วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

ยอดดอยในรอยใจ



มู่มวลดอกหญ้าที่ขึ้นสองฝั่งถนนลาดยางนั้นพลิ้วไหวอย่างนุ่มนวลตามแรงลมที่พัดมาระลอกแล้วระลอกเล่า มีบางส่วนถูกมือน้อยๆของเด็กๆชายหญิงรูดกลีบเล็กๆสีขาวบริสุทธิ์โยนขึ้นเหนือศีรษะ ละอองเกสรล่องลอยตามแรงลมพร้อมกับเสียงหัวเราะสดใสดังกังวานไปทั่วบริเวณที่พวกเราเหยียบย่างถึง



ระยะทางกว่า 3กิโลเมตรจากโรงเรียนบ้านห้วยทรายขาว ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย สู่บ้านห้วยน้ำรินนั้นต้องข้ามภูเขาถึง2ลูก ไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆเลยสำหรับการเดินเท้าของคนพื้นราบเช่นฉัน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับหนูน้อยชาวเขาเผ่าอาข่าซึ่งเชี่ยวชาญการเดินทางบนพื้นที่สูง พวกเขามีความสุขที่จะจับมือผู้มาเยือนเดินไปด้วยกันตามทางสายนั้น รอยยิ้มที่พวกเขามอบให้ดูแจ่มใส จริงใจและมีชีวิตชีวา
ฉันมาที่นี่ในฐานะ “ครูอาสา”
มาที่นี่ เพื่อที่จะตามหาสิ่งที่ขาดหายไปของชีวิต
ฉันได้พบแล้วที่นี่ “บ้านห้วยน้ำริน”

…เป็นครั้งแรกที่แทนตัวเองว่า "ครู" ได้อย่างสนิทปาก
อาจเป็นเพราะ"พวกเขา" มองเราเป็นครูได้อย่างสนิทใจ…



สิ่งแรกที่สะดุดสายตาและบ่งบอกให้รู้ว่าถึงที่หมายแล้วคือ ประตูหมู่บ้านหรือที่เรียกกันว่าประตูผี สร้างขึ้นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและภูตผีปีศาจไม่ให้เข้ามาทำอันตรายคนในหมู่บ้าน ข้างประตูหมู่บ้านมีตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปชายหญิงแสดงถึงต้นกำเนิดของชาวอาข่า



ฉันอาศัยอยู่กับครอบครัวของน้องนาย เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่3 บ้านของเธอเป็นบ้านชั้นเดียว ก่ออิฐอย่างหยาบๆไว้ ภายในมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆเช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี ตู้เย็น และโทรศัพท์มือถือ มีห้องนอน2ห้อง ด้านหลังเป็นห้องครัว มีหลายอย่างที่ฉันไม่คาดคิดว่าจะพบที่นี่ สิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญ” กำลังคืบคลานเข้ามาในสังคมแห่งนี้และได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว
คงไม่เป็นไร แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป
หากวิถีแห่งใจยังคงเดิม

ฉันเรียกแม่ของน้องนายเป็นภาษาอาข่าว่า “อามะ” และเรียกพ่อว่า “อาดะ” พวกเขาพูดภาษาไทยได้และต้อนรับฉันอย่างดี รอยยิ้มที่อบอุ่นเป็นมิตรทำให้หัวใจของฉันแช่มชื่นขึ้นอย่างประหลาด เย็นวันนั้นฉันต้องแสดงเสน่ห์ปลายจวักเป็นมื้อแรก ที่นี่ใช้เตาอั้งโล่ที่มีกระบะดินอัดแน่นรองข้างใต้และใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยมีเพียงเกลือและผงชูรสเท่านั้นที่เป็นเครื่องปรุงรส



เมื่อทุกคนในครอบครัวมาพร้อมหน้าจึงเริ่มรับประทาน อาหารบนโตกไม้ไผ่สานมีต้มจืดและไข่ทอดฝีมือฉัน และแตงโมอ่อนต้มพร้อมน้ำพริกถั่วเหลืองที่อามะคะยั้นคะยอให้ฉันชิม เธอตักข้าวให้ฉันพูนจานทีเดียว ข้าวไร่ที่ปลูกเองตำเองหุงเองนี้ ไม่ติดกันเป็นก้อนเหมือนข้าวเหนียว ไม่นุ่มร่วนเหมือนข้าวสวยและสีค่อนข้างขุ่น ก่อนรับประทานอาหารอามะ และอาดะต่างสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าตามความเชื่อในคริสต์ศาสนา ฉันมองไปรอบๆห้องเห็นรูปเคารพพระเยซูติดอยู่ อามะบอกว่าชาวอาข่าบ้านห้วยน้ำรินนี้นับถือศาสนาคริสต์และนับถือผีควบคู่กัน ชาวบ้านจะไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ทุกบ้านจะมีรูปเคารพพระเยซูและเคร่งครัดต่อศาสนามาก แต่เด็กๆเกือบทุกคนก็สามารถสวดบูชาพระรัตนตรัยได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำประจำเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ความคิดอย่างหนึ่งผุดขึ้นมาในใจ “โรงเรียน เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่านะ?”



