วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ตำนานรักท้าวแสนปม: เปลือกนอกหรือจะสำคัญเท่าเนื้อใน


ตำนานรักท้าวแสนปม :
เปลือกนอกกับเนื้อใน สิ่งใดสำคัญกว่ากัน


สังคมไทยปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความคิดของผู้คนในสังคม ทั้งวัฒนธรรมตะวันตก กระแสทุนนิยม และกระแสโลกาภิวัตน์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนมีความอยากมีอยากเป็นอย่างที่คนอื่นเขามีหรือเป็นกัน และต่างก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา จึงไม่แปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างนับถือและนิยมชมชอบผู้อื่นที่รูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าที่จะมองเข้าไปในจิตใจของคนคนนั้น สิ่งที่น่าคิดก็คือจะมีสักกี่คนที่มองคนให้ลึกถึงเนื้อในโดยไม่พิจารณาถึงรูปลักษณ์ภายนอก


นางอุษา ราชธิดาของท้าวไตรตรึงษ์แห่งบทละครเรื่องท้าวแสนปม บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่6) เป็นหนึ่งในบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้น แม้นางจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันแต่การกระทำของนางก็เป็นตัวอย่างให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อแรกที่นางเห็นท้าวชินเสนในร่างของนายแสนปม นางคิดในใจว่า


“รุงรังดังหนึ่งอนาถา แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่
จ้องดูไม่หลบตาไป นี่มิใช่คนทรามต่ำช้า”


จะเห็นว่าแม้รูปกายภายนอกของนายแสนปมจะดูน่าเกลียดเพียงใด แต่นางอุษาก็ฉลาดพอที่จะมองคนออกและรู้สึกนึกรักนายแสนปมขึ้นมาทันที กล่าวได้ว่าความรักที่ทั้งสองมีให้กันนั้นเป็นความรักแรกพบที่บริสุทธิ์ไม่เจือสิ่งปรุงแต่งใดๆ เพราะท้าวชินเสนในร่างของนายแสนปมก็ต้องการที่จะทดสอบใจนางอุษา ส่วนนางอุษาก็ไม่ได้สนใจในเปลือกนอกของนายแสนปม และยินดีที่นายแสนปมมีสารมาถึงตนจนเกิดตำนานรักอันเลื่องชื่อ แม้ว่าเส้นทางรักของนางจะพบอุปสรรคบ้าง แต่สุดท้ายนางก็มีความสุขกับความรักที่นางเป็นผู้เลือกเอง


เมื่อมองยังที่ที่เรายืนอยู่นี้อีกครั้ง ตราบใดกระแสสังคมยังไหลเอื่อยๆไปตามครรลองของมันเอง โดยไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ ตราบนั้น“เปลือกนอก”ก็ยังเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่ใช้ตัดสินความดีความเลวของคนในสังคม คงเป็นเรื่องยากที่คนเราจะมองให้ลึกถึงเนื้อในได้โดยไม่สนใจรูปลักษณ์ภายนอกเช่นนางอุษา แต่กระนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักในสังคมปัจจุบันก็คือ ความดีงามของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก จิตใจต่างหากที่เป็นตัวตัดสิน ดังคำกล่าวที่ว่า “เปลือกนอกหรือจะสำคัญเท่าเนื้อใน”



100 ปีพระราชวังสนามจันทร์ ภาพฝันแห่งวันวาร


ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม २५५०ที่ผ่านมา จังหวัดนครปฐมดูจะคึกคักและมีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะมีผู้คนจากทั่วสารทิศมาเที่ยวชมงานพระปฐมเจดีย์ประจำปี๒๕๕๐ และงานประเพณีลอยกระทงแล้ว ยังมีงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ของสถานที่อันเป็นศรีสง่าและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวจังหวัดนครปฐม นั่นคือ งานฉลองครบรอบ๑๐๐ปี พระราชวังสนามจันทร์ นอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ ธันวาคมนี้แล้ว ยังเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๖) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นอีกด้วย


พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ ๒กิโลเมตร และอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร มีพื้นที่๘๘๘ไร่ ๓งาน ๒๔ ตารางวา บริเวณที่สร้างพระราชวังสนามจันทร์นี้เป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์ในสมัยโบราณ เรียกว่าเนินปราสาท การก่อสร้างนี้มี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี ซึ่งต่อมาเลื่อนยศเป็นพระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์) เป็นแม่งาน ใช้เวลาสร้างถึง 4 ปีด้วยกัน เมื่อเสร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามให้ว่า "พระราชวังสนามจันทร์" โดยนำชื่อมาจากสระน้ำใหญ่หน้าโบสถ์พราหมณ์ที่อยู่ใกล้ๆกับบริเวณเนินปราสาทนั่นเอง

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันก้าวย่างสู่สถานที่แห่งนี้ แต่ภาพที่อยู่ตรงหน้าสร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างประหลาด พระที่นั่งทั้ง ๔ ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก อันประกอบด้วย พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งวัชรีรมยาและพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ดูเปล่งประกายงดงามภายใต้รัศมีดวงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้า เสียงเพลงไทยเดิมคลอเบาๆ ยิ่งเพิ่มมนต์ขลังและทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนไปในอดีต ประกอบกับหลอดไฟสีส้มร้อยเป็นพวงระย้าประดับตามต้นไม้ดูระยิบระยับตา และทำให้พระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ยิ่งได้ชมการสวนสนามของลูกเสือที่เดินแถวบรรเลงเพลงมาร์ชอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้เกิดความซาบซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก ฉันจึงเลือกที่จะเดินชมรอบๆบริเวณงานเพื่อซึมซับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งอดีต พลางจินตนาการไปว่า ณ ที่ที่เรายืนอยู่นี้ เมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้วจะมีความยิ่งใหญ่สวยงามเพียงไร ขณะที่เราเหยียบย่างลงบนผืนดินแห่งนี้ คงต้องมีสักก้าวที่ได้ประทับลงบนรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าราชบริพารคนสำคัญ เพียงแค่คิดก็ทำให้ฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งแล้ว


สิ่งที่ฉันประทับใจในงานเฉลิมฉลองหนึ่งร้อยปีพระราชวังสนามจันทร์นี้ก็คือ ความสวยงามของพระที่นั่ง และพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นและทรงพระราชทานนามไว้อย่างไพเราะคล้องจองกัน ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บุคคลคลภายนอกเข้าชมได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคียมุขมาตย์ เทวาลัยคเณศร์ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนังมารีราชรัตบัลลังก์ และพระตำหนักทับขวัญ


สถาปัตยกรรมหลากรูปแบบของพระที่นั่งและพระตำหนักแต่ละองค์ รวมทั้งเรือนข้าราชบริพารที่รายล้อมนั้น มีลักษณะเฉพาะตัวที่สวยงามโดดเด่นในตัวเอง บางพระที่นั่งเป็นศิลปะไทยแท้ ดูอ่อนช้อย วิจิตรงดงาม บางพระที่นั่งเป็นศิลปะตะวันตก ให้อารมณ์ชวนฝัน อ่อนโยน ละมุนละไม แฝงด้วยความยิ่งใหญ่ ทรงอำนาจ แต่เมื่อมองในภาพรวมของทั้งพระราชวังสนามจันทร์นี้แล้ว ความแตกต่างของสถาปัตยกรรมเหล่านี้กลับผสมผสานกันอย่างลงตัว เป็นความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีพระราชวังไหนเทียบได้


การเที่ยวชมพระราชวังสนามจันทร์ในครั้งนี้นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจจากการชมความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมต่างๆแล้ว ในงานนี้ยังจัดให้มีมหรสพต่างๆที่นับวันจะเริ่มหาดูได้ยาก เช่น โขน รำ ฟ้อน และละครดึกดำบรรพ์ นาฏศิลป์เหล่านี้สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาจัดแสดง เผยแพร่ ให้คนภายนอกได้ดูได้ชม และมีการสืบทอดแก่คนรุ่นหลังโดยปลูกฝังให้รักและ หวงแหนศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของชาตินี้ สำหรับฉันเองนั้นได้มีโอกาสชมโขนเบิกโรง เรื่องพระคเณศร์เสียงา ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้รู้จักบทละครเรื่องนี้จากวิชาวรรณคดีสมัยรัชกาลที่๖ เมื่อได้มาชมโขนในงานนี้แล้ว ทำให้ฉันซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งเพราะหาโอกาสที่จะชมการแสดงที่ดีเช่นนี้ได้ยากเหลือเกิน ตัวละครแต่ละตัวแสดงได้อ่อนช้อย แต่แฝงไปด้วยความทรงพลังที่สะกดสายตาคนดู โดยเฉพาะตอนรำฉุยฉาย นอกจากกระบวนกลอนจะมีความไพเราะแล้ว ท่ารำยังงดงามอ่อนช้อยเครื่องแต่งกายของตัวละครยามเมื่อต้องแสงไฟทำให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้เสียงพากษ์ที่ดังกังวานไพเราะเสนาะหู ยิ่งทำให้โขนเบิกโรงเรื่องนี้น่าดูน่าชมยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ในงานยังมีการออกร้านของโครงการต่างๆ ซึ่งแต่ละร้านก็ได้เผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และพระกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้เราเห็นว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมศานุวงศ์ต้องทรงงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆและช่วยเหลือประชาชนทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ไม่ว่าปัญหาจะหนักหนาสักเพียงไร ทุกพระองค์ก็ทรงเป็นขวัญและกำลังใจเสมอมา ด้วยพระจริยวัตรอันงดงามและพระราชดำริที่เป็นประโยชน์จึงไม่แปลกที่คนไทยได้ถวายความจงรักภักดีและเทิดทูนไว้สูงสุด


เป็นเวลากว่า๑๐๐ ปีแล้วที่พระราชวังสนามจันทร์ได้สถิต์อยู่ ณ จังหวัดนครปฐม จังหวัดที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวาราวดีที่ยิ่งใหญ่ และมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน แม้กาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆไปมาก จนภาพของความยิ่งใหญ่สวยงามของพระราชวัง สนามจันทร์ในขณะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้เลือนลางจนกลายเป็นเพียงภาพฝัน แต่กระนั้นก็ยังไม่จางหายไป ในงานนี้นอกจาก เราจะได้เห็นความสวยงามที่แฝงไปด้วยความยิ่งใหญ่ ทรงอำนาจของพระราชวังสนามจันทร์แล้ว เรายังได้รับความรู้ ความบันเทิงจากมหรสพมากมายด้วย เหนือสิ่งอื่นใดในงานนี้ภาพฝันแห่งวันวารได้แจ่มชัดขึ้นอีกครั้งในรอยตาและรอยใจของผู้เข้าชมงานทุกคน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัติย์ผู้เป็นจอมปราชญ์ “ พระมหาธีรราชเจ้า” ของปวงชนชาวไทย

รังแห่งความปรารถนาของมนุษย์ ใน "รังเลือด"


เหตุผลที่เลือก “รังเลือด”
ในโครงการประกวดงานเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดซึ่งเป็นเวทีแสดงความสามารถของนักเขียน และสร้างเขียนใหม่ๆที่มีคุณภาพในสังคมไทย จัดขึ้นโดยร้านนายอินทร์ซึ่งเป็นร้านหนังสือในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) แบ่งงานเขียนเป็น ๖ ประเภท ได้แก่ สารคดี วรรณกรรมเยาวชน หนังสือภาพสำหรับเด็ก นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ สำหรับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทนวนิยาย ครั้งที่ 2 ประจำปี ๒๕49 มีผลงานส่งประกวดทั้งสิ้น 54 เรื่อง คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ให้ "รังเลือด" ของ สาคร พูลสุข เป็นนวนิยายรางวัลยอดเยี่ยม นายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
ผู้วิจารณ์จึงสนใจที่จะวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล ถือเป็นหนึ่งในเครื่องรับประกันคุณภาพของงานเขียน เมื่ออ่านความเห็นของคณะกรรมการตัดสินแล้วรู้สึกว่านวนิยายเล่มนี้น่าสนใจ และงานเล่มนี้ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยเดียวกับผู้วิจารณ์จึงไม่น่าจะเข้าถึงสารของนวนิยายได้ยากเกินไปนัก

เนื้อเรื่องย่อ
นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงบุญเติมชายหนุ่มผู้เบื่อหน่ายชีวิตในกรุงเทพฯ เขาจึงทิ้งทุกอย่างรวมทั้งรอยพิมพ์ หญิงสาวที่รักเขาหมดหัวใจ เพื่อเดินทางสู่เกาะสี่เกาะห้า จังหวัดพัทลุงโดยทำงานในฐานะผู้ตรวจเก็บรังนก ในที่นี้เขาได้พบกับทีมเก็บรังนกอันมีลุงลอย ชอหอในทีมรังนก เขียว และคิ้มผู้เป็นลูกเชือก ชีวิตในการทำงานของเขาทำให้เขาได้เห็นภาพการเก็บรังนกซึ่งเปรียบเหมือนเกมชีวิตบนลำไม้ไผ่ เขาเห็นว่างานนี้เป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก แต่ค่าของชีวิตของพวกเขายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่บริษัทได้จากรังนกเหล่านั้น เขาจึงไว้ใจลูกทีมโดยไม่นับจำนวนรังนกที่เก็บได้

ข่าวลือเรื่องนางพรายทำให้ทุกคนบนเกาะกลัวจนไม่กล้าออกมาในยามค่ำคืน โดยหารู้ไม่ว่านางพรายที่ออกมาเล่นน้ำในเวลากลางคืนนั้นคือคันธมาลี เสมียนของบริษัท ความลับของนางพรายนี้มีบุญเติมเท่านั้นที่ล่วงรู้ ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งสองจึงได้ก่อตัวขึ้น

คิ้มหลงรักหนูวิน นางรำโนรา เขาจึงมีเรื่องหมางใจกับบุญยิ่ง ผู้ที่ได้ครอบครองปืนเพียงคนเดียวในเกาะที่มาติดพันหนูวิน เดือนร้อนถึงบุญเติมต้องเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหา บุญยิ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือคนอื่น แม้แต่เรื่องของความรัก เขาไม่ได้หมายปองหนูวินเพียงคนเดียว แต่รวมไปถึงคันธมาลีด้วย

วันหนึ่งรังนกได้หายไปจำนวนหนึ่ง เขาจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบรังนกส่วนที่หายไป แต่สุดท้ายเขาก็ได้รู้ว่าผู้กระทำผิดคือคิ้ม ลูกทีมที่เขาสนิทสนมซึ่งยอมหลังหลังเขาเพื่อนำเงินไปสู่ขอหนูวิน คิ้มสารภาพความผิดและโยงใยไปถึงบุญยิ่งผู้อยู่เบื้องหลัง ในคืนนั้นเองบุญยิ่งก็ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือของคันธมาลี ปัญหาบนเกาะรังนกได้คลี่คลายลง บุญเติมรู้ตัวว่าตนไม่เหมาะกับที่นี่ จึงตัดสินใจจากคันธมาลีเพื่อกลับไปใช้ชีวิตในเมืองหลวงตามเดิม และกลับไปหารอยพิมพ์หญิงสาวที่รอคอยเขาด้วยความรัก

โครงเรื่อง
จากเนื้อเรื่องย่อที่กล่าวมาจะเห็นว่ามีความน่าสนใจ ชวนติดตาม เป็นเรื่องจริง (realistic) ทั้งตัวละคร และเหตุการณ์ เหมาะกับสภาพความเป็นจริงทั้งในสังคมเมืองและสังคมบนเกาะรังนก สะท้อนภาพการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ต่างก็พยายามแสวงหาและแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองปรารถนาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆที่ผู้เขียนนำมาประกอบกันเป็นเนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเอกภาพ มีโครงสร้างของบทบาทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสมบูรณ์และจัดลำดับไว้เป็นอย่างดี

รังเลือดเปิดเรื่องบนเรือที่กำลังมุ่งหน้าสู่เกาะสี่เกาะห้า มีการแนะนำลูกทีมแต่ละคนผ่านบุญเติมซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง มีการเล่าเรื่องย้อนต้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภูมิหลังของบุญเติมทั้งความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับรอยพิมพ์ และบอกเหตุผลของการเดินทางสู่เกาะรังนก การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างช้าๆ เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับตัวละคร คือบุญเติมกับบุญยิ่งแต่ไม่เด่นชัดนัก เมื่อบุญเติมขอให้บุญยิ่งปล่อยชีวิตคิ้มไป บุญยิ่งจึงเริ่มหมางใจกับบุญเติม ต่อมาเรื่องดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุดเมื่อพบว่ารังนกได้หายไปส่วนหนึ่ง บุญเติมจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องถึงจุดคลี่คลายตรงที่คิ้มเปิดเผยว่าตนเป็นผู้ขโมยรังนก และโยงใยหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังคือบุญยิ่งนั่นเอง ปัญหาทุกอย่างจึงจบลง และปิดเรื่องที่บุญเติมตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเทพฯและกลับมาหารอยพิมพ์ หญิงสาวที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย

โครงเรื่องย่อยคือเรื่องของความรักและกามารมณ์สามารถสนับสนุนโครงเรื่องใหญ่ให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้ผู้อ่านเห็นสารของเรื่องนั่นคือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ได้เด่นชัดยิ่งขึ้น ตัวละครแต่ละตัวต่างเห็นแก่ตัวเพื่อความรักและเห็นแก่ตัวเพื่อผลประโยชน์ และทำทุกวิถีทางให้ได้มาโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง

ผู้วิจารณ์พบข้อบกพร่องในการดำเนินเรื่องอยู่ประการหนึ่งคือ การสร้างปมปัญหาในเรื่อง ดูเหมือนจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนและท้าทายความสามารถของบุญเติม แต่ผู้แต่งสร้างให้บุญเติมเป็นคนที่มีแต่ผู้อุปถัมภ์และคอยช่วยเหลือตลอด เมื่อเขาถูกกล่าวหาว่าขโมยรังนกและต้องรับผิดชอบจำนวนรังนกที่หายไป เขากลับมีความกลัว และหวาดหวั่นในใจอยู่ลึกๆ นอกจากนี้ผู้วิจารณ์รู้สึกว่าปมปัญหานั้นกระตุกได้ง่ายยิ่งเมื่อคิ้มเกิดสำนึกผิด เขาบอกความลับทุกอย่างก่อนจะกระโดดจาก ตัวหันลงมาตาย และบุญยิ่งซึ่งเป็นคู่อริของบุญเติมก็ถูกคันธมาลีหญิงสาวที่เขาต้องการมีความสัมพันธ์ด้วยฆ่าตาย จะเห็นว่าบุญเติมไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหานั้นเลย เพราะบุคคลใกล้ตัวเป็นผู้แก้ปมปัญหาให้เขาเสร็จสรรพ การดำเนินเรื่องลักษณะนี้ทำให้บทบาทการเป็นตัวละครเอกถูกลดทอนคุณค่าลงเพราะเขาไม่ได้แสดงไหวพริบใดๆในการแก้ปัญหาเลย

ตัวละคร
ตัวละครเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องในนวนิยายประเภทชีวิตจริง ดังเรื่อง“รังเลือด”นี้ ผู้แต่งได้พยายามสร้างตัวละครไม่ให้ผิดไปจากมนุษย์จริง ไม่ว่าการกระทำ คำพูด หรือความคิด ไม่มีใครที่ดีพร้อมไปทุกอย่าง ทั้งบุญเติมผู้เป็นตัวละครเอก รอยพิมพ์ นักร้องพันหน้า คันธมาลี ลุงลอย เขียว คิ้ม บุญยิ่ง หนูวิน หนูวาด เป็นตัวประกอบ แต่ละคนก็มีบทบาทที่โดดเด่น มีชีวิตชีวา มีความเป็นตัวของตัวเอง การสร้างภาพตัวละครแต่ละตัวมีมิติและรายละเอียดที่ต่างกัน อาจเพราะการเล่าผ่านสายตาของบุญเติม ทำให้รูปลักษณ์ของตัวละครเหล่านั้นแตกต่างไปตามความสนิทสนมและทัศนคติของบุญเติมไปด้วยซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ในที่นี้ผู้วิจารณ์จะเลือกวิเคราะห์ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินเรื่องได้แก่ บุญเติม บุญยิ่ง คันธมาลี และรอยพิมพ์

บุญเติม ตัวละครเอกของเรื่อง
เนื่องจากในนวนิยายเรื่องนี้ตัวละครเอก คือ บุญเติมเป็นผู้เล่าเรื่อง ดังนั้นทุกการกระทำ ทุกการสนทนา วิธีการใช้คำพูด วิธีการโต้ตอบ และการบรรยายสิ่งรอบตัวให้ผู้อ่านเห็นก็พอจะสรุปได้ว่าเขาเป็นคนที่คิดมาก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงได้ตัดสินใจออกจากกรุงเทพด้วยเหตุผลที่ว่า “สิ่งทีอยู่ในความคิดของผมคือการไปให้พ้นจากเมืองที่กลืนกินชีวิตทั้งชีวิตของผมไว้”การถูกกดดันและถูกคนในสังคมเล่นตลกกับชีวิต เขาจึงพยายามก้าวออกจากกรอบของสังคมที่ทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ทุกคำพูดของเขาจะแทรกการเปรียบเปรย ใช้คำพูดที่สละสลวยแฝงไปด้วยความคมคาย และเห็นทัศนคติต่อโลกที่ในมุมแตกต่าง จนบางทีผู้วิจารณ์เองยังคิดว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ดู “แปลก” เช่น การเปลือยกายลงสระน้ำในสวนสาธารณะกับเพื่อนชายหญิง ด้วยความรู้สึกว่า ตัวเองได้เปลือยทุกสิ่งทุกอย่างออกมาหมด หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันภายในผืนน้ำอันกว้างใหญ่และสงบนิ่ง นอกจากนี้เขายังทำให้เราเห็นทัศนคติอีกด้านของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง เช่น ทัศนคติเกี่ยวกับพรหมจรรย์ของผู้หญิงที่ว่า

“ถ้าพรหมจรรย์ที่คุณพูดถึงมันไม่ได้หมายถึงเยื่อพรหมจารี ผมเชื่อว่าคุณมี ผู้หญิงทุกคนเป็นสาวพรหมจรรย์ได้ ถ้าหากรักษาความเป็นผู้หญิงเอาไว้ได้”

บุญเติมมีลักษณะคล้ายพระเอกในวรรณคดีคือมีความเจ้าชู้ เชี่ยวชาญในบทรักและสามารถทำให้หญิงสาวที่มีความสัมพันธ์ด้วยพอใจ ผู้แต่งบรรยายภาพการร่วมรักของเขาอย่างโจ่งแจ้ง สื่อถึงแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้อุปนิสัยของเขายังทำให้เขาเป็นที่รักของทีมเก็บรังนก การที่เขาไว้ใจทีมเก็บรังนกโดยไม่ตรวจจำนวนรังนกที่เก็บได้ เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจนี่เองที่ทำให้เขาต้องเกิดปัญหาตามมา แต่ก็มีคนยื่นมือมาช่วยแก้ปัญหานั้นจนได้โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลย

บุญเติมเป็นตัวละครกลม เขามีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองเหมือนมนุษย์ทั่วไป เช่นการที่เขาทิ้งรอยพิมพ์มาทำงานที่เกาะรังนกและได้มีความสัมพันธ์กับคันธมาลีอย่างลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่ยังผูกพันกับรอยพิมพ์อยู่ ทั้งนี้บุคลิกและลักษณะนิสัยของเขามีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเมื่อเขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในดินแดนที่มีการแก่งแย่งชิงดีไม่ต่างจากในเมืองใหญ่

บุญยิ่ง
บุญยิ่งเป็นตัวละครปรปักษ์ ผู้แต่งสร้างเขาให้มีความแตกต่างจากบุญเติมอย่างสิ้นเชิงทั้งรูปลักษณ์ ลักษณะนิสัยและเสน่ห์มัดใจผู้หญิง บุญยิ่งเป็นตัวละครแบน โดยผู้อ่านจะมองเขาในมุมที่ไม่ดีผ่านสายตาของบุญเติม มีความมั่นใจในตัวเองสูง หยาบคาย ใจร้อน ชอบระราน ไม่จริงใจ การที่เขามีปืน ทำให้เขาหลงคิดว่าตนเองมีอำนาจ ชอบใช้กำลังและเป็นคนที่ “กร่าง” พอตัว เขามีเรื่องกับคิ้มแต่บุญเติมเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ จากนั้นบุญยิ่งก็ไม่ชอบบุญเติมอยู่ลึกๆ เพราะระแคะระคายเรื่องที่บุญเติมมีความสัมพันธ์กับคันธมาลี เขาพร้อมจะฆ่าใครก็ได้ที่คิดไม่ซื่อกับบริษัท แต่สุดท้ายเขาก็เป็นผู้วางแผนการขโมยรังนกเสียเอง โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขโมยรังนกของคิ้ม เขาหลงรักคันธมาลี จึงทำทุกอย่างให้เธอสนใจ สุดท้ายบุญยิ่งก็ต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของคันธมาลี ผู้หญิงที่เขารักนั่นเอง

