วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทวิจารณ์หลายชีวิต ความเป็นไปที่ใครลิขิต?



ในประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญของไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็น ทั้งนักประพันธ์ นักการธนาคาร นักหนังสือพิมพ์ นักแปล นักกลอน นักการแสดง นักการศึกษา นักพูด นักวิจารณ์ กล่าวโดยรวมคือท่านเป็นนักปราชญ์ ปราชญ์แห่งแผ่นดินไทยท่านนี้หากมองในแง่ของนักประพันธ์แล้ว ถือว่าท่านเปรียบเสมือนเพชรน้ำหนึ่งแห่งวงการวรรณกรรมไทย การที่ท่านได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ.2528จากคณะกรรมการแห่งชาติเป็นหนึ่งในสิ่งที่การันตีคุณภาพและคุณค่าของงานเขียนของท่าน นอกจากนี้การที่วรรณกรรมเกือบ 120ชิ้น ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะนวนิยายที่ดูเหมือนจะเป็นงานวรรณศิลป์ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะนวนิยายให้อรรถรสในการอ่านมากกว่าวรรณกรรมอื่นๆ มีตัวละครและเนื้อเรื่องสนุก ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง


นวนิยายเรื่องหลายชีวิตเป็นหนึ่งในหกนวนิยายเลื่องชื่อของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ลงประจำในหนังสือ “ชาวกรุง” คุณค่าและความโด่งดังของหนังสือเล่มนี้ถึงขนาดเคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีการสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง และในปัจจุบันในบางมหาวิทยาลัยได้บรรจุนวนิยายเรื่องนี้ไว้ในรายวิชาเกี่ยวกับอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ จะเห็นว่าหลายชีวิตเป็นผลงานอมตะที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ว่ากันว่า “วรรณกรรมคือภาพสะท้อนของมนุษย์และสังคม” หลายชีวิตสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีทีเดียว เพราะนวนิยายเรื่องนี้สะท้อนลักษณะของสังคมไทย การดำเนินชีวิตแบบไทยๆ และวิธีคิดแบบคนไทย ผู้แต่งสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายในการถ่ายทอดและเขียนชีวิตแต่ละชีวิตให้ออกมามีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จริงๆ การบรรยายชีวิตให้จับใจผู้อ่านและมีความสมจริงนั้นต้องประมวลความรู้จากศาสตร์มากมายหลายสาขา ม।ร।ว।คึกฤทธิ์ได้หยิบยกเอาสิ่งรอบตัวมาผนวกเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะท่านเป็นบุคคลที่ช่างสังเกต ช่างจดจำ และนำข้อมูลมาเรียงร้อยเป็นตัวอักษรได้อย่างงดงาม ผู้อ่านสามารถพิจารณาได้จากหลวงพ่อเสม ชายเล็ก นายผล และโนรี เพราะหากผู้แต่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งพอ ย่อมไม่สามารถวาดชีวิตหลวงพ่อเสมขึ้นมาได้สมจริงขนาดนั้น ชีวิตของชายเล็กก็ทำให้นึกถึง “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ” ท่านพ่อของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ต้องตกระกำลำบากตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต้องเก็บพุทราใส่กระทงเดินเร่ขายตามหน้าโรงหวย ชีวิตนายผลพระเอกลิเก ทำให้นึกถึงการประกวดลิเกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่จัดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ 2500 ส่วนโนรี แม้ผู้แต่งจะไม่เคยตกยาก แต่ย่อมจะได้พบปะพูดคุยกัน “นักประพันธ์ไส้แห้ง” และ นักประพันธ์หน้าใหม่มาไม่น้อย นอกจากนี้ผู้แต่งยังรู้สภาพทางภูมิศาสตร์ของคุ้งสำเภา หรือลานเทในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่กว้างที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงฤดูฝนจะอันตรายมากเพราะเป็นบริเวณโล่งเตียน ไม่มีกำบังลม ประกอบกับท้องน้ำอันกว้างใหญ่ เมื่อลมพัดจึงมีความแรงเป็นทวีคูณ เคยมีเรือโดยสารล่มบริเวณนี้หลายครั้ง มีคนจมน้ำตายไปมาก



หลายชีวิต.....กล่าวถึงเรื่องราวชีวิตที่หลากหลายของผู้คน หลายชีวิตที่แตกต่างกัน คนละวัย คนละเพศ คนละอาชีพ แต่ละคนมีภูมิหลังและทางเดินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ กรรม บางคนก็สร้างกรรมดี บางคนก็สร้างกรรมชั่ว ชีวิตของพวกเขาจึงวนเวียนมาบรรจบประสบชะตากรรมเดียวกัน ในคืนวันฝนตกหนัก พวกเขาลงเรือเมล์โดยสารลำหนึ่งเพื่อมุ่งหน้าไปสู่พระนคร แต่ละคนต่างก็มีจุดมุ่งหมายในการเดินทางที่แตกต่างกัน แต่ทว่าเรือเมล์ลำนั้นไม่สามารถแล่นไปถึงที่หมายได้ พอเลี้ยวโค้งพายุกระหน่ำปะทะเข้ากลางลำเรือ ทำให้เรือเอียงและพลิกคว่ำลงทันที เมื่อเวลาเช้าทุกสิ่งทุกอย่างสงบลง รวมทั้งชีวิตของพวกเขาที่สิ้นสุดลงด้วย ศพที่จมน้ำตายตั้งแต่เมื่อคืนวานวางเรียงรายอยู่มากมายหลายศพ แต่ละคนเคยมีชีวิตเป็นของตนเอง แต่ทั้งหมดก็ต้องมาสิ้นชีวิตลงด้วยการประสบเคราะห์กรรมจมน้ำตายลงพร้อมๆกัน



นวนิยายเรื่องนี้มีปรัชญาทางพระพุทธศาสนาแฝงอยู่อย่างลึกซึ้งและชัดเจน แก่นเรื่องหลักของเรื่องนี้ซึ่งมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้อ่านตีความได้ไม่ยากคือ “ชะตากรรม” ชีวิตมนุษย์มีพฤติกรรมและชะตากรรมเป็นของตนเอง คนเราเกิดมาเพื่อชดใช้เวรกรรม สร้างกรรมขึ้นมาใหม่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น ผู้แต่งได้ตั้งคำถามถึงอุบัติการณ์ครั้งนี้ และได้เฉลยไว้ในตอนท้ายของเรื่องว่า

“ ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง และกรรมนั้นก็พามาถึงอวสานอันเดียวกัน แต่กรรมนั้นคือกรรมใดเล่า ที่พาเอาความตายมาถึงคนเป็นอันมากในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่เราผู้มิใช่พรหมพอจะมองเห็นได้นั้นก็มีแต่อย่างเดียว คือมรณะซึ่งทุกคนกลัวเกรงนั้น ในบางกรณีก็เป็นการลงโทษอย่างแรงของกรรมอันชั่ว บางครั้งก็เป็นผลสนองตอบแทนกรรมอันดีบริสุทธิ์ บางคราวก็เป็นกุญแจไขปัญหา และบางโอกาสก็เป็นยาสมานแผล ในเมื่อยาอย่างอื่นไม่สามารถรักษาให้หายได้”

ความรู้สึกของผู้อ่านหลังจากอ่านจบแล้วจะเกิดความครั่นคร้ามในชะตากรรมของตัวละครเหล่านั้น และย้อนกลับไปพินิจพิเคราะห์ตนเองว่าเราเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเองหรือสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นผู้ลิขิต ผู้อ่านจะเกิดอาการปลงและทำใจยอมรับในความจริงที่ว่า ชีวิตคนเราเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ยั่งยืน ต่อให้ร่ำรวยยศถาบรรดาศักดิ์แค่ไหน สุดท้ายทุกชีวิตก็ต้องจบลงที่ความตาย ไม่มีใครที่สามารถหนีพ้นวัฏจักรนี้ไปได้ เหตุผลที่ผู้แต่งตั้งใจให้ตัวละครต่างจบชีวิตในน้ำอาจเพราะต้องการเปรียบการไหลไปเรื่อยๆของกระแสน้ำกับกระแสธารแห่งชีวิตก็เป็นได้

เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้คล้ายโศกนาฏกรรม จึงมีการบอกนัยยะเปรียบเทียบเป็นนัยของลางร้าย(Foreshadow) ตรงที่

“เรือลำนั้นคว่ำลงทันที เครื่องยนต์ในเรือคงเดินต่อไปสักครู่หนึ่ง สั่นสะเทือนอย่างแรงแล้วก็หยุดเงียบ เหมือนกับหัวใจสัตว์ที่เต้นต่อสู้อย่างแรงเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ต้องหยุดลงเมื่อความตายมาถึงตัว”

ประโยคนี้เล่าสถานการณ์จริงของเรือที่กำลังจม มีการเปรียบเรือกับสัตว์ การสั่นสะเทือนอย่างแรงของเครื่องยนต์เปรียบเหมือนสัตว์แสดงอาการตะเกียกตะกายที่จะมีชีวิตรอดตามสัญชาตญาณ

ฉาก ในนวนิยายเรื่องหลายชีวิตนั้น ผู้แต่งได้บรรยายถึงพฤติการณ์ในสมัยของผู้แต่งเอง ลักษณะของฉากกล่าวถึงบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โรงสีข้าว คุ้งน้ำ ที่เรือโดยสารได้แล่นผ่านในยามค่ำคืนซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายหลักแม้ในปัจจุบันก็ตาม จะเห็นว่าพฤติการณ์ในสมัยผู้แต่งเอง (เมื่อสมัย 50ปีมาแล้ว) กับสมัยปัจจุบันมีความแตกต่างกันไม่มากนัก

แต่การเปิดเรื่องของหลายชีวิตมีความโดดเด่นที่การพรรณนาฉาก มีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และมีสัมผัส ดังตัวอย่างประโยคต่อไปนี้

“ คนโดยสารบางคนงอตัวเอนลงหลับในเนื้อที่เท่าที่จะพอหาได้ บางคนก็นั่งกอดเข่าเหม่อมองไปข้างหน้า”

“ เสียงใครหวีดร้อง เสียงคนตะโกน เสียงเด็กร้องจ้าขึ้นด้วยความตกใจ”

“ทุกคนถลันตัวพุ่งเข้าใส่กราบที่ไม่ได้เอียง ทันใดนั้นเรือก็โคลงกลับมาอีกทางหนึ่งด้วยกำลังถ่วงสุดเหวี่ยง”

จะเห็นว่าการเลือกสรรคำดีมาก ใช้คำที่เห็นภาพชัดเจน มีการใช้คำน้อยแต่กินความมาก มีความกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ภาษาของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นภาษาที่มีพลังของการอธิบาย สามารถสร้างภาพในใจ (Mental picture) ให้กับผู้อ่าน ผู้อ่านจะรู้สึกว่าตนเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง เป็นผู้สังเกตการณ์จึงเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง เป็นอัจฉริยภาพของผู้แต่งในการเลือกใช้ภาษาสื่อภาพ สื่อความคิด และสื่ออารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษาเช่นนี้จะพบในงานของท่านเกือบทุกเล่ม สรุปแล้วสิ่งเหล่านี้คือการใช้ภาษาที่มีวรรณศิลป์นั่นเอง

นอกจากนี้ยังพบการใช้คำเปรียบเทียบที่ดี มีความชัดเจนและให้อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น

“ แต่เรือยนต์ลำนั้นก็ยังแล่นก้าวหน้าคืบคลานออกไปด้วยความพยายามเหมือนกับว่าเป็นสัตว์มีที่ชีวิตที่ถูกบรรทุกด้วยสัมภาระอันหนัก และถูกต้อนตีให้เดินไปตามทางที่ลำบากกันดาร”

“ท้องน้ำตรงนั้นมืดสนิท ทั้งฝนและพายุดูเหมือนจะเพิ่มกำลังแรงขึ้นดุจว่ามัจจุราชนั้นยินดีในชัยชนะของตน”

กลวิธีการนำเสนอนวนิยายเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เราจะพบวิธีการนำเสนอในรูปแบบนี้ได้ไม่บ่อยนักในวรรณเรื่องอื่นๆ การนำเสนอเรื่องนี้มีโครงเรื่องใหญ่ คือเรือโดยสารลำหนึ่งบรรทุกผู้คนแล้วเรือล่ม คนตายด้วยกันหมด แล้วก็มีโครงเรื่องรอง เมื่อแยกโครงเรื่องรองออกแล้ว ก็จะมีลักษณะของเรื่องสั้น แต่เรื่องนี้มีเอกภาพคือทุกคนมีจุดจบเหมือนกันคือความตาย ซึ่งนี่คือลักษณะของนวนิยาย ไม่ใช่เรื่องสั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เองได้ตอบปัญหาประจำวันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2595 เพียงว่า “เรื่องหลายชีวิตไม่ใช่หนังสือที่รวบรวมนวนิยายเรื่องสั้น แต่ทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของโครงนวนิยายเรื่องยาว จึงต้องรักษาโครงนั้นไว้ ตอนจบแต่ละชีวิตจึงต้องจมน้ำตายในเรือลำนั้นทุกคนไป”


กลวิธีเกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง เปิดเรื่องจากจุดหักเหของเรื่อง คือเรือล่ม ทุกคนตาย แล้วเล่าย้อนไปในอดีตของตัวละครแต่ละตัวว่ามีกำเนิดอย่างไร มีพฤติกรรมและมีความคิดอย่างไร การเล่าเรื่องประเภทนี้เรียกว่า การเล่าเรื่องย้อนต้น(Flash back) สำหรับโครงเรื่องย่อยแต่ละโครง มีการผูกเรื่องให้น่าสนใจ มีเหตุการณ์ให้ลุ้นระทึกและพลิกความคาดหมายอยู่เสมอ เช่นในกรณีของลินจง ใครเลยจะรู้ว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข มีสามีที่ดี และตัวลินจงเองก็ไมได้ทำความชั่วอะไร กลับต้องเผชิญความเจ็บปวดและทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัส สามีตาย ลูกคนเดียวก็ปัญญาอ่อน เหมือนเวรซ้ำกรรมซัดจริงๆ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความใคร่รู้เรื่องต่อไป ความขัดแย้งในการดำเนินเรื่องสมเหตุสมผล

หลายชีวิต นับว่าได้รับความสำเร็จจากผู้อ่านจำนวนมาก เพราะไม่มีใครสามารถปฏิเสธสัจจธรรมชีวิตไปได้ ว่าทุกชีวิตย่อมสิ้นสุดลงที่ความตาย จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ผุ้โง่เขลาและเฉาโฉดที่เดินตามกระแสแห่งกิเลสด้วยความยินยอมพร้อมใจต้องหันย้อนมาพินิจพิจารณาความเป็นไปในด้านมืดของตัวตนอย่างจริงจังเสียที และทำใจยอมรับในชะตากรรมที่ไม่คาดคิดว่าจะได้ประสบพบเจอ พร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่า "ชีวิตที่เป็นอยุ่ทุกวันนี้ เราลิขิตเองจริงหรือ ?"

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ความจริงของแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก “ จินดามณี ”




ภาคการศึกษาที่แล้วได้ลงเรียนรายวิชาพัฒนาการแบบเรียนภาษาและวรรณคดีไทย สอนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วีรฉัตร วรรณดี ได้ศึกษาแบบเรียนภาษาไทยอย่างละเอียดถึง4เล่มด้วยกัน นั่นคือ จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร แบบเรียนเร็วของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสยามไวยากรณ์ของพระยาอุปกิตศิลปะสาร “จินดามณี”เป็นแบบเรียนเล่มแรกที่เราเรียนในรายวิชานี้ หลังจากที่ได้ยินชื่อบ่อยครั้งในสมัยเรียนชั้นประถมและมัธยม เมื่อได้สัมผัสกับของจริงแล้วทำให้รู้สึกว่า ผู้แต่งแบบเรียนเล่มนี้“เยี่ยม”จริงๆ สมกับที่เป็นปราชญ์แผ่นดินโดยแท้ จะว่าไปจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีก็มีอายุอานามกว่าสี่ร้อยปีแล้ว ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ก็คงจะหาใช่เล่มที่ใช้เป็นต้นฉบับเล่าเรียนกันในสมัยนั้นไม่ จึงเกิดข้อสันนิษฐานที่ว่า


“หนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี (จินดามณีเล่ม1) ที่พิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบันมิใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สืบทอดมาจากต้นฉบับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”


การที่มีผู้คาดกันว่าหนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี (จินดามณีเล่ม1) ที่พิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบันมิใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สืบทอดมาจากต้นฉบับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอาจเนื่องมาจากหนังสือจินดามณีนั้นเป็นแบบเรียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ต้องการศึกษาจึงต้องคัดลอกเนื้อหาจากต้นฉบับลงสมุดไทยเอาเอง ดังนั้นเมื่อคัดลอกสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยก็เกิดความคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้เมื่อเจ้าของสมุดได้รับความรู้มาใหม่หรือคิดอะไรได้ใหม่ก็จะเพิ่มเติมลงไปในสมุดนั้น หรือเมื่อสมุดขาดก็เอามาปะติดปะต่อใหม่โดยไม่ได้ดูการเรียงลำดับหน้า อาจเอาต้นต่อกลาง กลางต่อท้ายปะปนกันไปหมด หรือในสมัยหลังอาจมีการคัดลอกหรือจดจารใหม่ ทำให้เกิดความคาดเคลื่อนขึ้น ดังที่ได้พบข้อสังเกตต่อไปนี้


1. การลำดับเนื้อหาที่ไม่เรียงไปตามความยากง่าย
ขึ้นต้นด้วยเรื่อง อักษรศัพท์ ซึ่งรวบรวมคำลักษณะต่างๆเช่น คำพ้องเสียง คำพ้องรูป
คำพ้องความหมาย เป็นต้น มาเรียงไว้

ตามด้วยเรื่องความรู้เกี่ยวกับอักขรวิธี ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการเขียน
และอ่านหนังสือไทย โดยขึ้นต้นเนื้อหาด้วยฉันท์ที่ประมวลศัพท์ที่ใช้ ส ศ ษ และคำที่ใช้
ใ ไ ตามด้วยความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรได้แก่ สระและพยัญชนะ โดยจำแนกพยัญชนะออก
เป็น 3 หมู่แล้วจึงตามด้วยการแจกลูกและการผันอักษรซึ่งผันเสียงวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง
ในตอนท้ายของเรื่องมีโคลงสี่สุภาพสรุปความรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมทั้ง
มีโคลงอธิบายเครื่องหมายวรรณยุกต์ และคำเป็นคำตาย