หลังมื้ออาหารเด็กๆชวนฉันไปเดินเล่นรอบๆหมู่บ้าน เจ้ามัคคุเทศก์ตัวน้อยจับมือฉันเดินไปตามบ้านต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ไผ่ยกพื้นเตี้ย หลังคาทำด้วยหญ้าคา ชายหลังคาคลุมเกือบปิดบ้าน ตัวบ้านจะมีระเบียงหน้าบ้านสำหรับนั่งเล่น และทุกบ้านมีไฟฟ้าใช้แล้ว



บริเวณลานวัฒนธรรมที่เราใช้ทำกิจกรรมกันมีชิงช้าไม้ไผ่ขัดกัน4เสาสำหรับพิธีกรรมโล้ชิงช้า ตั้งตระหง่านท่ามกลางแสงดาวพร่างพรายในเวลานี้ และชิงช้าสวรรค์ที่ทำด้วยไม้เรียกว่า “กะลาล่าเซอ” ซึ่งอนุญาตให้คนทั่วไปเล่นได้ ความรู้สึกของฉันเมื่อได้เล่น“กะลาล่าเซอ”นี้ เหมือนอยู่สูงพอจะเอื้อมมือไปคว้าดาวได้ทีเดียว


ฉันและกลุ่มครูอาสาได้พูดคุยกับลุงอาตี๋ ผู้นำชุมชนบ้านห้วยน้ำริน ชายชราผมสีดอกเลาบอกเล่าความเป็นมาของชาวอาข่าด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ คนอาข่ามองชีวิตเป็นการสืบทอดหน้าที่กัน เด็กเกิดมาเป็นประกันว่าเผ่าจะไม่สูญพันธุ์ เติบใหญ่ขึ้นเป็นผู้สร้างเผ่าและเป็นผู้รักษาวีถีชีวิตอาข่า เมื่อตายจะกลายเป็นวิญญาณบรรพบุรุษคอยปกป้องลูกหลานต่อไป”



เนื่องจากชาวอาข่าไม่มีตัวหนังสือใช้ จึงไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาข่าก็มีตำนาน สุภาษิต ประเพณีพิธีกรรมมากมายที่ทำให้หมายรู้ในเผ่าพันธุ์ และซาบซึ้งในความเป็นอาข่าของตน สามารถสืบสาวรายงานบรรพบุรุษฝ่ายบิดาขึ้นไปได้ถึง“ต้นตระกูล” และรู้สึกว่าท่านเหล่านั้นก่อกำเนิดชีวิตพวกเขา และประทานวิชาความรู้ในการเลี้ยงชีพมาโดยตลอด จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะรักและหวงแหนสิ่งที่บรรพบุรุษให้มาและสืบทอดไว้ให้นานเท่านาน เพราะชาวอาข่ามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสายโซ่ที่ร้อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน



สิ่งที่ครูอาสาทุกคนอยากรู้คือกฎหรือข้อห้ามของเผ่าอาข่า ลุงอาตี๋พูดอย่างแจ่มใสว่า ผู้มาเยือนต้องให้ความเคารพในประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่า ห้ามจับต้องสิ่งของต่าง ๆเช่น ประตูผี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้า ชิงช้า ที่ตีเหล็ก ถ้าฝ่าฝืนจะต้องเสียหมู 1 ตัวและเหล้า เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมขอขมาที่ล่วงเกินโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม



ฉันจึงโล่งใจที่ยังไม่ได้กระทำการอะไรผิดกฎของหมู่บ้าน และคิดว่าชีวิตครูอาสาในหมู่บ้านห้วยน้ำรินของฉันคงจะเป็นไปอย่างราบรื่น



คืนนี้ฉันเดินกลับบ้านพร้อมเพื่อนครูอาสาอีกหลายคน เด็กๆส่วนมากง่วงนอนกลับบ้านไปก่อนหน้านี้แล้ว เสียงจักจั่นเรไรร้องระงมทั่วหมู่บ้าน แสงจันทร์สาดส่องยอดดอยเบื้องหน้าแลเห็นเงาสีทองของก้อนเมฆยามเคลื่อนมาทาทาบดวงจันทร์เป็นความงดงามที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ที่มีเพียงป่าคอนกรีตและแสงไฟประดิษฐ์เท่านั้น
…………….

ความหนาวเย็นลอดผ่านก้อนอิฐมายังผืนผ้าห่มที่คลุมกาย ปลุกฉันให้ตื่นจากการหลับใหล เสียงผ่าฟืนดังมาจากในครัวทำให้รู้ว่าอามะตื่นมาทำอาหารแล้ว ฉันเดินตรงไปยังครัวพลางถูมือเพิ่มความอบอุ่น ฉันยิ้มให้อามะและเป็นลูกมือในการทำอาหารมื้อนี้ ฉันมองควันไฟเหนือหม้อข้าวที่ลอยขึ้นไปเกาะหลังคาจนเป็นสีดำ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งเพราะควันไฟจะทำให้หลังคาหญ้าเหนียวทนมากขึ้นและทำให้ภายในบ้านไร้แมลงรบกวน



