบ้านเรือนกันอยู่หนาแน่น ปลูกบ้านเรือนชายคาใกล้ชิดติดกัน มีทางส่วนรวมเป็นทางเดินแคบๆสำหรับเดินเท้าทะลุตลอดหมู่บ้านคดโค้งไปตามชายคาบ้าน ทางเดินแต่โบราณมักปูด้วยอิฐแปดรู เป็นอิฐขนาดใหญ่เป็นถนนทางเดินในหมู่บ้านไปสู่วัด ลักษณะการตั้งบ้านเรือนที่หนาแน่นแออัดกันอยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงขอบเขตที่อยู่ทางการเป็นผู้กำหนดเขตในการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในครั้งแรกที่อพยพมา



2. มีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน หมู่บ้านมอญจะมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน โดยมีเอกลักษณ์แตกต่างกับวัดไทย เช่น มีเจดีย์มอญ มีเสาหงส์ ธงตะขาบ มีหอสวดมนตร์ที่งดงาม ฝ้าเพดาน เสาคันทวย เชิงชาย ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ฉลุแกะสลักปิดทองร่องกระจก บริเวณวัดสะอาดเป็นระเบียบ เป็นสัดส่วนดูสงบเยือกเย็น มีถนนปูด้วยอิฐเป็นทางเดินเท้าจากวัดไปสู่บ้าน



3. ประกอบอาชีพค้าขาย มอญทำการค้า ไทยทำไร่นา มอญประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำหน้าบ้านหน้าเรือนริมฝั่งแม่น้ำจะมีเรือแพจอดอยู่เต็มท่า มีทั้งเรือต่อขนาดใหญ่และเรือต่อขนาดเล็กเรียกว่าเรือกระแชงมอญ บรรทุกโอ่งอ่างขึ้นล่องค้าขายตามลำน้ำเจ้าพระยา นอกจากค้าเครื่องปั้นดินเผาแล้ว มอญยังมีฝีมือทางจักสานกระบุงตะกร้า กระดั้ง กระชอน บรรทุกเรือไปขายหรือแลกข้าวเปลือก เครื่องจักสานไม้ไผ่เป็นที่ต้องการของคนไทยที่ทำนา มอญค้าขายต้นไม้และผลไม้ คนมอญมักล่องเรือไปซื้อสินค้าจากสวนเมืองนนทบุรีมาขาย เช่น มะพร้าวแห้ง ต้นไม้ผลไม้ กิ่งตอนไม้ดอก ไม้ประดับ นับว่าเป็นอาชีพหลักของมอญอีกอาชีพหนึ่ง ส่วนเรือต่อขนาดใหญ่คนมอญจะรับจ้างบรรทุกข้าวสารจากโรงสีในต่างจังหวัดแล้วล่องมาสู่กรุงเทพฯและรับจ้างบรรทุกสิ่งของต่างๆไปส่งเรือเดินสมุทรที่อ่าวไทย



4. ปลูกต้นโมกเป็นเอกลักษณ์ บ้านเรือนมอญ วัดมอญ นอกจากจะมีความสะอาด จัดสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านเป็นระเบียบแล้ว บ้านมอญ วัดมอญ ยังปลูกโมกไว้เป็นรั้วบ้านรั้วริมทางเดิน ตัดตบแต่งไว้สวยงามเป็นพุ่มเป็นกำแพง ถ้าเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านหรือวัดมอญหรือไทยก็ให้ดูจากต้นโมกก็ได้ การปลูกต้นโมกไว้เป็นรั้วของมอญเป็นสิ่งที่ดี ทำให้อากาศดีและดอกส่งกลิ่นหอมไปทั่วหมู่บ้าน คนมอญไม่มีเรือกสวนอะไรเนื่องจากในหมู่บ้านมีแต่บ้านเบียดเสียดกัน ไม่มีที่จะทำสวนปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นได้มากนัก



5. ปลูกบ้านขวางแม่น้ำ ชาวมอญปลูกบ้านปลูกเรือนขวางแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่เรียกว่ามอญขวาง บ้านเรือนของมอญแต่ก่อนนั้น ส่วนใหญ่มีฐานะเป็นหลักฐานปลูกเรือนไม้ฝากระดานปลูกเป็นบ้านทรงไทยบ้าง ทรงปั้นหยาบ้าง ปลูกบ้านเรือนขวางแม่น้ำ หันด้านข้างให้แม่น้ำ ไม่หันหน้าบ้านลงสู่แม่น้ำอย่างคนไทย



