วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

คติชนบ้านฉัน วันวารในแม่สอด





อาหารการกินเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนเรามาช้านาน ไม่ว่าเชื้อชาติไหนก็ย่อมมีวัฒนธรรมการกิน มีอาหารท้องถิ่น มีคติความเชื่อเกี่ยวกับการกินและการประกอบอาหารด้วยกันทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้แต่ละชนชาติ แต่ละท้องถิ่นมีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของท้องถิ่นนั้นกับสภาพแวดล้อม สภาพสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งนิสัยใจคอของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ และเมื่อพูดถึงอาหารการกิน ทุกบ้าน ทุกครอบครัวย่อมต้องมีพื้นที่สำหรับประกอบอาหารที่เรียกว่าครัว ครัวไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่เป็นที่สำหรับประกอบอาหาร เท่านั้น แต่มีความสำคัญในแง่ของการเป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้แหล่งใหญ่ในการศึกษาวิชาคติชนวิทยาอย่างแท้จริง

ครอบครัวของฉันเป็นครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เมื่อ22 ปีที่แล้วได้มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆทางชายแดนตะวันตกของประเทศไทยติดกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ดังนั้นท้องถิ่นที่ฉันได้อยู่อาศัยนี้จึงมีการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันทั้งไทย ล้านนา ไทยใหญ่ จีน มุสลิมและพม่า สิ่งที่บ่งบอกถึงความแตกต่างของแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมได้ดีที่สุดคงจะไม่พ้นเรื่องของอาหารการกินนั่นเอง



ปัจจุบันจะเห็นว่าชาวไทยเชื้อสายจีนมีวิถีชีวิตที่ไม่ต่างจากชาวไทยแท้โดยทั่วไป ครอบครัวของฉันก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับประเพณีหลักๆของชาวจีน เช่น ประเพณีไหว้พระจันทร์ ประเพณีตรุษจีน ประเพณีสารทจีน เป็นต้น ครอบครัวของฉันก็ยังปฏิบัติสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ด้วยเหตุที่ทางญาติฝ่ายปะป๊า (พ่อ)ของฉันมีเชื้อสายจีน ทำให้ประเพณีจีนและคติความเชื่อต่างๆมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตายเลยทีเดียว และส่วนใหญ่ก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของปากท้อง และอาหารการกิน จึงต้องพิถีพิถันเรื่องการปรุงอาหารเป็นอย่างมาก



ตั้งแต่ฉันจำความได้นั้นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดก็คือเทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ของจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์น ปะป๊าจะหยุดงาน2วันตามธรรมเนียมจีน ในวันไหว้ผีบรรพบุรุษและวันเที่ยว ในวันไหว้เด็กๆจะได้สวมชุดใหม่สีแดงทั้งชุด กุ๊ง(ภาษาจีนแคระหมายถึงปู่)ของฉันบอกว่าสีแดงเป็นสีมงคล นำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย สดใสรุ่งโรจน์ จะเห็นได้ว่าคนจีนส่วนใหญ่ จะซื้ออะไรก็ขอให้เป็นสีแดงไว้ก่อน แม้กระทั่งซองใส่ “แต๊ะเอีย” (ภาษาจีนกลางเรียกอั่งเปา ) ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ใหญ่ให้ผู้น้อยเป็นของขวัญวันตรุษจีนก็ยังต้องเป็นสีแดง พวกเด็กๆจะได้กินหมูเห็ดเป็ดไก่จนพุงกาง ฉันต้องตื่นเช้าเข้าครัวช่วยแม่เตรียมอาหารสำหรับไหว้เจ้า อันได้แก่ ไก่ต้ม หมูสามชั้นต้ม วุ้นเส้นแห้ง เห็นหูหนู ขนมเทียน ขนมเข่ง และผลไม้มงคลต่างๆ เช่น ส้ม แก้วมังกร แอปเปิ้ล สาลี่ เป็นต้น แม่จะจัดอาหารเหล่านี้ใส่ถาดขนาดใหญ่ แล้วนำไปไหว้ตี่จู่เอี๊ยะหรือศาลเจ้าที่หลังเล็กสีแดงบนพื้นหน้าบ้าน