ในส่วนสุดท้ายเป็นการอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน ฉันท์ โคลง
ซึ่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆอยู่ปะปนกันเช่นกาพย์ขับไม้แทรกระหว่าง
โคลงกลบทสกัดแคร่กับโคลงขับไม้ เป็นต้น

จะเห็นว่าการเรียงลำดับเนื้อหาไม่เรียงไปตามความยากง่าย ตามความเป็นจริงแล้วผู้เริ่มเรียนต้องเรียนความรู้เกี่ยวกับอักขรวิธี ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานสู่การอ่าน เขียน สะกดคำอย่างถูกต้องแล้วจึงเรียนเรื่องอักษรศัพท์และการแต่งคำประพันธ์

2। เนื้อหาเรื่องเครื่องหมายวรรณยุกต์

ไม่ได้อธิบายแยกไว้โดดๆแต่มีการกล่าวถึงวรรณยุกต์ในตอนต้นของการผันอักษร โดยอธิบายเครื่องหมายวรรณยุกต์2 รูปคือ ( ่ )ไม้ค้อนหางวัว และ( ้ )ไม้โท แต่ในโคลงตอนท้ายปรากฏวรรณยุกต์ทั้ง4 รูปคือ ่ ้ ๊ ๋ และพบในโคลงที่คาดว่าจะมีผู้รู้แต่งขึ้นมาภายหลังเพราะมีส่วนคล้ายกับฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เลขเจ็ดคือรูปไม้ ตรีหมาย ก๊า

ห้าจัตวากาปลาย ที่เท้า ก๋า

อักษรกลางเบาราย เป็นฮ่า คำนา
นักปราชจงรู้เค้า ดั่งนี้อักษรไทย ฯ[1]

3. เนื้อหาและข้อความที่แสดงว่าเขียนขึ้นภายหลัง เช่น
ญ ย
นักปราช ส ศ ษ
ณ น
กิน บ ครัน คนตาม เร่งไร้
เป็นเสมียนหมู่ถามความ กินง่าย

ส แล นี้ใช้ ยิ่งค้าเมืองจีน ฯ [2]

โคลงบทนี้อาจแต่งเสริมขึ้นใหม่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าขายกับชาวจีนเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นการบันทึกค่านิยมของคนที่เห็นว่าการรู้หนังสือ เอื้อต่อการเป็นเสมียน อาจเป็นอาชีพที่แสดงความรู้และได้เงินดี โคลงบทนี้ยังแสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นเศรษฐกิจดีและมีการติดต่อกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีน ที่สร้างรายได้ต่ออาณาจักรสยามมาก


4. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งแตกต่างกัน

ในตอนท้ายของการผันอักษรมีการบอกที่มาของผู้แต่งว่า


“ จินดามุนีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุกโขทัยแต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าลพบุรีย” [3]

และได้กล่าวถึงอีกครั้งในตอนอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ โดยแต่งเป็นกาพย์สุรางคณางค์ 28 ว่า

“ ขุนปราชหนึ่งเลิศ เปนโหรประเสริฐ ปัญญาชำนาญ ชาวโอฆบุรี สวัสดีพิศาล ข้าพระภูบาล เจ้ากรุงพระนคร” [4]

จากข้อความตอนนี้จะเห็นว่าข้อมูลผู้แต่งไม่ตรงกันเพราะอาจจะแต่งเพิ่มในภายหลังหรือเดิมพระโหราธิบดีนี้อยู่เมืองสุโขทัย แล้วได้ย้ายมาอยู่เมืองโอฆบุรี(พิจิตร)ในภายหลังก็เป็นได้

5. มีคำประพันธ์ที่กล่าวว่า จินดามณีมีถึง5เล่มสมุดไทย

จากกลบทสิริวิบูลกิติ์ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) กวีในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีข้อความกล่าวถึงจินดามณีว่า


“…จินดามณี มีเสร็จสุด สมุดเล่มหนึ่ง ถึงเล่มสอง ต้องเล่มสาม ตามเล่มสี่ มีเล่มห้า…” [5]
หากจินดามณีเดิมมีถึง5เล่มจริงหนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นตำราที่มีเนื้อหาละเอียดและมีการอธิบายเป็นลำดับขั้นตอนอย่างมีระบบระเบียบกว่าฉบับที่หลงเหลือมาในปัจจุบันซึ่งมีเพียง1หรือ2 เล่มสมุดไทยเท่านั้น และเนื้อหาก็ไม่เป็นระเบียบและไม่ปะติดปะต่อกัน จึงเชื่อว่ามีการสูญหายของต้นฉบับเป็นแน่แท้ เพราะ “ ใช่วิสัยคนขนาด ‘ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ’ จะเขียนหนังสืออย่างจินดามณีเท่าที่มีอยู่ในบัดนี้ ”[6]

การศึกษาแบบเรียนจินดามณีในรายวิชานี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้สึกษาตามประเด็นที่อาจารย์วางไว้เท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือพัฒนาการทางภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รวมทั้งหลักเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่ผู้แต่งบรรจุลงในแบบเรียน ฉันคิดว่าผู้แต่งอาจตั้งตามสิ่งที่ตนเรียนรู้และสัมผัสได้ มีความเห็นอย่างไรก็บรรจุลงไปอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงจินตนาการและความสามารถในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และนักเรียนก็สามารถเรียนรู้ได้เร็วอีกด้วย

ลักษณะตัวอักษรในแบบเรียนจินดามณี
[1] จินดามณี เล่ม1-2 กับบันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ,(พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร,2514) หน้า30.
[2] เรื่องเดียวกัน ,หน้า27.
[3] เรื่องเดียวกัน,หน้า 27.
[4] เรืองเดียวกัน,หน้า 33.
[5] ชุมนุมตำรากลอนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ,หน้า183.
[6] ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, พระคัมภีร์จินดามณีของพระโหราธิบดี…,หน้า25

