วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทวิจารณ์หลายชีวิต ความเป็นไปที่ใครลิขิต?



ในประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญของไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็น ทั้งนักประพันธ์ นักการธนาคาร นักหนังสือพิมพ์ นักแปล นักกลอน นักการแสดง นักการศึกษา นักพูด นักวิจารณ์ กล่าวโดยรวมคือท่านเป็นนักปราชญ์ ปราชญ์แห่งแผ่นดินไทยท่านนี้หากมองในแง่ของนักประพันธ์แล้ว ถือว่าท่านเปรียบเสมือนเพชรน้ำหนึ่งแห่งวงการวรรณกรรมไทย การที่ท่านได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ.2528จากคณะกรรมการแห่งชาติเป็นหนึ่งในสิ่งที่การันตีคุณภาพและคุณค่าของงานเขียนของท่าน นอกจากนี้การที่วรรณกรรมเกือบ 120ชิ้น ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะนวนิยายที่ดูเหมือนจะเป็นงานวรรณศิลป์ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะนวนิยายให้อรรถรสในการอ่านมากกว่าวรรณกรรมอื่นๆ มีตัวละครและเนื้อเรื่องสนุก ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง


นวนิยายเรื่องหลายชีวิตเป็นหนึ่งในหกนวนิยายเลื่องชื่อของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ลงประจำในหนังสือ “ชาวกรุง” คุณค่าและความโด่งดังของหนังสือเล่มนี้ถึงขนาดเคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีการสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง และในปัจจุบันในบางมหาวิทยาลัยได้บรรจุนวนิยายเรื่องนี้ไว้ในรายวิชาเกี่ยวกับอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ จะเห็นว่าหลายชีวิตเป็นผลงานอมตะที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ว่ากันว่า “วรรณกรรมคือภาพสะท้อนของมนุษย์และสังคม” หลายชีวิตสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีทีเดียว เพราะนวนิยายเรื่องนี้สะท้อนลักษณะของสังคมไทย การดำเนินชีวิตแบบไทยๆ และวิธีคิดแบบคนไทย ผู้แต่งสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายในการถ่ายทอดและเขียนชีวิตแต่ละชีวิตให้ออกมามีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จริงๆ การบรรยายชีวิตให้จับใจผู้อ่านและมีความสมจริงนั้นต้องประมวลความรู้จากศาสตร์มากมายหลายสาขา ม।ร।ว।คึกฤทธิ์ได้หยิบยกเอาสิ่งรอบตัวมาผนวกเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะท่านเป็นบุคคลที่ช่างสังเกต ช่างจดจำ และนำข้อมูลมาเรียงร้อยเป็นตัวอักษรได้อย่างงดงาม ผู้อ่านสามารถพิจารณาได้จากหลวงพ่อเสม ชายเล็ก นายผล และโนรี เพราะหากผู้แต่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งพอ ย่อมไม่สามารถวาดชีวิตหลวงพ่อเสมขึ้นมาได้สมจริงขนาดนั้น ชีวิตของชายเล็กก็ทำให้นึกถึง “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ” ท่านพ่อของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ต้องตกระกำลำบากตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต้องเก็บพุทราใส่กระทงเดินเร่ขายตามหน้าโรงหวย ชีวิตนายผลพระเอกลิเก ทำให้นึกถึงการประกวดลิเกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่จัดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ 2500 ส่วนโนรี แม้ผู้แต่งจะไม่เคยตกยาก แต่ย่อมจะได้พบปะพูดคุยกัน “นักประพันธ์ไส้แห้ง” และ นักประพันธ์หน้าใหม่มาไม่น้อย นอกจากนี้ผู้แต่งยังรู้สภาพทางภูมิศาสตร์ของคุ้งสำเภา หรือลานเทในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่กว้างที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงฤดูฝนจะอันตรายมากเพราะเป็นบริเวณโล่งเตียน ไม่มีกำบังลม ประกอบกับท้องน้ำอันกว้างใหญ่ เมื่อลมพัดจึงมีความแรงเป็นทวีคูณ เคยมีเรือโดยสารล่มบริเวณนี้หลายครั้ง มีคนจมน้ำตายไปมาก



หลายชีวิต.....กล่าวถึงเรื่องราวชีวิตที่หลากหลายของผู้คน หลายชีวิตที่แตกต่างกัน คนละวัย คนละเพศ คนละอาชีพ แต่ละคนมีภูมิหลังและทางเดินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ กรรม บางคนก็สร้างกรรมดี บางคนก็สร้างกรรมชั่ว ชีวิตของพวกเขาจึงวนเวียนมาบรรจบประสบชะตากรรมเดียวกัน ในคืนวันฝนตกหนัก พวกเขาลงเรือเมล์โดยสารลำหนึ่งเพื่อมุ่งหน้าไปสู่พระนคร แต่ละคนต่างก็มีจุดมุ่งหมายในการเดินทางที่แตกต่างกัน แต่ทว่าเรือเมล์ลำนั้นไม่สามารถแล่นไปถึงที่หมายได้ พอเลี้ยวโค้งพายุกระหน่ำปะทะเข้ากลางลำเรือ ทำให้เรือเอียงและพลิกคว่ำลงทันที เมื่อเวลาเช้าทุกสิ่งทุกอย่างสงบลง รวมทั้งชีวิตของพวกเขาที่สิ้นสุดลงด้วย ศพที่จมน้ำตายตั้งแต่เมื่อคืนวานวางเรียงรายอยู่มากมายหลายศพ แต่ละคนเคยมีชีวิตเป็นของตนเอง แต่ทั้งหมดก็ต้องมาสิ้นชีวิตลงด้วยการประสบเคราะห์กรรมจมน้ำตายลงพร้อมๆกัน