หลังมื้ออาหารครูอาสาและเด็กๆเดินไปโรงเรียนด้วยกัน ระยะทาง3 กิโลเมตรในวันนี้ดูเหมือนไม่ไกลนัก พวกเราไปทันโรงเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติพอดี จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูของฉันถูกปลุกขึ้นมาเป็นครั้งแรกในชีวิต มันเป็นสิ่งเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่สำหรับฉัน เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พวกดูมีความสุขมากเมื่อได้ฟังนิทาน ร้องเพลงและได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าพวกเขาจะขาดสื่อการสอนดีๆ แต่ฉันรู้สึกว่าพวกเขามีทั้งจินตนาการและ “ทักษะชีวิต”สูง เด็กๆแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สามารถเอาตัวรอดในสังคมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ฉันเชื่อว่าทักษะชีวิตต้องปลูกฝังควบคู่ไปกับทักษะการเรียน เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


.............................................


…เมื่อดาวหนึ่งดวงร่วงลงจากฟ้า
จะมีดวงตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้แทน เป็นเด็กผู้หญิง
เป็นเด็กผู้ชาย ส่องแววประกายเด็กมีความหมายเช่นดาว…
เพลงนี้เป็นเพลงที่เด็กๆและครูอาสาร้องประสานกันก้องลานวัฒนธรรม ท่ามกลางภูเขารายล้อม มีดวงดาวเป็นดังโมบายแขวนระยิบระยับยามค่ำคืน แม้ลมหนาวจะพัดผ่านร่างกายจนสะท้าน แต่ฉันเชื่อว่าในหัวใจของทุกคนคงจะอบอุ่นและอบอวลไปด้วยมิตรภาพและความอาลัยเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอีกไม่นาน เราทุกคนต่างก็ต้องเดินไปตามทางของตนเองอีกครั้ง



คืนนี้เหล่าอามะ อาดะและเด็กๆต่างใส่ชุดประจำเผ่ามาร่วมกิจกรรมกัน อามะและเด็กหญิงสวมหมวกสีดำ มีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเชิดขึ้นมาทางด้านหลัง ด้านหน้าประดับสายลูกปัดสลับกับสายกระดุมเงิน มีลูกบอลเงินล้อมกรอบใบหน้า และมีเหรียญและลูกปัดห้อยเป็นสายประบ่า ด้านหลังเสื้อประดับด้วยเศษผ้าหลากสีสลับลายปักงามวิจิตร มีกระดุมเปลือกหอย กระดุมเงิน และพู่ห้อย กระโปรงสีดำ ผ้าผูกเอวประดับเปลือกหอยและลูกเดือย ส่วนเสื้อของอาดะและเด็กชายมีลายปักประดับชายเสื้อโดยรอบ บางคนก็ปักประดับอย่างงดงามที่สาบหน้าและสวมกางเกงสีดำ อามะแสดงการเต้นประจำเผ่าให้ชมกัน ก่อนที่พวกเราจะเต้นตอกบอกร่วมกันอย่างสนุกสนาน



หลังเลิกกิจกรรมพวกเราเหล่าครูอาสาต่างมาประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกันในด้านต่างๆ มีปัญหามากมายอันเนื่องจากความเจริญและความพัฒนาทางวัตถุซึ่งเข้ามาและพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตพวกเขา ชาวบ้านยินดีรับความเจริญนั้นเพราะทำให้เขาสะดวกสบายขึ้น การมีโทรทัศน์ทำให้พวกเขาเปิดโลกทัศน์และรับรู้ข่าวสารต่างๆ แต่ทว่าลานวัฒนธรรมกลับเงียบเหงา มีเพียงภูผาและแสงดาวเท่านั้นที่ยังคงเดิม เสียงหัวเราะของเด็กๆและวัยรุ่นกำลังเลือนหายไป ในเมื่อวัยรุ่นต้องเข้าเมืองเพื่อไปเรียนต่อ บางส่วนไปหางานทำ ทั้งๆที่บางคนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ด้วยซ้ำ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ฉันก็ได้แต่หวังว่า สักวันบ้านห้วยน้ำรินและชุมชนชาวเขาเผ่าอื่นๆจะเข้มแข็งพอที่จะยืนด้วยตนเองได้ ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง สามารถสืบทอดและรักษาความเป็นอาข่าและสิ่งที่บรรพบุรุษปลูกฝังไว้ ดังลูกปัดแห่งวิถีอาข่าที่จะต้องร้อยให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้
…………….

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ไม่มีใครอยากให้มาถึง เด็กๆมาหาฉันตั้งแต่เช้าเพื่อจะช่วยยกกระเป๋าสัมภาระ อามะร้อยสร้อยข้อมือที่ทำด้วยเมล็ดพืชให้ฉัน พวกเราไปที่ลานวัฒนธรรมเพื่อร้องเพลงอำลา ครูอาสาต่างกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เด็กๆเดินมาส่งฉันและเพื่อนครูอาสาที่หน้าประตูหมู่บ้าน และยืนรอจนรถสองแถวคันสีน้ำเงินเคลื่อนที่จากไป เสียงของอามะก้องดังในใจฉัน “อามะไปหาครูไม่ได้ แต่ครูมาหาอามะได้ ครูต้องมาอีกนะ” ฉันคิดในใจว่า “แน่นอนค่ะอามะ ถ้าเส้นทางของเราสองคนได้มาบรรจบกันอีกครั้ง”