รอยพิมพ์
รอยพิมพ์เป็นตัวละครที่รักใครรักจริง แม้จะขาดความรัก ความอบอุ่น แต่เธอก็ได้มองหาสิ่งเติมเต็มในชีวิตเธออยู่เสมอ เธอเคยมีปมหลังในชีวิต เพราะครั้งหนึ่งเธอเคยเชื่อใจหญิงสาวคนหนึ่งที่สอนให้เธอรู้จักกับการหาความสุขด้วยตัวเอง แต่กลับมารู้ภายหลังว่าถูกหลอก ถึงเธอจะไม่ใช่เลสเบียน หรือชอบผู้หญิงด้วยกันเอง แต่เธอก็รู้สึกหมดศรัทธาและไม่เชื่อใจใครมานานแล้ว ด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่สนใจจะดูแลตัวเองและปล่อยให้ห้องรกรุงรัง จนได้มาพบกับบุญเติมที่เข้ามาเติมเต็มความสุขในเพศรสให้แก่เธออีกครั้ง เมื่อบุญเติมทิ้งเธอไปเธอจึงพยายามตัดใจโดยการปรับปรุงตัวใหม่ และมองโลกในมุมใหม่ๆเพื่อให้ลืมเขา

แม้รอยพิมพ์จะเป็นตัวละครที่ไม่เด่นมากนัก แต่ทุกครั้งที่ปรากฏตัว ก็เป็นการสร้างสีสันให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นตัวละครที่มีความหลากหลายในตนเอง มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีอย่างเด่นชัด เช่นในเรื่องของความรัก เธอเป็นคนรักเดียวใจเดียว และมีบุญเติมเพียงคนเดียว ทำให้เกิดความอยากเป็นเจ้าของและเมื่อบุญเติมทิ้งให้เธอต้องอยู่คนเดียวอีกครั้ง ทำให้เธอกลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น และพยายามหาทางแก้แค้นบุญเติม แต่ในที่สุดเธอก็ให้อภัยบุญเติม และกลับมาคืนดีกันในที่สุด ด้วยการเป็นตัวละครที่แสดงอารมณ์อันหลากหลาย ทำให้รอยพิมพ์เป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจอีกตัวหนึ่งเลยทีเดียว

คันธมาลี
คันธมาลีเป็นหญิงสาวที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง เป็นคนตรงไปตรงมา ชอบความท้าทาย และไม่กลัวใคร เธอเป็นตัวละครที่มีความ “แปลก” ในตัวเอง มักคิดหรือทำอะไรไม่เหมือนกับคนอื่น โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เช่น การใช้ชีวิตแบบนางพราย โดยตอนกลางคืนจะชอบเปลือยกายว่ายน้ำอยู่คนเดียว ทำให้ผู้คนต่างติดว่าเธอเป็นผีพราย เธอมีทัศนคติที่แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น ไม่ชอบความสัมพันธ์ที่ผูกมัด และเปรียบเทียบความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชายหญิงที่ไม่ต่างจากความตาย นอกจากบทบาทที่โดดเด่นในเรื่องกามารมณ์แล้ว เธอยังเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีมารยาหญิงสูงทีเดียว เธอได้ใช้ไหวพริบและจริตของความเป็นหญิงในการทดสอบปฏิภาณผู้ชายอย่างแนบเนียนเรียกได้ว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่มีคุณสมบัติสำคัญของความเป็นกุลสตรีเลย

ในอดีตคันธมาลีไม่ชอบต้นมะขามเทศและขี้แพะ เธอมีวิธีลดปมเหล่านี้ในใจ โดยการบอกให้พ่อขายแพะทุกครั้งที่เธอขอเงินไปเรียน เธอทำเช่นนั้นเรื่อยมา จนในที่สุดพ่อก็ขายแพะทีเดียว 10 ตัวพร้อมกับนำเงินมาให้เธอ แล้วพูดว่า “ อย่ากลับมาจนกว่าจะคิดว่าขี้แพะหอม” จึงเป็นสาเหตุให้เธอเลือกออกจากบ้าน เพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระตามเส้นทางของเธอเอง

คันธมาลีเป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมที่เหลือเชื่อ เช่น เมื่ออยู่ในน้ำจะมีแรงมาก จนสามารถฆ่าบุญยิ่งได้ ดูเป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติและผิดจากความเป็นจริงอยู่ทีเดียว เธอเป็นตัวละครกลม มีทั้งด้านดีและด้านร้ายปะปนกันไป ซึ่งในด้านดีเป็นเรื่องของความจริงใจที่เธอมีต่อบุญเติม ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ เธอเป็นตัวละครที่แหวกประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เช่นในเรื่องของการรักนวลสงวนตัว และการที่เธอฆ่าบุญยิ่งเพื่อช่วยบุญเติม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่าไรนัก

กลวิธีการเล่าเรื่องและผู้เล่าเรื่อง
กลวิธีของผู้ประพันธ์วิธีการที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินเรื่องให้น่าสนใจโดยอาศัยพฤติกรรมของตัวละครเอก นั่นคือบุญเติม การเล่าเรื่องแบบนี้เรียกว่าผู้เล่าเรื่อง-ผู้กระทำ เหตุการณ์ทุกอย่างที่ผู้อ่านได้รับรู้จะเล่าผ่านสายตาและความรู้สึกนึกคิดของบุญเติม ซึ่งในเรื่องนี้ใช้สรรพนามบุรุษที่1คือ”ผม” ทั้งเรื่อง โดยพยายามเสียดสี ตีแผ่สังคมที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ ผู้อ่านได้เห็นทัศนะของบุคคลต่างๆ ที่มีต่อชีวิตและสังคมที่พวกเขายืนอยู่ ทำให้เราเห็นรูปร่าง บุคลิก และลักษณะนิสัยของตัวละครผ่านสายตาบุญเติม แม้ว่าการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ทำให้เรื่องดูสมจริง น่าเชื่อถือ แต่การบรรยายอากัปกิริยาท่าทาง ลักษณะภายนอก การแต่งตัวของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครอื่นเฉพาะที่บุญเติมสนทนาด้วยเท่านั้น และตัวละครที่ถูกกล่าวถึงนั้นถูกปรุงแต่งด้วยความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของเขา หากบุญเติมนิยมชมชอบก็จะพูดถึงในทางที่ดี แต่หากเขารู้สึกไม่ดีด้วยก็อาจจะพูดถึงด้วยอคติก็เป็นได้

บทสนทนา
ผู้แต่งพยายามเลือกเฟ้นถ้อยคำสำนวนมาใช้อย่างประณีต ในบทสนทนาทำให้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครได้ดี เห็นบุคลิกของตัวละครอย่างเด่นชัด บทสนทนามีความแตกต่างไปตามฐานะทางสังคมของตัวละคร เหมาะกับสถานการณ์ ใส่อารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจนดี ทำให้เรื่องมีความสมจริง ผู้แต่งมีความสามารถในการนำบทสนทนามาช่วยในการดำเนินเรื่อง และเป็นวิธีการหนึ่งในการนำเสนอตัวละคร บทสนทนาของตัวละครมีความสละสลวย ใช้ความเปรียบมาก เช่นคำว่า “เกสรแห่งความใคร่” “กระจกส่องตัณหา”หรือ“นกพิราบในแขนเสื้อของนักมายากล” นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาถิ่นใต้อย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไปและไม่ยากเกินความเข้าใจของผู้อ่าน มีการบอกความหมายศัพท์เฉพาะถิ่นบางคำไว้ที่เชิงอรรถ
ตัวอย่างบทสนทนาระหว่างบุญเติมกับเขียว

“มีจริงหรือคุณเขียว” ผมรีบถามขึ้น
“มีสิ คนเขาเห็นกันทั้งเกาะ ผมยาวเฟื้อยเลยนายหัวเหอ มันชอบมาว่ายน้ำเล่นตอนหัวค่ำ ยิ่งคืนไหนเดือนแจ้งมันยิ่งชอบ บางคืนมันยังมานั่งฟังลุยลอยเป่าปี่ ผมสงสัยว่ามันต้องเป็นผีที่ลุงลอยเลี้ยงไว้ด้วยเสียงปี่ ลุงลอยนี่ก็แปลก เลี้ยงผีด้วยเสียงปี” เขียวเล่า (หน้า 66)

ฉากและบรรยากาศ
ฉากและบรรยากาศส่วนใหญ่จะเป็นสภาพพื้นที่โดยทั่วไปบนเกาะสี่เกาะห้า จังหวัดพัทลุงในยุคปัจจุบัน ผู้เขียนใช้สถานที่ต่างๆเป็นฉากอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น บนเรือ ถ้ำเก็บรังนก กงสีของบริษัท และท่าอาบน้ำ เป็นต้น นวนิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นอยู่ที่การพรรณนาฉาก เพราะสามารถพรรณนารายละเอียดปลีกย่อยได้หมด ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ บรรยากาศ อากาศขณะนั้น รวมทั้งสภาพสถานที่ มีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นได้รส และมีสัมผัส ใช้ภาษาที่มีพลังของการอธิบาย สามารถสร้างภาพในใจให้กับผู้อ่าน ฉากแต่ละแห่งทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพพจน์ได้ชัดเจน มีความสมจริงผู้อ่านจะรู้สึกว่าตนเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง การสร้างฉากปรุงแต่งบรรยากาศในเรื่องให้มีชีวิตชาขึ้น แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ดี สอดคล้องกับเหตุการณ์ในเรื่องและสอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร เช่น

ปากพะยูน อำเภอเล็กๆริมฝั่งทะเลสาบสงขลา ไม่ว่าจะมองจากมุมใด แค่คุณกวาดสายตาเพียงครั้งเดียวก็สามารถมองเห็นอำเภอนี้ได้ทุกแง่มุม ย่นตลาดเห็นตึกแถวสลับด้วยบ้านไม้แบบเก่าซึ่งมีร้านขายของชำเสียเป็นส่วนใหญ่ ใกล้กับริมทะเลสาบมีสวนหย่อมเล็กๆพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นสวนสาธรระให้คนพักผ่อนหย่อนใจ (หน้า35)

ภาษาสำนวนที่ใช้ในเรื่อง
สำนวนภาษาที่ใช้ในเรื่อง มีความชัดเจน ใช้ความเปรียบได้ดี เต็มไปด้วยคารมคมคายและมีปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้ง เช่น

“ ถ้าหากจะมีใครสักคนพูดว่า ชีวิตก็เหมือนขนนกในสายลม ทั้งเบาหวิวและไร้แรงต้านทานต่อโชคชะตา ผมก็คงเป็นขนนกเส้นที่บางเบาที่สุด เพราะสายลมได้พัดพาเอาชีวิตของผมมาตกอยู่ในดินแดนอันเต็มไปด้วยเลือดเนื้อแห่งความจริง ทุกเนื้อหนังมังสาของผู้คนบนเกาะรังนกนางแอ่นนี้เต็มไปด้วยความปรารถนาซึ่งงอกเงยมาจากความต้องการอันซ่อนเร้นอยู่ภายใน บางคนเปิดเผยมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา บางคนเปิดออกมาอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งคนที่พ่ายแพ้และคนที่สมหวัง” (หน้า16)

“คุณพูดว่าคนบางคนทำตัวเหมือนนกพิราบในแขนเสื้อของนักมายากล คุณหมายถึง…”
“ใครก็ได้ บางทีผมก็ทำตัวอย่างนั้น หรือบางทีคุณเองอาจจะเคยทำแต่ไม่รู้สึกตัว เพราะเคยชินกับวิธีให้อาหารของนักมายากล เคยชินกับการถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวอยู่ในที่อับมืด ได้ยินแต่เสียงปรบมือดังแว่วมาจากที่ไกลๆ เสียงปรบมือที่นักมายากลได้รับแต่เพียงผู้เดียว” (หน้า 26)

… บางครั้งความแตกต่างที่มีอยู่บนโลกใบนี้ถูกคั่นแค่การมองมาจากล่างขึ้นข้างบนหรือมองจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอกไป เมื่อมองจากข้างบนลงมายังข้างล่าง เรามักจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่และมีความสำคัญ ภาพที่มองเห็นอยู่ในความควบคุมของเรา แต่เมื่อเรามองจากด้านล่างขึ้นข้างบน เราก็จะรู้สึกว่าโลกนี้ยิ่งใหญ่นัก ทุกสิ่งทุกอย่างดูใกล้และใหญ่โตราวกับมองผ่านกล้องส่องทางไกลและเราควบคุมมันไม่ได้… (หน้า70)

ท่วงทำนองการแต่ง มีความเด่นทั้งการเลือกใช้คำ การเล่าเรื่องใช้คำง่ายๆ กระจ่างชัดเจนและท่วงทำนองโวหาร เช่น

พรรณนาโวหาร โดยบรรยายฉากทีละส่วนๆ จากส่วนที่จางที่สุดไปสู่ส่วนที่เข้มที่สุดเหมือนการค่อยๆร่างภาพของจิตรกร มีการอธิบายโดยอาศัยแสงและเงา ทำให้ภาพในจินตนาการมีความงามทางทัศนศิลป์ เช่น
… ปลายเดือนมีนาคม ในช่วงบ่ายมีม่านเมฆจางๆตั้งเค้ามาจากเมืองพัทลุงก่อนจะจางหายไปกับความอบอ้าว บางครั้งม่านเมฆกรองแสงอาทิตย์ออกเป็นเฉดสีดูละลานตา แถบสีแดงเข้มไล้ไปตามขอบก้อนเมฆ ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีม่วงและสีน้ำเงินจางๆ ในขณะที่สีเทานั้นพาดผ่านและค่อยๆโอบล้อมสีทั้งหมดไว้และค่อยๆกลืนหายไปทีละน้อย...

บรรยายโวหาร ผู้แต่งมีความสามารถในการใช้คำมาบรรยายเหตุการณ์ได้อย่างดี ผู้อ่านสามารถรับรู้ถึงรูป รส กลิ่น เสียง เห็นภาพวิถีชีวิตและการกระทำอย่างชัดเจน เช่น

...บริเวณศาลของสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เคยสงบเงียบขรึมขลังกลับแทนที่ด้วยความอึกทึกของผู้คน มีพ่อค้าแม่ค้านำสิ่งของมาวางขายตลอดแนวทางเดิน กลิ่นธูปลอยอบอวลไปทั่วทั้งบริเวณ แสงเทียนส่องไสวทำให้ใบหน้าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูอิ่มเอิบราวกับจะรับรู้ถึงการบวงสรวง ทองคำเปลวปลิวตกเกลื่อนหน้าถ้ำ...

อุปมาโวหาร มีการใช้ความเปรียบในการอธิบายขยายความหรือ ในความคิดของตัวละครเกือบทั้งเรื่อง ซึ่งความเปรียบนั้นได้ชำแหละลึกลงไปให้เห็นตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
...สิ่งที่ผมประสบมา เมื่อมาเทียบกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำ มันทำให้คิดว่าตัวผมเป็นเพียงแค่เม็ดทรายในภูเขาแห่งความทุกข์ยาก ที่แม้แต่ลมเพียงน้อยนิดก็พัดให้ผมปลิวไปได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ก้อนกรวดอย่างพวกเขายังคงหนักแน่นอยู่ในภูเขาเช่นเดิม หนักแน่นอยู่ในความทุกข์ยากเช่นเดิม...

การเลือกใช้คำ ใช้คำที่มีความหมายเหมาะสมกับเนื้อเรื่องและสถานภาพของตัวละคร ลักษณะการพูดจาเหมาะสมกับบุคลิกลักษณะตัวละคร มีการแทรกภาษาถิ่นในบทสนทนาอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิด กับสภาพความเป็นจริงตามสถานการณ์ในเรื่องมากขึ้น คำที่ใช้เป็นคำง่ายๆไม่ซับซ้อน สามารถตีความได้ง่าย

แก่นของเรื่อง
แก่นของนวนิยายเรื่องนี้มุ่งแสดงเหตุการณ์บางช่วงตอนของชีวิตบุญเติม แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มีแก่นหรือแนวคิดสำคัญของเรื่องคือ

มนุษย์ทุกคนมีแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ไม่อาจเก็บซ่อนไว้ได้ จึงต่างแสดงความเห็นแก่ตัวและทำทุกวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ

ผู้อ่านสามารถตีความได้จากชื่อเรื่อง “รังเลือด” ไม่ได้หมายความถึงรังรุ่นสุดท้ายของนกนางแอ่นซึ่งมีสีแดง เชื่อกันว่ามีเลือดของนกนางแอ่นปนอยู่ แต่ “รังเลือด” นี้หมายถึงรังนกที่เป็นที่หมายปองของคนที่มีความโลภ และ ความเห็นแก่ตัว จนต้องทิ้งชีวิต ทิ้งคราบเลือดที่คาวข้นไว้บนเกาะแห่งนี้

สารของเรื่อง
สารของเรื่อง หรือสารัตถะ ไม่ได้หมายถึงข้อคิดที่ได้จากตัวละครเอกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสารที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอให้แก่ผู้อ่านได้รับรู้ผ่านตัวละครอื่นๆ เช่น ความรู้สึกของนักร้องพันหน้า ที่ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเพื่อแลกกับอาชีพการงาน ก็เปรียบเสมือนกับคนในสังคมที่ชื่นชอบคนแต่เพียงเปลือกนอก โดยไม่ได้มองให้ลึกถึงเนื้อแท้และความปรารถนาอันแท้จริงของคนๆนั้น การใส่หน้ากากเข้าหากันของคนในสังคม จึงเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของสังคมเมืองทุกวันนี้ไปเสียแล้ว

เรื่องของความจริงใจในการคบหาหรือรู้จักกันก็เป็นอีกข้อคิดหนึ่ง รังเลือดแสดงให้เราได้เห็นว่าคนเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการคบกับใครก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เหมือนกับบุญเติมซึ่งเป็นตัวละครที่มีความจริงใจกับทุกคนที่เขารู้จัก เขาจึงเป็นที่รักของคนเหล่านั้น และคนรอบตัวของเขาก็พร้อมให้การช่วยเหลือบุญเติมอย่างเต็มใจเสมอ แม้ยามที่บุญเติมตกที่นั่งลำบาก ซึ่งแตกต่างกับบุญยิ่งอย่างสิ้นเชิง บุญยิ่งไม่เคยมีความจริงใจให้กับใคร คิดถึงแต่ตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว จนถึงวินาทีสุดท้ายในชีวิต เขาก็ไม่เคยได้สัมผัสกับความรู้สึกเหล่านั้นตอบแทนเลยสักครั้ง

สารที่ได้โดยอ้อมจากเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่มีค่าและสำคัญที่สุดในชีวิต คือประสบการณ์และการเรียนรู้ของมนุษย์ แต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้และคงไม่มีใครเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ดีไปกว่าตัวของเราเอง ดังเช่นบุญเติม ที่พยายามค้นหาคำตอบมาตอบโจทย์ปัญหาชีวิตเกี่ยวกับเรื่องงาน และเรื่องความรัก จนได้มาพบคำตอบที่เกาะรังนกแห่งนี้ ทำให้เราได้เห็นว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือการเรียนรู้ชีวิต(ของผู้อื่น)ด้วยประสบการณ์ชีวิต(ของตัวเอง) นี่เอง

ความสำเร็จของผู้ประพันธ์ในการแสดงจุดมุ่งหมาย
นวนิยายเรื่องรังเลือดนี้ ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงภาพชีวิตและจิตวิญญาณของกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอันเสี่ยงอันตรายและห่างไกลจากการรับรู้ของคนส่วนมากอาชีพหนึ่ง นั่นคือ อาชีพเก็บรังนก โดยตีแผ่และเจาะลึกถึงความคิดของคนทั้งในสังคมเมือง และสังคมบนเกาะ ผ่านถ้อยคำสำนวนภาษาที่คมคายลึกซึ้ง เต็มไปด้วยข้อคิดและปรัชญาชีวิต
หากไม่พิจารณาถึงการผูกเรื่องแล้ว ถือว่านวนิยายเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการแสดงสาระสำคัญของเรื่อง เพราะทำให้ผู้อ่านได้เห็นเนื้อแท้ของมนุษย์ จนทำให้ต้องย้อนมามองดูตัวเองเพื่อกลับไปคิดหาเหตุผลมาอธิบายความเป็นตัวเองอีกครั้ง และได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับศิลปะท้องถิ่น ศัพท์ไทยถิ่นใต้ และอิ่มเอมไปกับจินตนาการที่ผู้แต่งร่างไว้ให้ผู้อ่านคิดตาม

สรุป
ผู้จัดทำเห็นว่านวนิยายเรื่องรังเลือดนี้มีความสมบูรณ์ในด้านองค์ประกอบต่างๆของ นวนิยาย ทั้งโครงเรื่องที่ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ มีเหตุการณ์ที่สอดรับกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตัวละครแต่ละตัวมีความเป็นตัวของตัวเอง เสมือนว่ามีชีวิตจริง ผู้แต่งได้เสนอความคิดเห็นโดยการให้ทรรศนะชีวิตแก่ผู้อ่านผ่านตัวละครเหล่านั้นสามารถชำแหละลึกลงไปในจิตใจของตัวละครโดยเฉพาะบุญเติม ผู้เล่าเรื่อง ทำให้เราได้สัมผัสกับความคิดอีกแง่มุมหนึ่งของมนุษย์ สอดแทรกคำคมชวนคิดและปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งและบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างถึงแก่น แม้แต่เรื่องของกามารมณ์ที่นักเขียนน้อยคนนักจะหยิบยกมานำเสนออย่างโจ่งแจ้ง และเชื่อมโยงให้เข้ากับแก่นของเรื่องได้อย่างกลมกลืน ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การนำเสนอสารของผู้แต่งที่แปลกและแหวกแนว โดยสะท้อนภาพชีวิตของตัวละครผ่านฉากและสังคมบนเกาะรังนก ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมภาคใต้อย่างลงตัว
กล่าวได้ว่า “รังเลือด” ได้สร้างมิติใหม่ในการเปลี่ยนแปลงของวงการนวนิยายไทย
ที่นำเสนอปรัชญาชีวิตอันทรงคุณค่าที่มีกลิ่นอายของสารคดีเจืออยู่อย่างลงตัว และให้สาระแก่ผู้อ่านมากกว่าการเป็นนวนิยายสารคดี (Documentary novel) ด้วยคุณสมบัตินี้เอง จึงไม่แปลกที่นวนิยายเรื่องนี้จะได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙

มิตรภาพไม่จำกัดภพใน "เด็กหอ"

“ทรงยศ สุขมากอนันต์” เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันที่โด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อน จากการประสบความสำเร็จอย่างงดงามของแฟนฉันและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเรื่อยๆทำให้เขาก้าวสู่การเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัวจากภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเรื่อง“เด็กหอ” โดยมีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงขณะอยู่โรงเรียนประจำที่จังหวัดชลบุรี นำไปสู่เรื่องราวที่สนุกสนาน แฝงไปด้วยความตื่นเต้น และซาบซึ้งใจกับความหมายของคำว่า “มิตรภาพ”

“เพื่อนตาย…หาไม่ยากอย่างที่คิด” ประโยคนี้เป็นแกนหลักของ “เด็กหอ” ภาพยนตร์ที่นำเสนอความรัก ความจริงใจระหว่างเพื่อนผ่านตัวละครชื่อ ต้น(ชาลี ไตรรัตน์) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ที่ต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำอย่างกะทันหันเพราะได้ล่วงรู้ความลับของพ่อ(สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล)โดยบังเอิญ ที่โรงเรียนใหม่นี้ ต้นได้อยู่ในความดูแลของครูปราณี (จินตรา สุขพัฒน์) ซึ่งเป็นครูที่เด็กๆต่างลงความเห็นว่ามีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ชอบเปิดแผ่นเสียงที่สะดุดแผ่นเดิมฟังทุกวัน และชอบเปิดดูลิ้นชักแล้วร้องไห้ สำหรับต้นเองก็มีปัญหาในการเข้าสังคม เขามักถูกแกล้งอยู่บ่อยๆและไม่สนิทกับเพื่อนมากนัก มีเพียงวิเชียร(ศิรชัช เจียรถาวร)ที่เข้ามาคุยด้วย ทั้งสองสนิทกันอย่างรวดเร็ว แม้ต่อมาต้นจะรู้ว่าวิเชียรไม่ใช่คนก็ตาม วิเชียรมักจะหายไปตอน1ทุ่มเพื่อไปกระโดดน้ำที่สระเก่าทุกวันโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้นรับรู้ความทุกข์ทรมานของวิเชียรและเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยวิเชียรได้สำเร็จ

การเล่าเรื่องในเด็กหอนี้เป็นการเล่าตามลำดับเวลา โดยเปิดเรื่องที่พ่อ แม่ น้องรวมทั้งต้นกำลังขับรถมุ่งหน้าสู่โรงเรียนสายชลวิทยา และเกิดความฉงนใจในท่าทีของต้นที่มีต่อพ่อ มีแทรกภูมิหลังของเรื่องราวเป็นระยะๆผ่านมุมมองของต้น แต่ผู้ชมไม่สามารถล่วงรู้ความคิดของตัวละครได้เลย เมื่อผู้ชมชมไปได้สักพักจึงทราบเหตุของเรื่อง วิธีการนี้เป็นการเฉลยที่มาของการกระทำของตัวละครที่ค้างคาใจผู้อ่านได้ดีทีเดียว เพราะไม่เยิ่นเย้อน่าเบื่อ แต่กลับกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสนใจและกระหายใคร่รู้ในตัวเรื่องต่อไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสน่ห์ตรงที่การสร้างภาพลักษณ์ของภาพยนตร์ระทึกขวัญเคลือบอยู่บางๆ แต่เนื้อแท้ที่ต้องการนำเสนอเป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งกับชีวิตในอีกสังคมหนึ่ง ความขัดแย้งที่เห็นเด่นชัดนอกจากจะขัดแย้งระหว่างต้นกับพ่อแล้ว ยังมีความขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อนอีก เขาจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆให้ได้ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น

การผสมผสานความน่าสะพรึงกลัวที่ลงตัวด้วยการสร้างฉากและบรรยากาศให้น่าสะพรึงกลัว ใช้แสงมืดๆทึมๆ และดนตรีประกอบที่บ่งบอกถึงความหดหู่ เศร้าสร้อย เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมและเกิดอาการ “อิน”ไปกับภาพยนตร์ ถึงแม้บางบทตอนจะดูเหนือความเป็นจริงก็ตาม เช่น ตอนที่ต้นถอดวิญญาณด้วยการสูดดมอีเทอร์เพื่อช่วยวิญญาณของวิเชียร แต่เพราะเหตุการณ์ตอนนี้เป็นจุดวิกฤตของเรื่องที่มุ่งเสนอความรักความผูกพันระหว่างเพื่อน แม้จะแลกด้วยความตายก็ย่อมได้ ช่วงนี้ผู้ชมจะเกิดอารมณ์ร่วมไปกับต้นและเอาใจช่วยต้นให้ช่วยวิเชียรให้ได้จนอาจลืมหลักความจริงไปเสียสนิท

บุคลิกของนักแสดงแต่ละคนเป็นไปอย่างคงที่ตั้งแต่ต้นจนจบ การสร้างตัวละครทำได้อย่างเหมาะสม และเป็นไปได้ในชีวิตจริง ตัวละครที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้มี3ตัว คือ

ชาตรี หรือต้น เด็กชายรูปร่างผอมสูง บุคลิกเรียบร้อย ซื่อๆแต่จริงใจ แววตาเศร้าหมองเหมือนมีเรื่องให้คิดมากตลอดเวลา ต้นถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำอย่างไม่เต็มใจเพราะเห็นพ่อมีอะไรกับผู้หญิงอื่น แววตาที่ต้นมองพ่อแสดงถึงความผิดหวังและเสียใจ ตลอดทั้งเรื่องต้นแทบจะไม่พูดกับพ่อเลยแม้พ่อจะโทรหาต้นอยู่บ่อยๆก็ตาม ชีวิตในโรงเรียนประจำทำให้ต้นต้องปรับตัวอย่างมาก และเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ วิเชียรได้เข้ามาเติมเต็มความโดดเดี่ยวนั้น เกิดความรักความผูกพันอย่างจริงใจ

วิเชียร ช่ำชอง เด็กชายหน้าทะเล้น ร่าเริงสดใส ด้วยความขี้เล่นนี่เองที่ทำให้เขาจมน้ำตายโดยไม่มีใครช่วย เขาจึงเป็นวิญญาณที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนี้มานาน ก่อนหน้าที่เขาจะตายวิเชียรพยายามหาข่าวของพ่อเขาจากหนังสือพิมพ์ แต่ครูปราณีกลับไม่ให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นและเก็บมันไว้ในลิ้นชัก แต่สุดท้ายวิเชียรก็แอบเอาไปจนได้ เมื่อวิเชียรได้พบกับต้นทั้งสองจึงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

ครูปราณี ครูประจำหอพักผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง บุคลิกภายนอกดุ เจ้าระเบียบ และพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้นักเรียนเกรงกลัว ครูมีความหลังฝังใจกับแผ่นเสียงที่ฟังแล้วสะดุดเก่าๆ และลิ้นชักโต๊ะที่เห็นเมื่อไหร่ก็ต้องร้องไห้เมื่อนั้นเพราะทำให้นึกถึงวิเชียร นักเรียนที่จมน้ำตายเมื่อ10ปีก่อน ครูเก็บหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวพ่อของเขาไว้ เมื่อเขามาแอบอ่านจนครูจับได้จึงตีวิเชียรจนไปถูกแผ่นเสียงทำให้แผ่นเสียงเป็นรอย และก่อนหน้าที่วิเชียรจะตายก็ได้แอบเอาหนังสือพิมพ์ไป ครูปราณีจึงโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้วิเชียรตาย นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเจ้าระเบียบกับนักเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก

ทรงยศได้แสดงฝีมือเต็มขั้นในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท คัดเลือกตัวนักแสดง และการกำกับภาพ ภาพทุกภาพที่ผ่านสายตาผู้ชมทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวล้วนมีองค์ประกอบที่ดูเป็นธรรมชาติ การใช้แสงเงาประกอบทำให้รู้สึกถึงความสมจริงและสะกดสายตาผู้ชมได้อย่างดี “เด็กหอ”จึงเป็นภาพยนตร์ที่มากด้วยคุณภาพเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นด้านกลวิธีการนำเสนอทั้งภาพและข้อคิดดีๆ ทำให้ผู้ชมได้ย้อนดูตัวเองดังคำพูดของต้นที่ว่า “แค่มีเพื่อนดีๆ1คนอยู่ข้างเรา ทุกอย่างไม่ว่าดีหรือร้ายก็จะผ่านไปได้เพียงแค่ไม่กี่อึดใจเท่านั้น”

ห่อหมกเห็ดถอบ สู่ครอบครัวสุขสันต์




ย้อนหลังไปเมื่อ10 กว่าปีที่แล้ว ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอเล็กๆชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ตลาดที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ตลาดบ้านเหนือในช่วงหน้าฝนจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่อาหารป่าชุกชุมที่สุด ทั้งเห็ดโคน ผักกูด แย้ ตัวตุ่น อึ่งอ่างย่างเสียบไม้ไปจนถึงตะกวดตัวเป็นๆ ผู้คนจากอำเภอใกล้เคียงต่างเดินทางมาที่นี่เพื่อนำ “ของป่า” เหล่านี้มาขาย สำหรับครอบครัวของฉันก็ไม่พลาดโอกาสนี้เหมือนกัน พอถึงหน้าฝนทีไรฉันและน้องๆเป็นต้องคิดหาอาหารจานเด็ดให้แม่แสดงเสน่ห์ปลายจวักทุกที นอกจากเห็ดโคนต้มฟักเขียวอาหารโปรดของพ่อ แกงส้มผักกูดที่น้องชายติดใจ ยังมีอาหารจานเด็ดฝีมือแม่ที่ฉันรับประทานได้ไม่มีวันเบื่อก็คือ “ห่อหมก” เมื่อฉันติดตามแม่ไปตลาดช่วงนี้ทีไร สิ่งที่ฉันเห็นแล้วต้องเรียกร้องให้แม่หยุดซื้อเกือบทุกครั้งก็คือเจ้าลูกกลมๆ สีดำๆ น่าลิ้มลองที่เรียกกันว่า “เห็ดถอบ” แม่ของฉันจึงได้ความคิดประยุกต์สูตรห่อหมกใหม่ “ห่อหมกเห็ดถอบ” นั่นเอง

เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะเป็นเห็ดพื้นบ้านที่ขึ้นในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลูกกลมๆสีขาวนวลห่อหุ้มสปอร์สีขาวลักษณะเหมือนครีมเหลวข้น ๆ นำมาปรุงอาหารจะอร่อยมาก ถ้าแก่แล้วเปลือกจะเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ สปอร์ข้างในก็เป็นสีดำด้วย จากการศึกษาอาหารไทยพื้นบ้านภาคเหนือของเสาวภา ศักยพันธุ์ พบว่าเห็ดถอบมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมายทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และไนอะซิน เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถเพาะได้ จะออกในเดือนพฤษภาคมปีละครั้งเท่านั้น ช่วงที่เห็ดนี้ออกใหม่ราคาจึงสูงมาก แต่ถึงกระนั้นแม่ของฉันก็ยินดีควักกระเป๋าสตางค์ซื้อเจ้าเห็ดตัวป้อมน่ารักที่อยู่ในกระจาดไม้ไผ่สานนั้น ฉันยิ้มให้กับแม่ค้าที่กำลังตวงเห็ดใส่กระป๋องนมแล้วเทใส่ถุงพลาสติกอย่างว่องไวแล้วยื่นให้ฉันอย่างเอ็นดู

การไปตลาดครั้งนี้นอกจากจะได้เห็ดถอบมาแล้ว แม่ยังซื้อมะพร้าวขูดใหม่ๆ และปลากรายสดๆอย่างละครึ่งกิโลกรัม เมื่อถึงบ้านแม่รีบตรงไปยังแปลงผักสวนครัวเขียวขจีหลังบ้าน แม้ดินจะเละเพราะฝนเพิ่งตกแต่แม่ก็พร้อมจะลุยโคลนเพื่อเก็บลูกและใบมะกรูด ใบโหระพา และตัดใบตองกล้วยตานีมา2-3ใบ แม่บอกว่าใบตองจากกล้วยตานีนี้เหนียว ไม่แตกง่าย ใช้ห่อของได้ดี เวลาแม่จะทำขนมก็ต้องพึ่งต้นกล้วยตานีต้นนี้เสมอ ส่วนฉันรับหน้าที่สอยใบยอ โดยเลือกใบที่ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป กว่าจะสอยได้ก็ต้องแหงนจนเมื่อยคอกันเลยทีเดียว

ด้วยความเป็นเด็กอยากรู้อยากเห็นฉันจึงเป็นลูกมือในการทำอาหารของแม่อยู่เสมอ แม่มักจะใช้เวลานี้ในการอบรมสั่งสอน และพูดคุยเรื่องต่างๆ ส่วนฉันก็ถือโอกาสนี้ให้แม่สอนการบ้านไปในตัว ในการทำอาหารครั้งนี้ฉันจึงอาสาเป็นลูกมือด้วยความยินดี ขั้นแรกต้องหั่นเจ้าเห็ดถอบเป็นชิ้นบางๆ แต่ก่อนหั่นต้องล้างคราบดินออกให้หมด เวลาหั่นต้องระวังมีดด้วย เพราะมันทั้งเล็กทั้งกลม ถ้าจับไม่ดีอาจเผลอหั่นถูกมือได้ง่าย หน้าที่ต่อไปของฉันคือทำความสะอาดใบตองและเย็บกระทงโดยใช้ไม้กลัดกลัดมุมใบตองที่วางซ้อนกันสองชั้นทั้ง4ด้านให้ได้ขนาดตามต้องการ แต่ถ้าจะให้กระทงมีทรงสวยงามต้องตัดใบตองเป็นวงกลมรัศมี 8 เซนติเมตร กระทงจะดูไม่ใหญ่เทอะทะเกินไป

ในระหว่างที่ฉันเย็บกระทง แม่ก็กำลังเตรียมเครื่องแกงอยู่พอดี โดยใส่พริกแห้งเม็ดใหญ่5-7เม็ดแต่ต้องผ่าเอาเมล็ดออกและแช่น้ำจนน่ายก่อน กระเทียม7กลีบอย่าลืมแกะเปลือกด้วย หอมแดง3-5หัว ข่า ผิวมะกรูด ตะไคร้ กะปิ เกลือป่นอย่างละ1ช้อนกาแฟ พริกไทย7เม็ด และเคล็ดลับความอร่อยของเครื่องแกงที่เข้มข้นนี้อยู่ที่ข้าวสารที่แช่น้ำจนน่ายหรือที่เรียกว่า ข้าวเบือ นั่นเอง ทั้งหมดนี้ตำรวมกันให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน แม่ตำเครื่องแกงเป็นจังหวะถี่เร็วสม่ำเสมอกัน แม่บอกว่าเสียงตำน้ำพริกสามารถบอกอุปนิสัยคนตำได้ และมีความสำคัญถึงขนาดใช้เป็นข้อพิจารณาในการเลือกคู่เลยทีเดียว ถ้าลูกสาวบ้านไหนตำน้ำพริกทีละ “ป๊อก”สอง “ป๊อก” แสดงว่าเป็นคนเชื่องช้า ไม่เอาจริงเอาจัง ยังเป็นแม่บ้านที่ดีไม่ได้ ฉันคิดว่าแม่บ้านสมัยปัจจุบันนี้คงไม่นั่งตำน้ำพริกให้กล้ามขึ้น แค่มีเครื่องปั่นทุกอย่างก็ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากและเป็นวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการแอบฟังเสียงตำน้ำพริกได้

ฉันเหลือบไปเห็นมะพร้าวขูดตั้งอยู่จึงต้มน้ำจนพอร้อน เทมะพร้าวขูดใส่กระชอนที่วางบนกะละมัง ฉันเทน้ำอุ่นลงไปบนเนื้อมะพร้าว เริ่มคลุกเคล้าแล้วจึงคั้นหัวกะทิสีขาวข้นออกมาจำนวนหนึ่ง และเทน้ำลงไปอีกครั้งคั้นจนได้หางกะทิที่สีขาวใสกว่าครั้งแรก เก็บไว้รอการผสมต่อไป

จากนั้นแม่แล่เนื้อปลาใส่ในหม้อดินเผาใบเก่าที่นานๆทีจะหยิบมาใช้ ตามด้วยพริกแกงที่ตำเมื่อครู่ลงไป ใส่น้ำปลาเล็กน้อย กวนไปในทางเดียวกันโดยใช้ไม้พาย แม่บอกว่าความฝืดที่เกิดขึ้นระหว่างไม้พายกับหม้อดินเผาจะช่วยให้เนื้อปลาเหนียว เข้ากับเครื่องแกงได้ดี พอกวนไปได้สักพักจึงตอกไข่เป็ดใส่ลงไป2ฟอง แล้วจึงค่อยๆเทหัวกะทิผสมทีละน้อยๆ เพราะหากใส่กะทิไปทีเดียวจน หมดเนื้อห่อหมกจะไม่นิ่ม กวนไปเรื่อยๆจนเนื้อห่อหมก “ขึ้น” ได้ที่ ทีนี้จึงคลุกเคล้าเจ้าเห็ดถอบ พระเอกของเมนูนี้ลงไป

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงฉีกใบยอเป็นชิ้นๆวางรองก้นกระทงใบตองที่เตรียมไว้ เทเนื้อห่อหมกลงไปค่อนกระทง เหลือพื้นที่อีกส่วนหนึ่งให้ห่อหมกได้ฟูขึ้นอีก นำลังถึงชั้นล่างใส่น้ำตั้งไฟให้เดือดก่อนแล้วจึงวางกระทงที่ใส่ห่อหมกแล้วตามลงไป นึ่งประมาณ20นาที ระหว่างรอให้ผสมหัวกะทิกับแป้งมันนิดหน่อยเคี่ยวจนเดือดสำหรับโรยหน้าห่อหมก เมื่อห่อหมกใกล้จะสุกสังเกตได้จากเนื้อห่อหมกทรงตัวเป็นก้อน สีส้มสวยสดใส ในตอนนี้ให้เทหัวกะทิที่เคี่ยวไว้ราดหน้าห่อหมก ตกแต่งด้วยใบโหระพา ใบมะกรูดหั่นฝอย และพริกชี้ฟ้าแดงหั่นเฉียง แล้วนึ่งต่ออีก3นาที เพียงเท่านี้ก็ได้ลิ้มรสห่อหมกสูตรเด็ด ทั้งหอมกรุ่นและกลมกล่อมไม่มีใดปาน

“อาหาร” จะอร่อยหรือไม่อยู่ที่ว่า “เรา” รับประทานกับใคร ถึงแม้อาหารจะรสชาติเลิศเลอแค่ไหน หากรับประทานคนเดียวก็ไม่สามารถลิ้มรสความอร่อยได้อย่างเต็มที่ สำหรับฉัน แค่ได้รับประทานอาหารพร้อมกับทุกคนในครอบครัว มีข้าวสวยร้อนๆสีขาวนวลจากหม้อหุงข้าวในจานสังกะสีสีขาวขอบน้ำเงินและห่อหมกเห็ดถอบ ในกระทงใบตอง มีสีขาวของกะทิทาบอยู่บนสีแดงของพริกชี้ฟ้าและสีเขียวของใบโหระพาและผักชีดูเหมือนกระถางดอกไม้ย่อมๆที่มีสีสันและมีชีวิตชีวาน่ารับประทานประกอบกับกลิ่นเครื่องแกงหอมฟุ้งชวนให้น้ำลายสอ แม้สายฝนจะโปรยปรายอยู่ภายนอกแต่โต๊ะกลมในบ้านไม้หลังนั้นกลับเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ นี่เป็นความสุขเล็กๆในครอบครัวที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆจาก “อาหารที่ถูกปาก คนที่ถูกใจ ในโมงยามแห่งความรัก”