เวลาสายประมาณสิบโมงเช้าก็จะมีการไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยจัดโต๊ะอาหารที่หน้าบ้านซึ่งเป็นที่โล่งแจ้ง เตรียมข้าวปลาอาหารให้พร้อม โดยมีอาหารหลักๆคือผัดหมี่เตี้ยว (บางที่เรียกหมี่ซั่ว หรือเหมี่ยนเสี้ยน )สีเหลืองทองน่ากินทีเดียว หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม ผัดผักต่างๆ เช่นผักฮ่องเต้ ผักกุ้ยช่ายขาว ขนมเทียน ขนมเข่ง และขนมมัดไต้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนข้าวต้มมัดแต่ใส่ถั่วเขียวกระเทาะเปลือกปรุงรสกับหมูที่หั่นตามยาว สำหรับเครื่องดื่มก็มีเหล้าขาว น้ำชา และน้ำหวานทั้งหมดนี้เทใส่ภาชนะไว้ กุ๊งจะเป็นผู้นำการไหว้ก่อนแล้วลูกๆหลานๆจึงไหว้ตามลำดับอาวุโส หลังจากรอจนธูปหมดดอก( หมายถึงผีรับประทานอาหารเสร็จแล้ว) ปะป๊าก็จะจุดประทัดกล่องใหญ่ดังไปทั่วบริเวณ แล้วจึงล้อมวงกันเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้วิญญาณบรรพบุรุษ และในตอนเย็นจะมีการไหว้วิญญาณเร่ร่อน โดยปูเสื่อกับพื้นหน้าบ้านในตำแหน่งเดียวกับช่วงเช้า และแม่ก็รับหน้าที่เป็นแม่ครัวอีกเช่นเคย อาหารในมื้อเย็นไม่ต่างจากมื้อสายนัก เด็กๆจะเป็นลูกมือช่วยแม่ทำกับข้าวและช่วยกันยกกับข้าวมาวางบนเสื่อที่ปูไว้ หลังไว้เสร็จก็จะจุดประทัดและเผากระดาษเงินกระดาษทอง ทุกคนจะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยรอยยิ้มแจ่มใส ไม่มีการดุด่าว่ากันหรือทะเลาะกัน สำหรับฉันแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นความสนุกสนานในวัยเด็กที่ไม่มีวันลบเลือน



อาหารอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนจีนก็คือ ช่อยก๊น หรือผักกาดเขียวตากแห้ง เป็นวิธีการถนอมอาหารวิธีหนึ่งที่ช่วยยืดอายุของผักกาดเขียวไว้ได้นาน สูตรที่ครอบครัวของฉันทำกินกันนี้สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เราจะไปซื้อผักกาดเขียวมาจากชาวไทยภูเขาบนดอย ประมาณ30กิโลกรัม นำมาล้างให้สะอาดเพราะผักบนดอยมีสารเคมีมาก จากนั้นนำมานวดกับเกลือให้ผักชุ่มและน่วม ขั้นตอนนี้สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะช่วยกันนวด ยิ่งเกลือเข้าไปในผักได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ผู้ที่นวดต้องใช้กำลังแขนอย่างมากและฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ทำหน้าที่นวดผักนั้นจากนั้นจึงนำผักที่นวดแล้วใส่ถังหมักไว้ 1คืน วันต่อมาลูกๆช่วยกันนำผักนั้นมาตากแดดให้แห้ง ยิ่งแดดแรงผักยิ่งอร่อย แต่ไม่ควรตากผักไว้ค้างคืนเพราะอาจขึ้นราได้ เก็บผักใส่ภาชนะแห้งสนิท จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของแม่ที่นำผักเหล่านั้นไปนึ่งประมาณ1 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปตากแดดอีกครั้ง เมื่อแห้งดีแล้วก็พร้อมนำไปปรุงอาหารได้ วิธีการทำต้มช่อยก๊นก็คือ นำผักกาดเขียวแห้งมาแช่น้ำให้นิ่ม แล้วนำมาต้มกับหมูสามชั้นหรือขาหมูก็ได้ ความอร่อยอยู่ที่ความหอมและเหนียวนุ่มของช่อยก๊นกับน้ำต้มรสกลมกล่อม เมื่อรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆก็อร่อยเกินบรรยาย