นวนิยายเรื่องนี้มีปรัชญาทางพระพุทธศาสนาแฝงอยู่อย่างลึกซึ้งและชัดเจน แก่นเรื่องหลักของเรื่องนี้ซึ่งมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้อ่านตีความได้ไม่ยากคือ “ชะตากรรม” ชีวิตมนุษย์มีพฤติกรรมและชะตากรรมเป็นของตนเอง คนเราเกิดมาเพื่อชดใช้เวรกรรม สร้างกรรมขึ้นมาใหม่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น ผู้แต่งได้ตั้งคำถามถึงอุบัติการณ์ครั้งนี้ และได้เฉลยไว้ในตอนท้ายของเรื่องว่า

“ ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง และกรรมนั้นก็พามาถึงอวสานอันเดียวกัน แต่กรรมนั้นคือกรรมใดเล่า ที่พาเอาความตายมาถึงคนเป็นอันมากในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่เราผู้มิใช่พรหมพอจะมองเห็นได้นั้นก็มีแต่อย่างเดียว คือมรณะซึ่งทุกคนกลัวเกรงนั้น ในบางกรณีก็เป็นการลงโทษอย่างแรงของกรรมอันชั่ว บางครั้งก็เป็นผลสนองตอบแทนกรรมอันดีบริสุทธิ์ บางคราวก็เป็นกุญแจไขปัญหา และบางโอกาสก็เป็นยาสมานแผล ในเมื่อยาอย่างอื่นไม่สามารถรักษาให้หายได้”

ความรู้สึกของผู้อ่านหลังจากอ่านจบแล้วจะเกิดความครั่นคร้ามในชะตากรรมของตัวละครเหล่านั้น และย้อนกลับไปพินิจพิเคราะห์ตนเองว่าเราเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเองหรือสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นผู้ลิขิต ผู้อ่านจะเกิดอาการปลงและทำใจยอมรับในความจริงที่ว่า ชีวิตคนเราเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ยั่งยืน ต่อให้ร่ำรวยยศถาบรรดาศักดิ์แค่ไหน สุดท้ายทุกชีวิตก็ต้องจบลงที่ความตาย ไม่มีใครที่สามารถหนีพ้นวัฏจักรนี้ไปได้ เหตุผลที่ผู้แต่งตั้งใจให้ตัวละครต่างจบชีวิตในน้ำอาจเพราะต้องการเปรียบการไหลไปเรื่อยๆของกระแสน้ำกับกระแสธารแห่งชีวิตก็เป็นได้

เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้คล้ายโศกนาฏกรรม จึงมีการบอกนัยยะเปรียบเทียบเป็นนัยของลางร้าย(Foreshadow) ตรงที่

“เรือลำนั้นคว่ำลงทันที เครื่องยนต์ในเรือคงเดินต่อไปสักครู่หนึ่ง สั่นสะเทือนอย่างแรงแล้วก็หยุดเงียบ เหมือนกับหัวใจสัตว์ที่เต้นต่อสู้อย่างแรงเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ต้องหยุดลงเมื่อความตายมาถึงตัว”

ประโยคนี้เล่าสถานการณ์จริงของเรือที่กำลังจม มีการเปรียบเรือกับสัตว์ การสั่นสะเทือนอย่างแรงของเครื่องยนต์เปรียบเหมือนสัตว์แสดงอาการตะเกียกตะกายที่จะมีชีวิตรอดตามสัญชาตญาณ

ฉาก ในนวนิยายเรื่องหลายชีวิตนั้น ผู้แต่งได้บรรยายถึงพฤติการณ์ในสมัยของผู้แต่งเอง ลักษณะของฉากกล่าวถึงบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โรงสีข้าว คุ้งน้ำ ที่เรือโดยสารได้แล่นผ่านในยามค่ำคืนซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายหลักแม้ในปัจจุบันก็ตาม จะเห็นว่าพฤติการณ์ในสมัยผู้แต่งเอง (เมื่อสมัย 50ปีมาแล้ว) กับสมัยปัจจุบันมีความแตกต่างกันไม่มากนัก

แต่การเปิดเรื่องของหลายชีวิตมีความโดดเด่นที่การพรรณนาฉาก มีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และมีสัมผัส ดังตัวอย่างประโยคต่อไปนี้

“ คนโดยสารบางคนงอตัวเอนลงหลับในเนื้อที่เท่าที่จะพอหาได้ บางคนก็นั่งกอดเข่าเหม่อมองไปข้างหน้า”