รถสองแถวแล่นไปอย่างช้าๆด้วยความขรุขระของพื้นถนนลูกรัง ฉันเหม่อมองทุ่งข้าวข้างทาง พลางนึกถึงวันสุดท้ายที่เราเดินกลับหมู่บ้านด้วยกัน ภาพเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน แม่น้ำกก ดวงอาทิตย์ลอยประเหลี่ยมเขาสาดแสงส่องพื้นน้ำเป็นประกายสีทอง โดยเฉพาะความงามของใยแมงมุมที่ถักทอสานกันระหว่างใบกล้วยเป็นสีม่วงแกมทองเมื่อแสงอาทิตย์อัสดงส่องผ่าน เสียงหัวเราะของเด็กๆประสานกันดังดนตรีแห่งขุนเขาก้องดังอยู่ในโสตประสาทของฉัน นานๆครั้งที่ “เรา” จะได้มาเดินบนทางเดียวกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมอบมิตรภาพให้แก่กัน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่ฉันรู้สึกว่า หัวใจของฉันได้ถูกวางไว้ที่นี่โดยไม่รู้ตัว พวกเขาทำให้ฉันพบคำตอบที่ฉันเฝ้าหามานาน



“ ชีวิต ที่มีความสุขได้โดยไม่ต้องมีเงินมากมาย
ชีวิต ที่มีความสุขได้ด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ
ชีวิต ที่มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่คนเมืองไม่เคยมี
สิ่งนั้นก็คือ น้ำใจ

บทวิจารณ์ บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ : ภาพสะท้อนความคิดมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อ พ.ศ. 2521เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวนสิบสามเรื่องในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2524 โดยอัศศิริ ธรรมโชติ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีร้อยแก้วเพราะใช้ภาษาคมคายนุ่มลึก และมีศิลปะ เรื่องสั้นเรื่อง “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” ก็มีคุณสมบัตินี้เช่นเดียวกัน

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนวิธีคิดของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจ นำเสนอความพยายามของมนุษย์ในการดิ้นรนเพื่อให้ตนเอง “มี” อย่างที่คนอื่น “มี” การดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมที่เห็นความสำคัญของเงินเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเอารัดเอาเปรียบกัน มนุษย์ยอมให้สังคมแห่งทุนนิยมเข้ามามีบทบาทเหนือชีวิตของตนเพียงเพราะ“ความไม่มีเงิน ” และพยายามผลักดันตนเองสู่ชายขอบของสังคมเพียงเพราะตนเอง “มีไม่เท่าคนอื่น” เงินจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและพร้อมที่จะทำทุกวิธีการให้ได้มาโดยที่ศีลธรรมในจิตใจก็มิอาจต้านทานได้

เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงชายขายแตงโมคนหนึ่งได้พายเรือกลับบ้านพร้อมกับใจที่ห่อเหี่ยวในเวลาพลบค่ำ ก่อนหน้านี้เขาขนแตงโมล่องเรือไปขายเหมาที่ตลาดแต่ได้เงินมาเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่พอต่อการซื้อเสื้อลูกไม้ให้เมียและซื้อตุ๊กตาให้ลูกของเขา ระหว่างการพายเรือเขาเก็บตุ๊กตายางที่ลอยมากับกอสวะได้ เขาพอใจมากและคิดจะเก็บไว้ให้ลูกเล่น จากนั้นได้พายเรือพบศพเด็กหญิงร่างหนึ่ง ตอนแรกเขาต้องการใครสักคนมาช่วยแต่เมื่อเหลือบเห็นสร้อยทองคำที่ข้อมือเด็กน้อย เขาตื่นเต้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจรูดสร้อยเส้นนั้นออก เมื่อเขาก้มลงพบตุ๊กตาที่เก็บได้เมื่อครู่ ด้วยความกลัวจึงโยนทิ้งไปและกลับบ้านด้วยความดีใจ

จากเนื้อเรื่องที่กล่าวมาจะพบว่าความขัดแย้งของเรื่องเริ่มต้นที่ตัวละครเอกคือชายขายแตงโมถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน เขาต้องทำงานอย่างยากลำบากในการปลูกและขายแตงโม ทว่าเงินที่ได้ตอบแทนนั้นไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยที่เขาได้ลงทุนลงแรงไป เขาจึงพยายามหาเงินให้ได้มากกว่านี้ สิ่งที่เขาต้องการคือเสื้อลูกไม้ สร้อยข้อมือทองคำ ตุ๊กตา และวิทยุ ซึ่งมิใช่ของที่จำเป็นแต่อย่างใด เขาต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกตนก็ “มี” ไม่ต่างกับที่คนอื่น “มี” ดังนั้นเมื่อได้พบสร้อยข้อมือทองคำจากศพ เขาจึงไม่ลังเลที่จะรูดสร้อยข้อมือนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเขาเพราะลงทุนลงแรงแค่พายเรือเท่านั้นซึ่งเทียบไม่ติดกับความสุขของการได้รับความเติมเต็มทางด้าน “วัตถุ” ที่ครอบครัวได้รับ ทั้งที่ใจจริงแล้วเขาก็รู้สึกผิดพอสมควร ความคิดของเขาเป็นวิธีคิดในระบบทุนนิยมซึ่งมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก การกระทำครั้งนี้เหมือนกับการลงทุน ทั้งการลงทุนอยู่กับความกลัว อยู่กับกลิ่นเหม็นของศพ เขาจึงไม่อาจปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือไปได้ง่ายๆ เขายังอ้างถึงโชคชะตาที่ทำให้เขามาพบตุ๊กตา พบศพเด็ก พบสร้อย และทำให้เขาต้องทำเช่นนี้ โชคชะตาหรือกรรมเป็นข้ออ้างที่ยุติความคิดเขา ทำให้เขารู้สึกผิดน้อยลงและเป็นการปลอบใจตนเองอีกทางหนึ่ง