พระทิณวงศ์ มิติใหม่ของการเปลี่ยนแปลงของละครจักรๆวงศ์ๆ


หากพูดถึงละครจักรๆวงศ์ๆ

หลายคนคงนึกถึงในวัยเด็กที่ต้องมาเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เวลาแปดนาฬิกา ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่องเจ็ด

หลายคนคงนึกถึงละครที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในนิทานพื้นบ้าน แต่งกายด้วยชุดไทยวิจิตรงดงาม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ปราบปรามเหล่าอธรรม

หลายคนเคยเอาใจช่วยขวานฟ้าหน้าดำ เคยแอบลุ้นให้นางยอพระกลิ่นคืนดีกับพระมณีพิชัย หรืออาจจะเคยคิดว่าตนเองเป็นนางมโนราห์เสียเอง

ละครจักรๆวงศ์ๆมีหลากหลายมนต์เสน่ห์ที่ตรึงผู้ชมให้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบละครที่บ่งบอกเนื้อเรื่องย่อของละครเรื่องนั้นไปในตัว ทำให้ผู้ชมพอจะทราบเนื้อเรื่องคร่าวๆจากบทเพลงอันไพเราะนั้น ฉากและบรรยากาศของเรื่องแสดงถึงความเป็นไทยและสะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของคนไทย เครื่องแต่งกายอันงดงามก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ละครจักรๆวงศ์ๆมีความโดดเด่นและสะกดสายตาของผู้ชมมาโดยตลอดนอกจากนี้ลักษณะเด่นของละครจักรๆวงศ์ๆที่หาไม่ได้ในละครประเภทอื่นก็คือการอ่านบทกลอนเป็นทำนองเสนาะแทรกในระหว่างดำเนินเรื่อง เป็นวิธีหนึ่งในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครและบอกถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

จวบจนปัจจุบันละครจักรๆวงศ์ๆก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ทว่าได้เดินตามกระแสความนิยมของสังคมไปด้วย ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเป็นตัวลดทอนคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยลงอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากละคร “พระทิณวงศ์” ที่แพร่ภาพอยู่ในขณะนี้

ว่ากันตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับของนักแสดง จะเห็นว่าพระทิณวงศ์ในยุคนี้ไว้ผมรองทรงไม่ต่างจากดาราเกาหลีที่เป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีการมวยผม สวมมงกุฎ คงมีเพียงเครื่องประดับสวมหน้าผากเท่านั้น ดูแล้วขาดความสง่างามอย่างที่ตัวละครเอกควรจะเป็น ส่วนนักแสดงหญิงแต่ละคนทรงผมไม่ซ้ำแบบกันเลย ดูแล้วเหมือนหลุดมาจากเวทีเดินแบบเสียมากกว่า เครื่องประดับก็ดูแปลกตาไป ตัวละครหญิงไม่สวมชฎากันแล้ว

สถานที่ที่สมมุติให้เป็นพระราชวังนั้นเป็นอาคารปูนสีขาวทรงยุโรปซึ่งขาดความวิจิตรงดงามอ่อนช้อยสมกับความเป็นไทยและดูแล้วขัดกับตัวเรื่องเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งบทเจรจาและสรรพนามเรียกตัวละครยังเปลี่ยนไป ไม่มีการเรียก “พระโอรส” หรือ “พระธิดา” แล้ว ในเรื่องนี้เรียก “องค์ชาย”หรือ “องค์หญิง” แทน คนเขียนบทคงได้อิทธิพลมาจากละครจีน เกาหลีที่เกี่ยวกับเจ้าหญิงเจ้าชายและโด่งดังเป็นพลุแตกในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดของละครจักรๆวงศ์ๆคือการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกและเทคนิคพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอสูรกาย การปล่อยพลังทำลายล้าง ถึงแม้จะสมจริงกว่าในอดีตแต่ผู้ชมเองรู้สึกไม่ต่างกับการถูกหลอกให้ดูภาพยนตร์ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน เพราะดูแล้วขัดต่อความรู้สึกและไม่เกิดความประทับใจในการใช้เทคนิคตระการตานี้เลย

นอกจากนี้เนื้อเรื่องที่เน้นการชิงรักหักสวาท พี่ชายกับน้องชายรักผู้หญิงคนเดียวกัน ทั้งๆที่พี่ชายก็มีภรรยาอยู่แล้ว มีการตบตีกันระหว่างผู้หญิงเพื่อแย่งผู้ชายคนเดียว ละครเรื่องนี้ดูแล้วแทบไม่ต่างจากละครหลังข่าวทีเดียว ผู้จัดละครคงลืมไปว่าผู้ชมส่วนใหญ่ที่นั่งอยู่หน้าจอทีวีนั้นเป็นเด็ก หากไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำขณะดูอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมได้

สำหรับข้าพเจ้าเองก็ติดตามละครแนวนี้มาตั้งแต่เด็ก และยังประทับใจกับทุกองค์ประกอบที่แสดงถึงความเป็นไทย ทั้งดนตรีประกอบ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมทั้งฉากและบรรยากาศของละคร ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่ปฏิเสธสิ่งใหม่ๆที่ผู้จัดละครพยายามแต่งเสริมให้มีสีสันยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่มีอยู่เดิมก็ดีอยู่แล้ว มีความคลาสสิคและมีเสน่ห์ในตัวมันเอง การปรับเปลี่ยนนั้นสามารถเป็นไปได้แต่ต้องทำอย่างเหมาะสม ไม่มากไปจนดูขัดหูขัดตาและทำให้แก่นแท้ของละครถูกเบี่ยงเบนไป ทั้งโครงเรื่องและแนวคิดสำคัญของเรื่องต้องคงอยู่เพื่อให้เป็นจุดเด่นของละครเรื่องนั้นๆ