ความทรงจำในวัยเด็กของฉันเกี่ยวกับอาหารการกินมีค่อนข้างมาก ฉันมักจะติดสอยห้อยตามแม่ไปตลาดอยู่เสมอเพื่อที่จะขอแม่ซื้อขนมแสนอร่อย ขนมที่ฉันขอแม่ซื้ออยู่บ่อยๆก็คือ “ฮาละหว่า” ซึ่งเป็นขนมหวานของชาวไทยใหญ่ ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย กะทิ เมล็ดสาคูเล็ก หน้าขนมราดด้วยหัวกะทิแล้วปิ้งด้านหน้าจนเกรียม มีรสชาติหวานมันอร่อยสุดๆ แม่ค้าจะทำขนมนี้บรรจุในถาดกลม และตัดขายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนมฮาละหว่านี้จะทำขายคู่กับ “เส่งเผ่” ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมข้าวเหนียวแดง ทำจากข้าวเหนียว น้ำอ้อย กะทิ ปิ้งหน้าขนมทำในลักษณะเดียวกับฮาละหว่า มีรสชาติหวานมัน แต่ฉันไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ และในบางครั้งแม่จะซื้อ “กะบองจ่อ” ซึ่งเป็นอาหารทานเล่นชนิดหนึ่งของพม่า คำว่า “กะบอง” เป็นภาษาพม่า หมายถึง ฟักทอง “จ่อ” หมายถึง ทอด โดยจะนำฟักทองมาชุบแป้งแล้วทอด ให้เหลืองกรอบหอมกรุ่น เคล็ดลับความกรอบอยู่ที่ส่วนผสมแป้ง“แปม้ง” ที่มาจากพม่า ซึ่งทำจากถั่วเหลืองอ่อน ปัจจุบันกระบองจ่อมีการนำผักชนิดอื่นมาทอดด้วย เช่น มะละกอดิบขูดเป็นฝอย และน้ำเต้า กระบองจ่อรับประทานกับน้ำจิ้มที่มีส่วนผสมของน้ำมะขามเปียก น้ำอ้อยเคี่ยว เกลือ ถั่วลิสงป่น และกระเทียม รสชาติเปรี้ยวหวานกลมกล่อมน่าลิ้มลองเป็นอย่างยิ่ง



สำหรับตลาดที่แม่ชอบไปอยู่เสมอนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า ตลาดบ้านเหนือ ซึ่งจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงหน้าฝนเพราะเป็นฤดูกาลที่อาหารป่าชุกชุมที่สุด ทั้งเห็ดโคน หน่อกระทือ ผักกูด แย้ ตัวตุ่น นกกระทา หนูนา อึ่งอ่างย่าง ฯลฯ ในบางครั้งก็มีตะกวดตัวเป็นๆขายด้วย ในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสทองของชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าก็ได้นำของป่าเหล่านี้มาขาย สำหรับครอบครัวของฉันก็ไม่พลาดโอกาสนี้เหมือนกัน พอถึงฤดูฝนทีไรฉันและน้องๆเป็นต้องคิดหาอาหารจานเด็ดให้แม่แสดงเสน่ห์ปลายจวักทุกที นอกจากเห็ดโคนต้มฟักเขียวอาหารโปรดของปะป๊า แกงส้มผักกูดที่น้องชายติดใจ ยังมีอาหารจานเด็ดฝีมือแม่ที่ฉันรับประทานได้ไม่มีวันเบื่อก็คือ “ห่อหมกเห็ดถอบ” อาหารจานเด็ดเหล่านี้มีแม่คนเดียวเท่านั้นที่ปรุงได้ถูกปากและถูกใจคนในครอบครัวที่สุด



ฉันว่าที่อำเภอแม่สอดนี้มีอะไรดีๆมากมายที่หาไม่ได้จากในเมือง อาหารป่าราคาไม่แพงมีขายทุกฤดู แถมยังปลอดสารพิษอีกด้วย อาหารป่าที่ฉันชอบลิ้มลองในวัยเด็กที่อาจมีคนเมืองอีกหลายคนทำหน้าเบ้เมื่อได้ยิน นั่นก็คือ อึ่งอ่างย่างต้มกับใบส้มป่อย ความอร่อยอยู่ที่อึ่งอ่างตัวสีดำที่ย่างจนหอม แม่ลอกหนังออกแล้วนำมาต้มกับยอดส้มป่อย แม้มันจะไม่ค่อยมีเนื้อมีหนังสักเท่าไหร่ แต่เวลารับประทานรสชาติและกลิ่นเหมือนปลาย่างแต่อร่อยกว่ามาก แม่เคยเล่าให้ฟังถึงอาหารป่าที่แม่เคยรับประทานเมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งล้วนทำให้ฉันแทบจะไม่อยากเชื่อว่าสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ ผัดเผ็ดแย้ งูสิง เต่า ตะกวด รวมทั้งกระต่ายด้วย แม่บอกว่าตอนนั้นอยู่แถบชนบท(ตำบลนานอก อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร) อาหารดีๆไม่มีให้กิน ต้องอาศัยของป่าที่ตาไปเก็บหรือล่ามาเพื่อประทังชีวิต คนที่บ้านกินแบบไหนก็ต้องกินด้วย ฉันเลยนึกถึงเพลงที่แม่เคยร้องให้ฟังสมัยเด็กๆ ฟังทีไรเหล่าลูกๆต้องหัวเราะท้องคัดท้องแข็งเลยทีเดียว ซึ่งในเวลาต่อมาฉันจึงรู้ว่าเพลงนี้ชื่อเพลงกับข้าวเพชฌฆาต ขับร้องโดยแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ อาหารที่กล่าวถึงในเนื้อเพลงแต่ละอย่างนั้นล้วนเพชฌฆาตสมชื่อทีเดียว และฉันเชื่อว่าอาจมีชาวบ้านป่าอีกหลายคนที่เคยลองลิ้มชิมรสอาหารเหล่านี้มาแล้วก็ได้ ท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงร้องว่า