แนวเรื่องของเรื่องสั้นบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำนี้ 80% เน้นฉากและบรรยากาศ ผู้แต่งพรรณนาฉากอย่างโดดเด่นมีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และได้สัมผัส เสมือนว่าผู้อ่านได้ร่วมในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ผู้แต่งเลือกใช้ภาษาสื่อภาพ ความคิดและอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกคำที่ได้ใจความ สื่อความหมายเหมาะเจาะ ในการพรรณนาฉากริมสองฝั่งลำน้ำ ผู้เขียนได้ใช้ความรู้ทางทัศนศิลป์เข้าช่วย โดยเฉพาะการใช้แสง สี และเงา ภาพที่บรรยายจึงมีความงามทางทัศนศิลป์แฝงอยู่ “ นกเป็นฝูงบินกลับรังผ่านขอบฟ้าสีส้มเหนือทุ่งนาไกลลิบ ตะวันคล้อยลงเหลี่ยมเขา แมกไม้สองข้างริมฝั่งเกิดเงาง้ำถูกสีดำเข้ายึดครองเป็นหย่อมๆ ตรงเวิ้งน้ำข้างหน้าควันไฟลอดทิวไม้ดิ่งหายไปกับฟ้าสีซีด” นอกจากนี้ตั้งแต่เปิดเรื่องมาจะเห็นว่าผู้แต่งเน้นแสงจันทร์รำไรอยู่เสมอ ความมืดสลัวทำให้อารมณ์ของผู้อ่านต้องตื่นเต้นและลุ้นอยู่เสมอว่าจะเกิดอะไรขึ้น เสียงจักจั่นเรไรที่ร้องระงมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างน่ากลัว และทำให้การพบศพเด็กหญิงของชายขายแตงโมนั้นสมจริงยิ่งขึ้น อีกทั้งกลิ่นศพของเด็กหญิงขณะที่เขาได้กรีดข้อมือเพื่อที่จะรูดสร้อยออกมานั้นช่างทำให้ผู้อ่านพะอืดพะอมเสียเหลือเกินเมื่อนึกภาพตาม จะเห็นว่าฉากและบรรยากาศในเวลานี้เอื้อต่อการกระทำของเขาเป็นอย่างมาก

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อประชาชน ระบบทุนนิยมทำให้ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะต่างคนก็ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” บางทีคนเราก็ไม่มีทางเลือกที่มากนัก ทุกคนจำต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเอง พยายามหาพื้นที่ทางสังคมให้ตนเองยืนอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสของกระแสทุนนิยมที่ไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

คำรัก

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจที่ฉันมีคนที่ฉันรัก”
ข้างหลังภาพ ศรีบูรพา

“ฉันหลงคิดว่าความรักเป็นความสุขนิรันดร์เสียอีก เราเศร้าโศกเสียใจเพราะความรักดำเนินต่อไป .. หาใช่เพราะความรักจากไปไม่”
Il Mare

“นอกจากรักคุณแล้วผมไม่เก่งเรื่องอะไรเลย”
the classic

“หม่อมฉันไม่มีทั้งอำนาจราชศักดิ์ ปราศจากเสน่ห์ที่จะตรึงตราใจผู้ใด จะมีก็แต่ หัวใจรักที่ไม่เคยอ่อนลง ด้วยความงามหรือความยิ่งใหญ่ของใครอื่น หัวใจที่ยังคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยกาลเวลาและความเหินห่าง หัวใจดวงนั้นมีทั้งความจงรัก ที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน และภักดี ที่พูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีผู้ใดเทียบเท่า หัวใจดวงนั้นได้วางไว้แทบเบื้องบาท จากครั้งเยาว์วัยตราบจนกระทั่งบัดนี้”
ในฝัน โรสลาเรน

“Life is full of surprise; even two parallel lines may one day meet”
หัวใจรักที่หวนหา อาจอยู่ใกล้ตา.........เพียงแค่มือเอื้อม
Turn Left Turn Right

“ความรักเป็นยอดปรารถนาของหัวใจ เป็นสิ่งที่มีประจำตัวมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรัก การแสดงความรักโดยชอบด้วยทำนองคลองธรรม เป็นรสหวานชื่นไม่มีอะไรเท่า...”
สงครามชีวิต ศรีบูรพา

“ผู้ชายเขามีความจองหองอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องการจะเป็นคนแรก ในการเป็นเจ้าของหัวใจผู้หญิงที่เขารัก ความจองหองอันนี้ ทำให้เกิดความใจแคบ”
สด กูรมะโรหิต

“ความรักของผมเกิดที่นั่น”
“ความรักของเราต่างหาก นพพร”
“ความรักของเธอ เกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น
แต่ของอีกคนหนึ่ง ยังรุ่งโรจน์อยู่ ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”
ข้างหลังภาพ ศรีบูรพา

“เวลาหลับเท่านั้น จะเป็นสวรรค์ของฉัน เพราะมันทำให้ฝันว่า ได้อยู่ใกล้ชิดผู้ชายที่ฉันรักที่สุดเกินกว่าความเป็นจริง...”
รักเขา ยาขอบ

“ผมไม่บูชาความรักด้วยเวลา ผมบูชาความรักด้วยใจรัก เดี๋ยวนี้เราพูดกันถึงเรื่องที่หยาบคายที่สุดของกามรมณ์เถิด มนุษย์ต่างกว่าสัตว์เดียรัจฉานที่ตรงไหนในความปรารถนาของกามรมณ์”
รักและร้าง ยาขอบ

“ทำไมมาสอนบทเรียน ก่อนที่ฉันจะรับรักจนจับหัวใจ รู้ตัวเป็นเจ้าของหัวใจเขาแล้ว จะมาสอนให้เขากลับใจไปจากตัว...”
อารมณ์ ยาขอบ

“ความรักเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ความเมตตากรุณาทำให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น”
เฮอร์เบิร์ต เอ็น คัสสัน

“คนโง่มักจะแต่งงานกับคนที่ตนรัก แต่คนฉลาดมักจะแต่งงานกับคนที่รักตน”
พลาโต

“จงรักเมื่อยังรักได้”
ฟริกกิลราธ

“คนรักควรรักษาความแปลกหน้ากันไว้”
อีเมอร์สัน

“ไม่มีรักใดจะแท้ไปกว่ารักที่ตายไปโดยไม่ได้บอกรัก”
โอ. ดับบลิว โฮมส์

“ความรักคืออาชีพของคนเกียจคร้าน อันตรายของราชันย์ และเครื่องบันเทิงของนักรบ”
นโปเลียน

“ความรักก็เหมือนรถเหมือนเรือนั่นแหละ จะให้ตรงเวลาเสียทุกทีอย่างไรได้”
อาจเป็นเพราะฉันเหงา กฤษณา อโศกสิน

“ความรักเหมือนสายฝน ถึงฤดูกาลของมัน มันก็จะโปรยลงมาเอง ไม่ว่าคุณจะต้องการมันหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่ท้องฟ้ายังแห้งแล้งไม่มีละอองน้ำ ต่อให้คุณต้องการแค่ไหน ฝนก็ยังไม่มาอยู่ดี”
วสันต์ลีลา แก้วเก้า

“จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ”
นิราศอิเหนา สุนทรภู่

“ความรักคือสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เราไม่รู้ว่ามาจากไหน เราไม่รู้ว่าหมดสิ้นไปได้อย่างไร”
มาดมัวแชล เดอ สตึเดรี

“ความรักนั้น คือดอกไม้ที่งดงามซึ่งเราต้องใช้น้ำตาของเราสำหรับรดต้นไม้”
กิลเบอร์ด

“ความรักนั้น เกิดขึ้นในสิ่งสองประการ คือสิ่งที่จะให้ผลเป็นสุขประการหนึ่ง สิ่งที่จะให้ผลเป็นทุกข์อีกประการหนึ่ง แต่สิ่งไรที่เป็นทางกลางคือไม่ให้ผลเป็นสุข หรือทุกข์แล้ว คนเราจะไม่รักกันเลยเป็นอันขาด”
ไลปนิดช์

“การที่เราชอบใครคนหนึ่ง เรายังไม่ควรใช้คำว่า “รัก” ในทันที เพราะยังมีอีกหลายขั้น กว่าจะถึงความรัก...”
เดส์การ์ดีน

“แม้แต่สัตว์เดียรฉานที่ขลาดที่สุด ถ้าเมื่อถึงเวลาที่มันจะต้องทำการป้องกันสิ่งที่มันรักแล้ว มันก็อาจจะกลายเป็นสัตว์ที่กล้าหาญที่สุดไปได้”
มิราโบ

“รักคือเครื่องทรมานที่หวานชื่น”
เอช. บี. บอห์น

“รักคือเกมกีฬาที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายมักคดโกง”
อี. ดับบลิว. ฮาว

“ความรักและแสงสว่างย่อมปิดไม่ได้มิดชิด”
เจมส์ เคลส

“ความรักคือความกลัวที่ตื่นตูม”
โอวิด

“ผู้ที่ชัง ย่อมรักไม่เป็น”
สวินเบิร์น

“ความรักระหว่างหญิงกับชายนั้น คือการเล่นซึ่งต้องใช้ปัญญาระหว่างคนสองคนที่มีเพศต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเพียรจะเอาเปรียบมากที่สุด อีกฝ่ายหนึ่งเพียรจะเสียเปรียบน้อยที่สุดจะเป็นไปได้...”
นิทานเวตาล น.ม.ส.