อย่างไรก็ตามแม้องค์ประกอบของละครจะเปลี่ยนไปแต่ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อคิดที่ละครเรื่องนี้มอบให้กับผู้ชมยังคงอยู่ คำกล่าวที่ว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง” สามารถใช้ได้ในละครเรื่องนี้ พระทิณวงศ์เป็นอีกเรื่องที่นำเสนอแง่คิดในการดำเนินชีวิต และสะท้อนสังคมปัจจุบันได้ดี คนทุกคนไม่ว่าจะใหญ่โตมาจากไหนก็ย่อมทำผิดพลาดได้เสมอ ขอแค่เพียงยอมรับผิดเมื่อทำผิดและพร้อมจะแก้ไขสิ่งที่ผิดไปให้ดีขึ้น เหมือนกับพระทิณวงศ์ผู้เชื่อมั่นในความสามารถของตนเองและไม่ยอมก้มหัวให้ใคร ไม่ยอมรับฟังใคร ผู้เป็นใหญ่ไม่ควรจะมีลักษณะเช่นนี้ เพราะการเชื่อมั่นในตนเองมากไปก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ง่าย นอกจากนี้การทำอะไรตามใจตนเองมากเกินไปก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน คนเราต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจตัวเอง มีสติรอบคอบ คิดหน้าคิดหลังอยู่ตลอดเวลาว่าการกระทำของเราจะทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับผลกระทบนั้นๆหรือไม่

เป็นเวลากว่า40ปีแล้วที่ละครจักรๆวงศ์ๆได้ยืนหยัดอยู่บนถนนสายบันเทิงนี้ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสิ่งที่คู่กับกาลเวลาเสมอ “การอนุรักษ์” คงเป็นขั้วตรงข้ามกับการพัฒนา แต่ขอให้การพัฒนานั้นนำไปสู่สิ่งที่ดีในสังคม มิใช่มุ่งแต่ผลกำไรของผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียว เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนจะได้รู้สึกรักและหวงแหนสิ่งที่เป็นรากเหง้า เป็นเงาแห่งความเจริญในอดีตที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นและถ่ายทอดสู่ลูกหลานของตนด้วยความภาคภูมิใจ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ปีกแห่งความฝัน




คุณเคยใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย ปล่อยให้ชีวิตตกเป็นเครื่องมือของโชคชะตาโดยที่ไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ขัดขืนบ้างหรือไม่ เคยไหมกับการถูกคนอื่นมาควบคุม และกำหนดความเป็นไปของชีวิตเรา แต่ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิได้เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง ตัวฉันเองก็เคยตั้งคำถามนี้อยู่ในใจเช่นกัน


เมื่อฉันศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีหลายคนถามฉันถึงเรื่องการเลือกเรียนแผนการเรียนศิลป์ หรือวิทยาศาสตร์ ฉันมีคำตอบอยู่ในใจเป็นเวลานานแล้ว ฉันเองอยากเรียนศิลป์-คำนวณ เพราะเป็นสาขาที่ฉันถนัดและสามารถเรียนได้ดี เมื่ออาของฉันซึ่งเป็นครูสอนโรงเรียนมัธยมศึกษาอีกแห่งหนึ่งได้ฟังคำตอบนี้ เขาส่ายหน้าแล้วบอกให้ฉันเรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า “เรียนสายวิทย์แล้วเลือกเรียนต่อได้กว้างกว่า” ช่วงเวลานั้นฉันสับสนตัวเองมาก จุดยืนของฉันเริ่มขุ่นมัวลง ฉันถามตัวเองในเวลานั้นว่า ฉันจะทำตามความต้องการของตนเองหรือทำตามความต้องการของอาดี แต่ถึงกระนั้นฉันได้ยื่นความจำนงในใบสมัครสอบเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ว่าต้องการศึกษาในแผนการเรียนศิลป์-คำนวณ


เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง ในวันประกาศว่าจะได้อยู่ห้องไหนเพื่อนของฉันโทรศัพท์มาแสดงความยินดีที่ฉันได้เรียนห้อง 1 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ อาจารย์บอกว่าคะแนนของฉันสูงเป็นที่ 2 ของระดับชั้น ฉันแทบไม่เชื่อหูตัวเองทีเดียว คำถามมากมายดังขึ้นในใจ “เข้ามาได้ก็คงเรียนได้ แต่ใจชอบรึป่าว” “ทำไมถึงทิ้งความฝันตัวเอง” ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามฉันก็ไม่ใจแข็งพอที่จะย้ายแผนการเรียน พ่อแม่ของฉันสนับสนุนเต็มที่ ฉันเห็นสีหน้าอันมีความสุขของท่าน ฉันจึงต้องอดทนเรียนอย่างเต็มที่ เนื่องด้วยธรรมชาติของฉันไม่ใช่คนที่ถนัดด้านการคิดคำนวณ ฉันจึงต้องขยันเป็นพิเศษ ซึ่งผลของความขยันของฉันทำให้ฉันได้เกรด 3.94 แต่จิตใต้สำนึกบอกกับฉันว่า “นี่ไม่ใช่ตัวฉัน มันไม่ใช่ความต้องการของเรา ตัวเธอมันไม่ใช่สายวิทย์” ฉันพยายามดับความคิดฟุ้งซ่านนี้แล้วตั้งใจเรียนต่อไป


ช่วงเวลาของการเตรียมตัวสอบเอ็นทรานส์มาถึง เพื่อนๆทุกคนเร่งอ่านหนังสือเพื่อให้จบทันการสอบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฉันเองเริ่มต้นด้วยวิชาที่ไม่ถนัดอย่างวิชาฟิสิกส์ แต่แล้วก็ล้มเหลวเพราะความเบื่อหน่าย ฉันได้ขอให้อาของฉันสอนวิชาสังคมให้ ฉันรู้สึกสนุกกับการทำข้อสอบวิชาสังคมและภาษาไทยมาก เสียงเดิมได้ดังขึ้นในใจว่า “นี่แหละตัวฉัน” อาของฉันบอกให้ฉันเรียนเภสัชศาสตร์ เพราะจบมางานสบายและรายได้ดี ฉันแย้งขึ้นมาว่า ฉันอยากเรียนอักษรศาสตร์ แต่อาไม่สนับสนุน และบอกว่าคะแนนสอบออกเมื่อไหร่ค่อยมาคุยกันอีกที “แม่อยากให้ลูกเรียนบริหารธุรกิจนะ จบมาจะได้ช่วยแม่ทำงานได้”
“ไม่มีอาชีพไหนดีไปกว่าธุรกิจส่วนตัวแล้ว เรียนบริหารเถอะ”
พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังให้ฉันเรียนคณะบริหารธุรกิจและฉันก็สามารถสอบเข้าโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเข้าศึกษาต่อในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉันและคนในครอบครัวตื่นเต้นกับข่าวนี้มาก ตัวฉันเองถึงแม้จะมิได้สนใจสายงานในคณะนี้มากนัก แต่เมื่อพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ ความรู้สึกดีๆก็ก่อตัวขึ้นเสมอ แหล่งวัฒนธรรมล้านนาอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มองไปทางใดก็เห็นแต่ภูเขาสูงตระหง่านโอบล้อมเมือง บรรยากาศสดชื่นไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป สถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่สร้างความประทับใจไม่รู้ลืม ฉันจึงยืนยันการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่หลังจากนั้นคำถามเดิมๆได้เข้ามารบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลา “ฉันคือใคร ต้องการอะไร จะไปไหน เพื่ออะไร”