… วันนี้รวมกลุ่มกันทั้งหนุ่มสาว ทั้งอาหารหวานคาวทำไว้
ไม่ต้องลงขันกินกันเถิด วันนี้เป็นงานวันเกิดหนอไม่เป็นไร
ขอเชิญลิ้มรสเข้ามาทดลอง ว่าฝีมือของน้องเด็ดแค่ไหน
ผัดเผ็ดแมวดำต้มยำช้าง แกงจืดเนื้อค่างกับกอไผ่ ฉู่ฉี่คางคกทั้งจิ้งจกปิ้ง
ทั้งตุ๊กแกผัดขิงลิงยัดไส้ ลูกปืนแกงส้มรสกลมกล่อม
เกาหลาลูกบอมพ์ใส่หอมหัวใหญ่…



แม่ได้เล่าเรื่องราวตอนสาวๆให้ฟังว่าก่อนที่แม่จะแต่งงานกับปะป๊า แม่ขายข้าวแกงอยู่ในตลาดอำเภอเมืองตาก ฝีมือการทำอาหารของแม่เรียกได้ว่าเป็นที่หนึ่งพอๆกับเสียงร่ำลือถึงความงามทีเดียว โดยเฉพาะฝีมือการตำน้ำพริกและแกงต่างๆที่ใครได้ลิ้มรสก็ต้องยกนิ้วให้ เมื่อฉันยังเด็กก็ได้เป็นลูกมือช่วยทำอาหารอยู่บ่อยๆ เมื่อแม่จะทำแกงเผ็ด แม่ก็จะตำพริกแกงเองโดยใส่พริกแห้งเม็ดใหญ่ที่ผ่าเอาเมล็ดออกและแช่น้ำจนน่ายก่อน แกะกระเทียม ใส่หอมแดง ข่า ผิวมะกรูด ตะไคร้ กะปิ และเกลือลงไป แม่ตำเครื่องแกงเป็นจังหวะถี่เร็วสม่ำเสมอกัน แม่บอกว่าเสียงตำน้ำพริกสามารถบอกอุปนิสัยคนตำได้ และมีความสำคัญถึงขนาดใช้เป็นข้อพิจารณาในการเลือกคู่เลยทีเดียว ถ้าลูกสาวบ้านไหนตำน้ำพริกทีละ “ป๊อก”สอง “ป๊อก” แสดงว่าเป็นคนเชื่องช้า ไม่เอาจริงเอาจัง ยังเป็นแม่บ้านที่ดีไม่ได้ ซึ่งอาจจะจริงของแม่ก็ได้ หากตำน้ำพริกเหยาะๆแหยะๆ กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลานาน มีผลให้รสชาติของแกงเสียไปอีกด้วย



คติความเชื่อว่าด้วยเรื่องของการใช้ครกตำน้ำพริกนี้ยังมีข้อห้ามอีกหลายอย่าง เช่น ห้ามตำครกเปล่า เพราะจะทำให้นมยาน ห้ามนำข้าวลงคลุกในครกหลังจากตำน้ำพริกเสร็จ เพราะถ้ามีลูก จะทำให้ลูกปากหนา ห้ามละลายเครื่องแกงในหม้อด้วยไม้ตีพริก เพราะจะทำให้แกงบูดได้ง่าย คติความเชื่อเหล่านี้ฉันคิดว่าน่าจะเป็นกุศโลบายของผู้เฒ่าผู้แก่ที่สอนเด็กๆที่เป็นลูกหลานทาง อ้อมให้เป็นคนมีระเบียบ รักสะอาด ไม่มักง่าย และมีวินัยในตัวเอง เพราะสมัยก่อนเวลาผู้ใหญ่จะประกอบอาหาร เด็กๆจะเข้ามาช่วยเป็นลูกมือ เครื่องใช้ส่วนใหญ่ทำด้วยดินเผา อาจจะมีการนำไปเล่นกันบ้างหรือใช้อย่างไม่ถูกต้อง จนทำให้ข้าวของนั้นเสียหายได้ อีกทั้งเด็กๆจะไม่ค่อยใส่ใจเรื่องความสะอาดเท่าใดนัก การนำข้าวไปคลุกในครก เป็นภาพที่ดูไม่งามและหากครกไม่สะอาดก็อาจทำให้ท้องเสียได้ หรือการใช้ไม้ตีพริกละลายเครื่องแกงนั้นมีข้อเสียคือหากวางไม้ตีพริกไม่ดีก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมติดมาได้ง่าย และเมื่อนำไปคนในหม้อก็อาจทำให้แกงเสียได้