คติการปลูกเรือนสร้างบ้านอย่างมอญนี้มาจากการที่คนมอญศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่อแรกพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่บ้านเมืองมอญนั้น ได้เข้ามาทางทิศใต้ สมณฑูตได้เดินทางมาทางเรือนำพระไตรปิฎกมาสู่บ้านเมืองมอญ คนมอญจึงมีความเคารพศรัทธาในทิศใต้ว่าเป็นทิศหัวนอนที่ควรเคารพกราบไว้รำลึกถึงพระพุทธคุณ สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน ดังนั้นการปลูกบ้านเรือนของมอญจึงหันหน้าไปทางทิศเหนือ ส่วนห้องนอนจะอยู่ทางทิศใต้ คติการปลูกบ้านแบบมอญขวางนี้ยังมีให้เห็นอยู่ เช่น หมู่บ้านมอญศาลาแดง หมู่บ้านมอญเจดีย์ทอง



การตั้งถิ่นฐานของชาวมอญที่สามโคกมีแนวโน้มลดลงในปัจจุบัน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประชาชนย้ายถิ่นไปทำมาหากินและตั้งบ้านเรือนอยู่ต่างจังหวัด อีกทั้งสภาพที่ตั้งหมู่บ้านเดิมมีพื้นที่คับแคบ ไม่สามารถจะขยายครอบครัวก่อตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นได้ จึงเข้าอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ปัจจุบันหมู่บ้านมอญบางหมู่บ้านแทบจะมีสภาพเป็นหมู่บ้านร้างเลยทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เราหันได้ชัดเจนคือชาวมอญที่ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านต่างก็สำนึกและภาคภูมิใจในเชื้อสายมอญ และได้สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี คติความเชื่อ ภาษามอญ ดนตรีและศิลปแบบมอญไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้แล้ะปฏิบัติตามดังสายสร้อยแห่งชนชาติมอญที่ยังคงร้อยเป็นเส้นยาวที่ไม่มีวันสิ้นสุด










บรรณานุกรม


ทองคำ พันนัทธี. เมืองสามโคก. ว.วัฒนธรรมไทย 24, 5 (พ.ค. 2528) : 53-59.


นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. สามโคก. เมืองโบราณ 22, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2539) : 143-150.


พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. สามโคก ชุมชนชาวรามัญแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ว.วัฒนธรรมไทย 31, 10 (ก.ค. 2537) : 36-40.


วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย. ศิลปวัฒนธรรม 25, 2 (ธ.ค. 2546) : 133-139.

























ลักษณะสำคัญของพระมาลัยคำหลวง



พระมาลัยคำหลวงเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงพระนิพนธ์ขึ้นขณะผนวช เมื่อ พ.. ๒๒๘๐ เชื่อกันว่าพระองค์ได้เค้าเรื่องมาจาก มาลัยสูตรซึ่งภิกษุชาวลังกาแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีในราว พ.. ๑๗๐๐ ต่อมาภิกษุชาวเชียงใหม่ชื่อพุทธวิลาสได้นำมาขยายความใหม่ เรียกว่า ฎีกามาลัย พระมาลัยสำนวนนี้เดิมทรงตั้งชื่อว่า ลิลิตพระมาลัย แต่เนื่องจากเรื่องพระมาลัยมีอยู่หลายสำนวนจึงได้เปลี่ยนเป็น พระมาลัยคำหลวง ในเวลาต่อมา พระมาลัยคำหลวงเป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทยในฐานะเป็นวรรณคดีฉบับหลวง มีลักษณะสำคัญทั้งในด้านเนื้อหาและด้านวรรณศิลป์ ดังต่อไปนี้




๑. ด้านเนื้อหา : แนวคิดความเชื่อทางพระพุทธศาสนา



เรื่องพระมาลัยเป็นวรรณกรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เนื่องจากเนื้อหาหลักที่แสดง