“ เสียงใครหวีดร้อง เสียงคนตะโกน เสียงเด็กร้องจ้าขึ้นด้วยความตกใจ”

“ทุกคนถลันตัวพุ่งเข้าใส่กราบที่ไม่ได้เอียง ทันใดนั้นเรือก็โคลงกลับมาอีกทางหนึ่งด้วยกำลังถ่วงสุดเหวี่ยง”

จะเห็นว่าการเลือกสรรคำดีมาก ใช้คำที่เห็นภาพชัดเจน มีการใช้คำน้อยแต่กินความมาก มีความกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ภาษาของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นภาษาที่มีพลังของการอธิบาย สามารถสร้างภาพในใจ (Mental picture) ให้กับผู้อ่าน ผู้อ่านจะรู้สึกว่าตนเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง เป็นผู้สังเกตการณ์จึงเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง เป็นอัจฉริยภาพของผู้แต่งในการเลือกใช้ภาษาสื่อภาพ สื่อความคิด และสื่ออารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษาเช่นนี้จะพบในงานของท่านเกือบทุกเล่ม สรุปแล้วสิ่งเหล่านี้คือการใช้ภาษาที่มีวรรณศิลป์นั่นเอง

นอกจากนี้ยังพบการใช้คำเปรียบเทียบที่ดี มีความชัดเจนและให้อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น

“ แต่เรือยนต์ลำนั้นก็ยังแล่นก้าวหน้าคืบคลานออกไปด้วยความพยายามเหมือนกับว่าเป็นสัตว์มีที่ชีวิตที่ถูกบรรทุกด้วยสัมภาระอันหนัก และถูกต้อนตีให้เดินไปตามทางที่ลำบากกันดาร”

“ท้องน้ำตรงนั้นมืดสนิท ทั้งฝนและพายุดูเหมือนจะเพิ่มกำลังแรงขึ้นดุจว่ามัจจุราชนั้นยินดีในชัยชนะของตน”

กลวิธีการนำเสนอนวนิยายเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เราจะพบวิธีการนำเสนอในรูปแบบนี้ได้ไม่บ่อยนักในวรรณเรื่องอื่นๆ การนำเสนอเรื่องนี้มีโครงเรื่องใหญ่ คือเรือโดยสารลำหนึ่งบรรทุกผู้คนแล้วเรือล่ม คนตายด้วยกันหมด แล้วก็มีโครงเรื่องรอง เมื่อแยกโครงเรื่องรองออกแล้ว ก็จะมีลักษณะของเรื่องสั้น แต่เรื่องนี้มีเอกภาพคือทุกคนมีจุดจบเหมือนกันคือความตาย ซึ่งนี่คือลักษณะของนวนิยาย ไม่ใช่เรื่องสั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เองได้ตอบปัญหาประจำวันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2595 เพียงว่า “เรื่องหลายชีวิตไม่ใช่หนังสือที่รวบรวมนวนิยายเรื่องสั้น แต่ทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของโครงนวนิยายเรื่องยาว จึงต้องรักษาโครงนั้นไว้ ตอนจบแต่ละชีวิตจึงต้องจมน้ำตายในเรือลำนั้นทุกคนไป”


กลวิธีเกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง เปิดเรื่องจากจุดหักเหของเรื่อง คือเรือล่ม ทุกคนตาย แล้วเล่าย้อนไปในอดีตของตัวละครแต่ละตัวว่ามีกำเนิดอย่างไร มีพฤติกรรมและมีความคิดอย่างไร การเล่าเรื่องประเภทนี้เรียกว่า การเล่าเรื่องย้อนต้น(Flash back) สำหรับโครงเรื่องย่อยแต่ละโครง มีการผูกเรื่องให้น่าสนใจ มีเหตุการณ์ให้ลุ้นระทึกและพลิกความคาดหมายอยู่เสมอ เช่นในกรณีของลินจง ใครเลยจะรู้ว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข มีสามีที่ดี และตัวลินจงเองก็ไมได้ทำความชั่วอะไร กลับต้องเผชิญความเจ็บปวดและทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัส สามีตาย ลูกคนเดียวก็ปัญญาอ่อน เหมือนเวรซ้ำกรรมซัดจริงๆ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความใคร่รู้เรื่องต่อไป ความขัดแย้งในการดำเนินเรื่องสมเหตุสมผล

หลายชีวิต นับว่าได้รับความสำเร็จจากผู้อ่านจำนวนมาก เพราะไม่มีใครสามารถปฏิเสธสัจจธรรมชีวิตไปได้ ว่าทุกชีวิตย่อมสิ้นสุดลงที่ความตาย จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ผุ้โง่เขลาและเฉาโฉดที่เดินตามกระแสแห่งกิเลสด้วยความยินยอมพร้อมใจต้องหันย้อนมาพินิจพิจารณาความเป็นไปในด้านมืดของตัวตนอย่างจริงจังเสียที และทำใจยอมรับในชะตากรรมที่ไม่คาดคิดว่าจะได้ประสบพบเจอ พร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่า "ชีวิตที่เป็นอยุ่ทุกวันนี้ เราลิขิตเองจริงหรือ ?"