“ความรักเหมือนโรคา บันดาลให้ตามืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง”
มัทนพาธา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ชายที่มีความคิดชั้นต่ำๆ ถ้าสามารถโน้มน้าวหัวใจสตรีให้มารักตนได้แล้ว ก็มักถือว่าเป็นชัยชนะหรือเป็นลาภผลอันใดหนึ่ง...”
ความรัก หลวงวิจิตรวาทการ

“ความรักเหมือนเด็กซน อาจจะตัดช่องย่องเข้าสู่เรือน แต่ถ้าเปิดประตูและกวักเรียกให้เข้าไปดีๆ ก็มักจะวิ่งหนี”
กุศโลบาย หลวงวิจิตรวาทการ

“คนหนุ่ม ในเวลาที่กำลังรักผู้หญิงคนไหน คนนั้นก็ต้องเป็นยอดโลก ไม่มีใครเสมอเหมือน จนกว่าจะรักอีกคนหนึ่ง”
กุศโลบาย หลวงวิจิตรวาทการ




วิถีสู่ความสำเร็จกับชีวิตหลังแท่นกลึง


ในอาคารปูนสีหม่นหลังนั้น มีเสียงอึกทึกของเครื่องจักรดังกึกก้องเป็นจังหวะสลับกับเสียงแหลมเล็กบาดหูของเครื่องตัดเหล็ก เสียงเครื่องยนต์กลไกหลากชนิดดังมาเป็นระยะๆ ประกอบกับเสียงเหล็กกระทบกันโครมครามเป็นเสียงที่ชินหูของฉันมากว่า20ปี

ภาพที่ชินตาฉันมาตั้งแต่เด็ก ชายร่างท้วมในเครื่องแบบช่างสีกรมท่าคนนั้นยังคงยืนสั่งการลูกน้องอย่างเอาจริงเอาจัง แม้เศษฝุ่นจะคลุ้งไปทั่วบริเวณ หรือแม้แดดจะร้อนสักเพียงใด ลูกค้าก็ยังพบกับรอยยิ้มที่เป็นมิตรและคำพูดที่เป็นกันเองของ “ช่างเนียว” หรือ
“นายนัฐพล รสสุขุมาลชาติ”

ในแวดวงช่างกลึงในอำเภอแม่สอด จังหวัดตากและอำเภอใกล้เคียง ไม่มีใครไม่รู้จัก “ช่างเนียว” หรือที่ใครๆเรียกว่า “เถ้าแก่เนียว”เจ้าของกิจการโรงกลึงเนียวการช่าง ซึ่งชีวิตของเขาในขณะนี้พูดได้ว่าก้าวมาถึงขั้น “ประสบความสำเร็จ” ในบทบาทการทำธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทและโรงงานต่างๆเป็นเวลากว่า20ปี กว่าที่เขาจะมายืนตรงจุดนี้ได้ อุปสรรคชีวิตที่ต้องเผชิญนั้นไม่ใช่น้อยๆทีเดียว

ช่างเนียวเป็นลูกคนที่3ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด7คน เกิดมาในบ้านเล็กๆแทบจะเรียกได้ว่ากระต๊อบซึ่งสร้างขึ้นอย่างง่ายๆด้วยไม้รวกสานมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เติบโตมาในสังคม
ชาวจีนแต้จิ๋วที่ทำการเกษตรเป็นหลัก ชีวิตในวัยเด็ก ลำบากเพราะต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ ไปเรื่อยๆเพื่อหาเช่าที่ดินสำหรับทำการเกษตรตามฤดูกาล เช่นปลูกอ้อย ยาสูบ เป็นต้น แม้จะขัดสนเงินทองแต่ในหัวใจของเขาไม่เคยขัดสนความรักจากครอบครัว เด็กชายเนียวมีโอกาสได้ศึกษาถึงระดับประถมศึกษาปีที่4เท่านั้นทั้งๆที่ใฝ่ฝันจะเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ด้วยความยากจนแม้รองเท้านักเรียนยังไม่มีใส่ ต้องเดินเท้าเปล่าไปยังโรงเรียน หลังจากเรียนจบเขาร่อนเร่หางานทำไปเรื่อย ทั้งรับจ้างตัดอ้อยได้ค่าแรงเพียงวันละ50บาท และไปเป็นศิษย์วัดเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอีก2ปี

ชีวิตของเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่ออายุได้13ปี เด็กชายเนียวต้องเดินทางจากบ้านเกิดมาฝึกงานที่โรงกลึงจังหวัดตาก โรงกลึงนี้เองที่เป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้ เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่มอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าในการทำงาน และสอนให้เขาเติบโตด้วยความเข้มแข็งและอดทน แม้จะต้องห่างไกลญาติพี่น้อง แม้จะถูกสบประมาทจากคนอื่นว่าเป็นลูกคนจน แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ คติประจำใจที่ก้องดังในมโนสำนึกอยู่เรื่อยมาคือ“ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน” เป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำงานด้วยความขยันขันแข็งและเก็บหอบรอมริบเพื่อที่สักวันจะต้องก้าวให้พ้นจากการเป็นลูกน้องและต้องหาหลักที่มั่นคงให้กับชีวิตให้ได้