แนวคิดเกี่ยวกับนรกสวรรค์ บาปบุญ กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว การเวียนว่ายตายเกิด และโลกยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว แก่นสำคัญของเรื่องมุ่งสอนให้ผู้อ่านตระหนักถึงผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ทำให้เห็นว่าคนทุกคนสามารถแสวงหาความสุขได้จากโลกนี้และโลกหน้าตามกำลังความสามารถด้วยการทำบุญ โดยนำองค์ประกอบต่างๆที่อยู่ในความเชื่อของคนทั่วไปมาผูกเป็นเรื่องขึ้น ผู้อ่านซึ่งมีพื้นความรู้ในเรื่องเหล่านี้มาบ้างแล้วก็จะถูกโน้มน้าวให้ประพฤติกาย วาจา ใจให้ดีขึ้น เกิดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป จึงละเว้นการกระทำความชั่วในที่สุด




กวีแสดงให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์สิ้นอายุขัย ผลกรรมที่ทำไว้ในอดีตจะทำให้ได้ไปอยุ่ในภพภูมิต่างๆกัน ผู้ที่ทำอกุศลกรรมทั้งหลายจะต้องชดใช้กรรมในนรกด้วยความทุกข์ทรมาน โดยกล่าวถึงนรกทั้งแปดขุมซึ่งมีวิธีการทรมานสัตว์นรกในรูปแบบต่างๆกัน หากมีผู้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ความทุกข์นั้นก็จะบรรเทาลงบ้าง ส่วนผู้ที่ทำกุศลกรรมก็จะได้ขึ้นสวรรค์ตามกำลังบุญจะหนุนส่ง กวีได้อธิบายรายละเอียดของการทำบุญตั้งแต่ขั้นที่ง่ายคือทำทานกับสัตว์เดรัจฉานไปจนถึงขั้นที่ยากคือการรักษาศีล๕อย่างเคร่งครัด รักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ให้ทานตามกำลังฐานะของตน อันจะส่งผลให้ได้เสวยสุขในทิพยวิมานและได้รับในสิ่งที่ปรารถนาตามกรรมดีที่ตนปฏิบัติไว้ เมื่อหมดบุญก็ต้องจุติลงมายังโลกมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะเข้าสู่นิพพาน




นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์หรือพระศรีอาริยเมตตรัย ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระสมณโคดม มนุษย์ส่วนใหญ่มีความปรารถนาที่จะมาเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งมีความสุขสบายเพียบพร้อมทุกอย่าง ผู้ที่ปรารถนาจะเกิดในยุคนี้ต้องทำบุญและความดีสั่งสมไว้ ต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบใน๑วัน และทำบุญด้วยสิ่งของต่างๆ เช่น ประทีป ดอกบัว เทียน ธง ฉัตร อย่างละพันสิ่ง การที่กวีพยายามชักชวนคนส่วนใหญ่ให้ประกอบบุญกุศลและทำความดีเพื่อให้ได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์นี้เป็นเหมือนจิตวิทยาในการสั่งสอนธรรมะโดยอ้างถึงประโยชน์และความสุขสบายที่ตนจะได้รับเมื่อได้ไปเกิดในโลกหน้า ดังที่ ปก แก้วกาญจน์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันทักษิณศึกษากล่าวไว้ว่าพระมาลัยสะท้อนกลวิธีการสั่งสอนประชาชนที่เป็นชาวพุทธสองแนวทฤษฎี คือ ทฤษฎีศาสนาของผู้รู้(Intellectual Religion) และทฤษฎีศาสนาของประชาชน(Popular Religion) ซึ่งกลุ่มแรกเปรียบเหมือนยอดของเจดีย์ ได้แก่คนกลุ่มน้อยผู้มีสติปัญญาสูง การสอนจะมุ่งไปยังอุดมคติสูงสุดของศาสนา คือ พระนิพพาน แต่กลุ่มหลังเปรียบเหมือนเจดีย์ส่วนฐาน ได้แก่ คนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งจำเป็นต้องใช้กลวิธีในการสอนต่างกัน พระมาลัยคำหลวงจึงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าต่อพุทธศาสนิกชนโดยตรงในแง่การเป็นเครื่องมืออบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมและควบคุมพฤติกรรม จิตใจของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข



๒. ด้านวรรณศิลป์ : พรรณนาโวหาร

พระมาลัยคำหลวงแต่งด้วยร่ายสุภาพ และมีคาถาบาลีสั้นๆแทรกอยู่ด้านหน้า สำนวนที่ใช้ง่ายและชัดเจนกว่าในนันโทปนันทสูตรคำหลวง วรรณศิลป์ในพระมาลัยคำหลวงที่เด่นชัดคือการใช้โวหารแบบพรรณนาในการให้ภาพฉากของเรื่อง ซึ่งก่อให้เกิดจินตนาการอย่างเด่นชัด กวีกล่าวถึงภาคนรกไว้ในบทนำเพียงเล็กน้อย โดยบรรยายสภาพทั่วไปในนรกทั้งแปดขุม นิริยัตแปดขุม สัญชีพรุมราญร้อน กาลสูตรนอนตีปะทัด ตาปนรกบัตรใบไม้ เป็นปืนไฟหอกแหลน มหาตาปแดนดุจกัน สังฆาฏควันเปลวปลาบ โรรูพวาบวาวเพลิง มหาโรรูพเสริงสุมสุก อวิจีลุกพุ่งพลาม และบรรยายการมาของพระมาลัยทำให้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นฝนตกจนไฟในนรกมอดลง กวีเลือกใช้คำเพื่ออธิบายเป็นคำที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก เกิดจินตนาการ เห็นภาพความร้อนแรงของนรก การบรรยายเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านเกิดความเกรงกลัวและเห็นความทุกข์ทรมานหากได้ไปเกิดในภพภูมินี้



สำหรับเนื้อหาส่วนใหญ่ของพระมาลัยคำหลวงเน้นที่ภาคสวรรค์ ซึ่งสร้างภาพโดยพรรณนาสภาพแวดล้อมและรายละเอียดสวรรค์อย่างสวยงามน่าสัมผัส ดังในวิมานของอุบลเทวินทร์ กระหนกวิมาน โชติชัชวาลย์แล้วด้วยอุบลบานไพจิตร ห้าประการวิวิธโสภา มีนางอัจฉราบริวาร ถ้วนพันผสานดนตรี ปัญจางคศรีสังคีต โดยจารีตบำเรอ สุขอำเภอนีจกาลเสวยพัศสฐานดั่งคาม เป็นพระนามโดยกลชื่ออุบลเทวินทร์ความงดงามของภาพที่ปรากฎทำให้ผู้อ่านเกิดความรื่นรมย์ในการอ่านและเกิดแรงจูงใจในการทำความดียิ่งขึ้น



นอกจากนี้ยังจำลองโลกในอุดมคติของมนุษย์เอาไว้ ในยุคพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นการจูงใจให้คนทำ ความดีเพื่อที่จะสามารถเข้าไปอยู่ในทิพยสถานแห่งนั้นได้ และปลอบใจให้คนเรามีความหวังในอนาคต ทั้งบุรุษแลสตรี เปรมปรีดีโอฬารึก เสพกรรมพฤกษ์เลี้ยงกาย บได้ขวนขวายกิจการ แต่สำราญ บำรุงกาย ผ้าพรรณพรายทิพยเพริศ อาภารณ์เลิศประดับองค์ รูปยรรยงค์เยาวมาลย์ อัปสรปานปูนเปรียบ สมบัติเทียบชาวสวรรค์



กวีได้นำพรรณาโวหารมาใช้เพื่อบรรยายฉาก และสถานที่ ทำให้พระมาลัยคำหลวงมีความน่าสนใจ สามารถสื่อความคิดและสร้างจินตนาการให้กับผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม นอกจากนี้ยังเป็นการจูงใจให้ผู้อ่านทำความดีละเว้นความชั่ว ทำกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ อันจะทำให้ง่ายต่อการไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ นิพพาน อันเป็นบรมสุขเหนือกว่าสุขใดๆ แม้แต่โลกของพระศรีอาริย์ก็ไม่อาจเทียบได้







บรรณานุกรม



กรมศิลปากร. วรรณกรรมสมัยอยุธยาเล่ม๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๑

ชฎาลักษณ์ สรรพานิช . พระมาลัย : การศึกษาเชิงวิเคราะห์.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชา จารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528.

ทองแก้ว โอฬารสมบัติ.”การศึกษาความเชื่อเรื่องกรรมในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๓๐.


ปก แก้วกาญจน์. การศึกษาและปริวรรตวรรรกรรมท้องถิ่น เรื่อง พระมาลัยฉบับวัดจินตาวาสทักษิณคดี.():


พรพรรณ ธารานุมาศ. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๑๕.


เสนีย์ วิลาวรรณ. ประวัติวรรณคดี . กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช, ๒๕๑๙.