หน้าที่ลูกมืออย่างฉันก็คือสับหมู คั้นกระทิ และหั่นผัก การหั่นผักก็ต้องแก้มัดผักออกก่อน เพราะเชื่อว่าถ้าไม่แก้มัด หากมีคดีแล้วจะแก้ไม่หลุด รวมทั้งมีปัญหาใดๆเกิดขึ้นก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ด้วย นอกจากนี้ฉันได้รับหน้าที่นักชิมอีกด้วย สิ่งที่แม่คอยบอกฉันอยู่เสมอก็คือ อย่าชิมแกงด้วยจวัก เพราะเชื่อว่าจะหาสามีไม่ได้ และห้ามใช้จวักเคาะปากหม้อ เชื่อว่าเกิดชาติหน้าปากจะแหว่ง นอกจากนี้โบราณเขาไม่ให้ร้องเพลงในครัว เพราะจะได้สามีแก่ จะเห็นว่าคติชนก้นครัวส่วนใหญ่จะยกเอาเรื่องของสามีในอนาคตมากล่าวอ้าง เพราะแม่ครัวส่วนใหญ่ไม่อยู่ในวัยเด็กๆก็สาวๆ คติเหล่านี้จึงเป็นอุบายให้ผู้หญิงเป็นคนเรียบร้อย มีระเบียบ และปฏิบัติตัวให้ดูงามสมกับเป็นกุลสตรี จะได้เป็นแม่ศรีเรือนที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะการใช้จวักชิมแกงนั้นเป็นกิริยาที่ดูไม่งาม พอๆกับการร้องเพลงในครัวที่อาจทำให้น้ำลายกระเด็นตกลงในอาหาร หรือไม่ก็ทำให้ไม่มีใจจดจ่อกับการทำอาหารทำให้รสชาติผิดเพี้ยนไปได้



เมื่อปรุงอาหารเสร็จแล้วก็เหลือขั้นตอนการกิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอยของสมาชิกในบ้าน แม้จะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องง่ายๆแต่ก็ยังมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ไม่ควรมองข้าม เด็กไม่ควรรับประทานก่อนผู้ใหญ่ เวลารับประทานโบราณห้ามไม่ให้เคาะจานข้าว เนื่องจากเวลาไหว้ศพ หรือเซ่นไหว้ในเทศกาลต่าง จะต้องจัดชุดสำหรับพวกผีไม่มีญาติ และทำพิธิเรียกมากินโดยการเคาะถ้วยชาม ดังนั้นผู้ใหญ่จึงถือมากไม่ให้ลูกหลานเคาะจานชามเวลากินข้าว ขณะรับประทานอาหารอย่าให้ช้อนกระทบกัน เพราะโบราณเขาว่าจะมีคนนำข่าวร้ายมาให้ และการตักอาหารพร้อมกันจนช้อนกระทบกันเป็นมารยาทที่ไม่ดีบนโต๊ะอาหาร หากอาหารวันนั้นมีปลา เวลารับประทานห้ามพลิกปลาเด็ดขาดให้เลาะก้างปลาออกแทน โบราณเขาถือว่าถ้าพลิกปลาแล้ว จะทำให้ชีวิตพลิกผัน และเวลานั่งเรือออกไปเรือจะล่ม อันที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าการพลิกปลาอาจทำให้น้ำในจานปลากระเด็นถูกคนพลิกก็เป็นได้



จะเห็นว่าห้องครัวเพียงห้องเดียว เมื่อกล่าวร่วมกับอาหารการกินก็ทำให้เราได้ความรู้มากมาย และเห็นถึงความชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่ได้สร้างกุศโลบายชั้นเยี่ยมในการสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดี มีมารยาท รักสะอาด เรียบร้อยทั้งหญิงและชาย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพราะสมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการสร้างความรัก ความอบอุ่น และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในครอบครัว ลูกหลานจึงมีภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแรง และพร้อมที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต พูดแล้วก็คิดถึงบ้าน คิดถึงป๊า ม๊าจังเลย