15ปีผ่านไป เด็กชายเนียวได้กลายเป็นหนุ่มน้อยผู้เชี่ยวชาญงานกลึงและงานซ่อมแซมเครื่องจักรต่างๆ เขาใฝ่ฝันที่จะมีโรงกลึงเล็กๆของตนเอง เขาพบรักกับแม่ค้าผัดไทยสาวอายุ19ปี เจ้าของตำแหน่งขวัญใจช่างภาพ ในการประกวดเทพีกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ประจำปี2525 ต่อมาในวันที่1 เมษายน 2529 ทั้งสองก็ตกลงปลงใจแต่งงานกัน

หลังจากแต่งงาน ช่างเนียวตัดสินใจลาออกจากโรงกลึงที่จังหวัดตากและเดินตามความฝันของเขาด้วยการทำกิจการโรงกลึงเล็กๆของตัวเองที่อำเภอแม่สอดด้วยเงินทุนจากทองหมั้นของภรรยา โดยตั้งชื่อสถานประกอบการว่า “โรงกลึงเนียวการช่าง” เรียกได้ว่าโรงกลึงนี้เติบโตมาพร้อมๆกับชีวิตของฉันทีเดียว ลักษณะโรงกลึงในระยะแรกที่ฉันยังพอจำได้รางๆนั้นสร้างด้วยไม้มุงสังกะสีแบบเพิงหมาแหงน มีเครื่องกลึงเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ช่างเนียวเล่าถึงความรู้สึกในตอนแรกของการลงทุนทำกิจการของตัวเองว่า

“เราไม่มีอะไรต้องกลัวอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยมาก่อน การค่อยๆก้าวจากศูนย์ขึ้นมามันก็เหมือนการสั่งสมประสบการณ์ ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม้จะพบอุปสรรคก็ต้องสู้ ถ้ามัวแต่กลัวความผิดพลาดก็ไม่ได้ก้าวซะที คุณค่าของการเป็นมนุษย์อยู่ที่การต่อสู้ ไม่ใช่ไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่มันคือการต่อสู้ที่นี่(ชี้ที่หน้าอกข้างซ้าย) ต่อสู้กับจิตใจตัวเองนี่แหละ ปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะยากหรือง่ายมันอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ถ้าเรากล้าที่จะเผชิญหน้า ถ้าเรามองว่าต้องผ่านไปได้ มันก็จะผ่านไปได้เอง ที่สำคัญอย่าเพิ่งท้อแท้ ต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ”

“ ถึงแม้จะเพิ่งเปิดกิจการ แต่งานก็มีเข้ามาไม่เคยขาด อาจเพราะเราเลือกสถานที่ประกอบการดี อำเภอแม่สอดเป็นเมืองชายแดนที่มีโรงงานมาลงทุนมาก การค้าระหว่างประเทศเจริญดี เศรษฐกิจก็ดีส่งผลให้เรามีงานเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เมื่อเงินเหลือเก็บเราจึงเริ่มซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และจ้างลูกน้องคนไทย2-3คน ในช่วงแรกนี้ต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนทีเดียว” ช่างเนียวนึกย้อนไปในอดีตด้วยสีหน้าอิ่มเอิบใจ

8ปีผ่านไปโรงกลึงเนียวการช่างได้พัฒนาไปมาก จากเพิงหมาแหงนสู่อาคารปูนที่แข็งแรงทนทาน เครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆมีมากขึ้น และจ้างคนงานเกือบสิบชีวิตเพื่อรองรับงานที่เข้ามาตลอดแม้จะอยู่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ตาม ที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นด้วยนอกจากฉันแล้ว ยังมีน้องชายและน้องสาวตัวน้อยถือกำเนิดขึ้น

ถึงแม้เส้นทางการทำธุรกิจจะไปได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย บางคนเอาของมาซ่อมแล้วไม่จ่ายเงินหรือมาสั่งทำไว้แล้วไม่มารับก็มีเหมือนกัน และปัจจุบันราคาเหล็กและวัสดุอื่นๆสูงขึ้นทำให้อัตราค่าซ่อมแซมต้องเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะคนไทย ก็ไม่สนใจที่จะทำงานที่ต้องใช้แรงงานและเสี่ยงอันตรายเช่นนี้

ปัจจุบันนอกจากช่างเนียวจะเป็นเจ้าของกิจการโรงกลึงแล้วยังมีร้านขายเหล็กและวัสดุก่อสร้างอีกหนึ่งแห่งที่ดูแลโดยคุณแสงเทียน รสสุขุมาลชาติ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่คอยให้กำลังใจและเอาใจใส่กันอยู่เสมอมา ทั้งสองบอกกับฉันว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือว่ามีความสุขดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย แค่ได้อยู่กับคนที่เรารัก อยู่กับครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” ฉันรู้สึกตื้นตันกับประโยคที่มาจากใจนี้ หลังจากการพูดคุยกันในวันนั้นทำให้ฉันได้รู้จักคนใกล้ที่อยู่ห่างกันแสนไกลได้มากขึ้น และรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของเขา
"นายนัฐพล รสสุขุมาลชาติ" วีรบุรุษหลังแท่นกลึง …นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในใจฉัน