วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

แม่สอด...,มิตรภาพหลากวัฒนธรรม




ย้อนหลังไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ณ เมืองชายแดนสุดทิศประจิมอันไกลโพ้น โอบล้อมด้วยภูเขาสูงใหญ่หนาทึบ อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติที่งดงามตระการตา ผู้ใดก็ตามที่มาเยือนดินแดนนี้ต้องผ่านปราการธรรมชาติที่ยากลำบาก นั่นคือ ความทุรกันดารของเส้นทาง ต้องเดินทางลัดเลาะผ่านลำห้วย ภูเขาสูงและเหวชัน ยิ่งในฤดูฝนสองข้างทางเต็มไปด้วยโคลนจากภูเขา ต้องรอนแรมอยู่กลางป่าหลายวันหลายคืน ทั้งยังต้องระวังอันตรายจากสัตว์ป่า เพราะแถบนี้ได้ชื่อว่ามีเสือชุมที่สุด แต่แม้ระยะทางและเส้นทางจะเป็นอุปสรรค แต่ผู้คนก็ไม่ละความพยายามที่จะเดินทางผ่านและเข้ามาทำการค้าขายที่ดินแดนนี้ ดินแดนที่ได้สมญานามว่า อัญมณีแห่งขุนเขา “อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก”

แม่สอดหรือเมืองฉอดในอดีตเป็นเส้นทางการค้าและจุดพักที่สำคัญของกองคาราวานสินค้าที่ค้าขายระหว่างเมือง มะละแหม่ง-ภาคเหนือของไทย-รัฐฉานของพม่า และยูนนาน มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านของสยาม แม้ในปัจจุบันก็ยังมีความสำคัญในฐานะเมืองเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศไทยและพม่า แต่อัญมณีอันเลอค่านี้ก็มิได้จรัสแสงแต่ในทางเศรษฐกิจเท่านั้น กาลเวลาที่ผ่านมาได้หลอมรวมวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อต่างๆของคนหลากหลายชาติพันธุ์จนเกิดเอกลักษณ์ของความเป็น “คนแม่สอด”ขึ้น

ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในอำเภอแม่สอดคือพวกกะเหรี่ยง มาตั้งชุมชนเล็กๆชื่อบ้านพะหน่อเก ต่อมาพวกพ่อค้าที่เดินทางผ่านเข้าออกแม่สอดเป็นประจำได้มาตั้งรกรากที่แม่สอด ด้วยเห็นว่าทำเลที่ตั้งดี สามารถทำการค้าได้ในหมู่พ่อค้าเองก็ได้ กับพวกกะเหรี่ยงก็ได้ หรือจะข้ามฝั่งไปมาระหว่างพม่ากับไทยก็ได้ และสามารถเดินทางไปได้ถึงยูนนานทีเดียว ในสมัยที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษนั้น เศรษฐกิจของพม่าเจริญรุ่งเรืองมาก ศูนย์รวมสินค้านานาชนิดของพม่าอยู่ที่ท่าเรือมะละแหม่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่สอดมากนัก แม่สอดจึงเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งค้าขายชายแดนของไทย จึงมีผู้คนอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งพวกไทยใหญ่ ชาวจีนจากยูนนาน ชาวพม่า พวกมุสลิมจากบังคลาเทศ ชาวไทยเหนือ พวกซิกข์และฮินดู คนเหล่านี้เมื่ออพยพมาอยู่ในเขตอำเภอแม่สอดก็ได้นำประเพณีต่างๆของตนติดตัวมาด้วยและยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตโดยทั่วไปของกลุ่มคนเชื้อชาติต่างๆมีดังต่อไปนี้

๑. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ยาง)
ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวเจ้าและข้าวโพดเป็นพืชหลัก นอกจากนี้ยังเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งานและบวงสรวงภูตผี การแต่งกายผู้ชายนิยมใส่เสื้อสีแดงตกแต่งด้วยพู่ โพกผ้าสีต่างๆ ผู้หญิงโสดสวมชุดสีขาวยาวกรอมเท้า แขนเสื้อและคอเสื้อประดับด้วยพู่สีต่างๆและโพกผ้าขาวริมถักด้วยไหมสีต่างๆ ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วนิยมใส่เสื้อตัวสั้นสีน้ำเงินเข้มหรือสีแดงและโพกศีรษะด้วยผ้าสีดำหรือแดง หญิงชาวกะเหรี่ยงสวมต่างหูทองหรือเงินตามฐานะมีด้ายสีประดับหลังแป้นหู

๒. ชาวไทยใหญ่หรือเงี้ยว
ชาวไทยใหญ่หรือเงี้ยวในอำเภอแม่สอด ส่วนใหญ่มาจากพม่าทางอำเภอ เมียวดีโดยตั้งถิ่นฐานรวมอยู่กับพวกชาวไทยหลายเผ่าในอำเภอแม่สอด มีแก่บ่าวแก่สาวเป็นหัวหน้าปกครอง ชาวไทยใหญ่มีวิถีชีวิตคล้ายกับชาวล้านนา มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่อนุรักษ์สืบต่อกันมา เช่น แหล่ส่างลอง ต่างซอมต่อโหลง แล้อุปั๊ดตะก่า เป็นต้น ชาวไทยใหญ่มักเคร่งในพระพุทธศาสนา ทำการเกษตรกรรมเป็นหลัก

๓. ชาวพม่าหรือม่าน
ชาวพม่าส่วนใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอำเภอแม่สอดนานแล้ว ชาวพม่าโดยทั่วไปอาศัยในเขตตัวเมืองในอดีต ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพช่าง(สะหล่า) เช่น ช่างทอง ช่างเจียระไนเพชรพลอย ช่างตีเหล็ก ช่างสร้างบ้านเรือน แต่ในสมัยปัจจุบันชาวพม่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนแม่สอดมักจะเป็นผู้ใช้แรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือรับจ้างทั่วไป


ชาวพม่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกับชาวไทยใหญ่ มีเทศกาลที่ถือปฏิบัติเหมือนกัน เช่น เทศกาลเข้าพรรษา ทอดกฐิน จุดประทีป สงกรานต์ เป็นต้น อาจจะแตกต่างกันในการนับเวลาทางจันทรคติ ในบางปีประเพณีการเข้าพรรษาของชาวพม่าจะช้าหรือเร็วกว่าชาวแม่สอดประมาณหนึ่งวัน การจัดเตรียมงานประเพณีเกือบทุกอย่างของชาวพม่า จะเริ่มต้นที่บ้านและจะจบลงด้วยการทำบุญที่วัด ชาวพม่าและชาวไทยใหญ่ในอำเภอแม่สอดใช้วัดในการทำบุญหรือประกอบศาสนกิจร่วมกัน ทั้งนี้เพราะพระส่วนใหญ่จะเป็นพระชาวพม่า

ประเพณีของพม่าที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ “การขึ้นวัด” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเวียนไปตามวัดพม่าเพื่อนมัสการพระพุทธรูปและพระสงฆ์ประจำวัดนั้นๆ โดยจะมีการกำหนดว่าจะวัดไหน ในวันพระใด มีการหมุนเวียนกันไปทำบุญเป็นคณะโดยศรัทธาวัดจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารทั้งคาวและหวาน ด้านการแต่งกาย ชาวพม่านุ่งโสร่งมีผ้าโพกหัว สวมเสื้อแขนยาว สตรีนุ่งผ้าถุงกรอมเท้าและสวมเสื้อเข้ารูปตัวสั้นทั้งแขนสั้นและแขนยาว คหบดีจะนุ่งโสร่งหรือผ้าถุงไหมพม่าซึ่งมีลักษณะมันเงา เรียกว่า “ผ้าไหมมัณฑเลย์” ช่วงเทศกาลทั้งชายและหญิงจะแต่งตัวสวยงามมาก หญิงนิยมทัดดอกไม้บนมวยผมพม่า

๔. ชาวจีน
ชาวจีนส่วนมากในอำเภอแม่สอดจะอพยพมาจากเมืองจีน บางส่วนอพยพลี้ภัยมาจากพม่า โดยเข้ามาอาศัยบริเวณใจกลางเมืองโดยเฉพาะย่านการค้า ชาวจีนส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย มีความเป็นอยู่ แบบชาวจีนทั่วๆไป แต่ปัจจุบันได้ผันตัวเองเข้าสู่สังคมไทยมักจะร่วมประเพณีกับคนไทย แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีธรรมเนียมจีนไว้อยู่ เช่น การแห่สิงโต การไหว้พระจันทร์และประเพณีตรุษจีน พิธีไหว้เจ้า พิธีแต่งงานเป็นต้น ส่วนภาษาพูดมักใช้ภาษาแม่สอดปนไทยกลางหรืปนจีน และพูดภาษาจีนกันในกลุ่มผู้สูงอายุ

๕. ชาวไทยเหนือหรือชาวล้านนา
ชาวไทยเหนือส่วนใหญ่ที่มาตั้งรกรากในแม่สอดมักจะอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆรอบนอกตัวอำเภอ เช่น ตำบลแม่ปะ ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว เป็นต้น ชาวไทยเหนือมีความเป็นอยู่ปานกลาง พออยู่พอกิน สภาพบ้านเรือนที่อาศัยมักจะตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนขนาดปานกลางจนถึงขนาดใหญ่ บ้านทำด้วยไม้สักมุงหลังคาด้วยดินขอ ซึ่งเป็นกระเบื้องดินเผากว้าง๕นิ้ว ยาว8-9นิ้ว มีขอหรือส่วนที่หักมุมเพื่อใช้เกี่ยว หรือมุงด้วยแป้นเกล็ด เป็นไม้แผ่นบางๆขนาดให้กว่าดินขอ ปลายทำเป็นรูปโค้งหรือแหลม บ้างก็สร้างตัวบ้านด้วยไม่ไผ่ทั้งลำนำมาสับแล้วแผ่ให้เป็นแผ่นเหมือนไม้กระดานที่เรียกว่า ฟาก แล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าคา

ชาวไทยเหนือมีนิสัยใจคอเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อมีเทศกาลก็จะร่วมงานอย่างสนุกสนาน เมื่อมีงานปอยตามบ้านหรือตามวัดก็จะร่วมมือกันด้วยความเต็มใจ ลักษณะครอบครัวมักมีขนาดใหญ่ บางครอบครัวแยกมาอยู่เดี่ยวแต่จะปลูกบ้านบริเวณเดียวกันหรือใกล้ๆกับพ่อแม่ คนในชุมชนมักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการลงแขกเกี่ยวข้าว ภาษาพูดใช้ภาษาเหนือหรือภาษาล้านนา ชาวไทยเหนือในอำเภอแม่สอดมีอาหารที่นิยมประจำท้องถิ่นมากมายหลาชนิด เช่นแกงอ่อม ลาบจิ้น แกงแค น้ำพริกอ่อง แกงโฮะ อาหารหวานมักเป็นขนมที่ทำเองในเทศกาลต่างๆ เช่น ขนมจอก(ขนมเทียน) ขนมปาด ข้าวแตน หลังรับประทานอาหารแล้วชาวไทยเหนือนิยมสูบบุหรี่ที่เรียกว่า “ปูลีขี้โย” และอมเมี่ยง

๖. ชาวมุสลิม
ชาวมุสลิมในอำเภอแม่สอดส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศบังคลาเทศ ผ่านมาทางพม่าพร้อมกับพวกชาวไทยใหญ่ พม่า จีน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ใจกลางเมือง ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย มีความเป็นอยู่แบบมุสลิมทั่วไป มักเคร่งศาสนาและพูดภาษาแม่สอด สำหรับภาษาอาหรับนั้นใช้กันในมัสยิด ใช้สวดและพูดคุยกันในหมู่ของผู้สูงอายุเท่านั้น สำหรับการแต่งกายนั้น ชายจะนุ่งโสร่งสวมเสื้อแขนยาว และสวมหมวกหนีบ ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาว และคลุมศีรษะด้วยผ้าที่เรียกว่า “หิญาบ” ประเพณีและพิธีกรรมในรอบปีจะจัดขึ้นโดยพิจารณาจากปฏิทินทางจันทรคติของศาสนาอิสลาม พิธีกรรมที่สำคัญคือ พิธีถือศีลอด จะปฏิบัติกันในช่วงเดือนรอมฏอน ส่วนเทศกาลที่สำคัญโดยทั่วไปแล้วมี๒ เทศกาลคือ อิเดิ้ลฟิตตะริ (id al-fitr) ในวันสุดท้ายของพิธีถือศีลอด และอิดิ้ลอัฏฮา (id al -adha) หลังสิ้นสุดพิธีถือศีลอด ๗๐วัน