จากนั้นฉันจึงเริ่มต้นใหม่กับการอ่านหนังสือ ฉันวางแผนการอ่านหนังสืออย่างเป็นระบบ และเอาจริงเอาจังกับข้อสอบวิชาต่างๆอีกครั้ง ด้วยจุดมุ่งหมายเดียว ตามความฝันของตัวเองไป ถึงจะยาก แต่ก็ไม่เกินความพยายาม


แล้ววันประกาศผลเอนทรานส์ก็มาถึง นักเรียนทั่วประเทศต่างรอคอยอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างใจจดจ่อ ฉันก็เช่นเดียวกัน เสียงกรีดร้องดังลั่นบ้านด้วยความดีใจ ทุกคนในบ้านหันมามองฉันเป็นตาเดียวกัน ฉันยิ้มแล้วบอกกับทุกคนว่า “ นุ้ยติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นุ้ยเป็นลูกทับแก้วแล้ว”


เมื่อการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ผ่านไป แต่มีบทกวีบทหนึ่งยังอยู่ในใจของฉัน
“ ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว ”


บทกวีบทนี้มีที่มาจากหนังสือฉันจึงมาหาความหมายของอาจารย์วิทยากร เชียงกูร ฉันจำได้ขึ้นใจเลยทีเดียว แล้วฉันก็บอกกับตัวเองว่า “ ไม่ มันจะไม่ใช่แค่กระดาษใบเดียวอย่างแน่นอน ”


ขณะที่ฉันเดินผ่านศาลาสระแก้ว สะพานไม้ที่ทอดยาวกลางสระแก้วช่างสวยงามสะกดสายตายิ่งนัก ในใจของฉันได้พูดขึ้นมาว่า “ ในที่สุดเราก็ซื่อสัตย์ต่อความใฝ่ฝันของตัวเองซะที ”

ความฝัน จะไม่มีวันสัมผัสได้ ถ้าคุณไม่ลงมือปั้นแล้วประดิดประดอยด้วยตนเอง
...กล้าที่จะก้าว ...เมื่อคุณมีก้าวแรกเป็นของตัวเองแล้ว ก้าวต่อไปจะมีอะไรน่ากลัวอีกล่ะ


วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

ยอดดอยในรอยใจ



มู่มวลดอกหญ้าที่ขึ้นสองฝั่งถนนลาดยางนั้นพลิ้วไหวอย่างนุ่มนวลตามแรงลมที่พัดมาระลอกแล้วระลอกเล่า มีบางส่วนถูกมือน้อยๆของเด็กๆชายหญิงรูดกลีบเล็กๆสีขาวบริสุทธิ์โยนขึ้นเหนือศีรษะ ละอองเกสรล่องลอยตามแรงลมพร้อมกับเสียงหัวเราะสดใสดังกังวานไปทั่วบริเวณที่พวกเราเหยียบย่างถึง



ระยะทางกว่า 3กิโลเมตรจากโรงเรียนบ้านห้วยทรายขาว ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย สู่บ้านห้วยน้ำรินนั้นต้องข้ามภูเขาถึง2ลูก ไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆเลยสำหรับการเดินเท้าของคนพื้นราบเช่นฉัน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับหนูน้อยชาวเขาเผ่าอาข่าซึ่งเชี่ยวชาญการเดินทางบนพื้นที่สูง พวกเขามีความสุขที่จะจับมือผู้มาเยือนเดินไปด้วยกันตามทางสายนั้น รอยยิ้มที่พวกเขามอบให้ดูแจ่มใส จริงใจและมีชีวิตชีวา
ฉันมาที่นี่ในฐานะ “ครูอาสา”
มาที่นี่ เพื่อที่จะตามหาสิ่งที่ขาดหายไปของชีวิต
ฉันได้พบแล้วที่นี่ “บ้านห้วยน้ำริน”

…เป็นครั้งแรกที่แทนตัวเองว่า "ครู" ได้อย่างสนิทปาก
อาจเป็นเพราะ"พวกเขา" มองเราเป็นครูได้อย่างสนิทใจ…



สิ่งแรกที่สะดุดสายตาและบ่งบอกให้รู้ว่าถึงที่หมายแล้วคือ ประตูหมู่บ้านหรือที่เรียกกันว่าประตูผี สร้างขึ้นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและภูตผีปีศาจไม่ให้เข้ามาทำอันตรายคนในหมู่บ้าน ข้างประตูหมู่บ้านมีตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปชายหญิงแสดงถึงต้นกำเนิดของชาวอาข่า



ฉันอาศัยอยู่กับครอบครัวของน้องนาย เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่3 บ้านของเธอเป็นบ้านชั้นเดียว ก่ออิฐอย่างหยาบๆไว้ ภายในมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆเช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี ตู้เย็น และโทรศัพท์มือถือ มีห้องนอน2ห้อง ด้านหลังเป็นห้องครัว มีหลายอย่างที่ฉันไม่คาดคิดว่าจะพบที่นี่ สิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญ” กำลังคืบคลานเข้ามาในสังคมแห่งนี้และได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว
คงไม่เป็นไร แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป
หากวิถีแห่งใจยังคงเดิม

ฉันเรียกแม่ของน้องนายเป็นภาษาอาข่าว่า “อามะ” และเรียกพ่อว่า “อาดะ” พวกเขาพูดภาษาไทยได้และต้อนรับฉันอย่างดี รอยยิ้มที่อบอุ่นเป็นมิตรทำให้หัวใจของฉันแช่มชื่นขึ้นอย่างประหลาด เย็นวันนั้นฉันต้องแสดงเสน่ห์ปลายจวักเป็นมื้อแรก ที่นี่ใช้เตาอั้งโล่ที่มีกระบะดินอัดแน่นรองข้างใต้และใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยมีเพียงเกลือและผงชูรสเท่านั้นที่เป็นเครื่องปรุงรส



เมื่อทุกคนในครอบครัวมาพร้อมหน้าจึงเริ่มรับประทาน อาหารบนโตกไม้ไผ่สานมีต้มจืดและไข่ทอดฝีมือฉัน และแตงโมอ่อนต้มพร้อมน้ำพริกถั่วเหลืองที่อามะคะยั้นคะยอให้ฉันชิม เธอตักข้าวให้ฉันพูนจานทีเดียว ข้าวไร่ที่ปลูกเองตำเองหุงเองนี้ ไม่ติดกันเป็นก้อนเหมือนข้าวเหนียว ไม่นุ่มร่วนเหมือนข้าวสวยและสีค่อนข้างขุ่น ก่อนรับประทานอาหารอามะ และอาดะต่างสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าตามความเชื่อในคริสต์ศาสนา ฉันมองไปรอบๆห้องเห็นรูปเคารพพระเยซูติดอยู่ อามะบอกว่าชาวอาข่าบ้านห้วยน้ำรินนี้นับถือศาสนาคริสต์และนับถือผีควบคู่กัน ชาวบ้านจะไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ทุกบ้านจะมีรูปเคารพพระเยซูและเคร่งครัดต่อศาสนามาก แต่เด็กๆเกือบทุกคนก็สามารถสวดบูชาพระรัตนตรัยได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำประจำเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ความคิดอย่างหนึ่งผุดขึ้นมาในใจ “โรงเรียน เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่านะ?”



หลังมื้ออาหารเด็กๆชวนฉันไปเดินเล่นรอบๆหมู่บ้าน เจ้ามัคคุเทศก์ตัวน้อยจับมือฉันเดินไปตามบ้านต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ไผ่ยกพื้นเตี้ย หลังคาทำด้วยหญ้าคา ชายหลังคาคลุมเกือบปิดบ้าน ตัวบ้านจะมีระเบียงหน้าบ้านสำหรับนั่งเล่น และทุกบ้านมีไฟฟ้าใช้แล้ว



บริเวณลานวัฒนธรรมที่เราใช้ทำกิจกรรมกันมีชิงช้าไม้ไผ่ขัดกัน4เสาสำหรับพิธีกรรมโล้ชิงช้า ตั้งตระหง่านท่ามกลางแสงดาวพร่างพรายในเวลานี้ และชิงช้าสวรรค์ที่ทำด้วยไม้เรียกว่า “กะลาล่าเซอ” ซึ่งอนุญาตให้คนทั่วไปเล่นได้ ความรู้สึกของฉันเมื่อได้เล่น“กะลาล่าเซอ”นี้ เหมือนอยู่สูงพอจะเอื้อมมือไปคว้าดาวได้ทีเดียว


ฉันและกลุ่มครูอาสาได้พูดคุยกับลุงอาตี๋ ผู้นำชุมชนบ้านห้วยน้ำริน ชายชราผมสีดอกเลาบอกเล่าความเป็นมาของชาวอาข่าด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ คนอาข่ามองชีวิตเป็นการสืบทอดหน้าที่กัน เด็กเกิดมาเป็นประกันว่าเผ่าจะไม่สูญพันธุ์ เติบใหญ่ขึ้นเป็นผู้สร้างเผ่าและเป็นผู้รักษาวีถีชีวิตอาข่า เมื่อตายจะกลายเป็นวิญญาณบรรพบุรุษคอยปกป้องลูกหลานต่อไป”



เนื่องจากชาวอาข่าไม่มีตัวหนังสือใช้ จึงไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาข่าก็มีตำนาน สุภาษิต ประเพณีพิธีกรรมมากมายที่ทำให้หมายรู้ในเผ่าพันธุ์ และซาบซึ้งในความเป็นอาข่าของตน สามารถสืบสาวรายงานบรรพบุรุษฝ่ายบิดาขึ้นไปได้ถึง“ต้นตระกูล” และรู้สึกว่าท่านเหล่านั้นก่อกำเนิดชีวิตพวกเขา และประทานวิชาความรู้ในการเลี้ยงชีพมาโดยตลอด จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะรักและหวงแหนสิ่งที่บรรพบุรุษให้มาและสืบทอดไว้ให้นานเท่านาน เพราะชาวอาข่ามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสายโซ่ที่ร้อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน



สิ่งที่ครูอาสาทุกคนอยากรู้คือกฎหรือข้อห้ามของเผ่าอาข่า ลุงอาตี๋พูดอย่างแจ่มใสว่า ผู้มาเยือนต้องให้ความเคารพในประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่า ห้ามจับต้องสิ่งของต่าง ๆเช่น ประตูผี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้า ชิงช้า ที่ตีเหล็ก ถ้าฝ่าฝืนจะต้องเสียหมู 1 ตัวและเหล้า เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมขอขมาที่ล่วงเกินโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม



ฉันจึงโล่งใจที่ยังไม่ได้กระทำการอะไรผิดกฎของหมู่บ้าน และคิดว่าชีวิตครูอาสาในหมู่บ้านห้วยน้ำรินของฉันคงจะเป็นไปอย่างราบรื่น



คืนนี้ฉันเดินกลับบ้านพร้อมเพื่อนครูอาสาอีกหลายคน เด็กๆส่วนมากง่วงนอนกลับบ้านไปก่อนหน้านี้แล้ว เสียงจักจั่นเรไรร้องระงมทั่วหมู่บ้าน แสงจันทร์สาดส่องยอดดอยเบื้องหน้าแลเห็นเงาสีทองของก้อนเมฆยามเคลื่อนมาทาทาบดวงจันทร์เป็นความงดงามที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ที่มีเพียงป่าคอนกรีตและแสงไฟประดิษฐ์เท่านั้น
…………….

ความหนาวเย็นลอดผ่านก้อนอิฐมายังผืนผ้าห่มที่คลุมกาย ปลุกฉันให้ตื่นจากการหลับใหล เสียงผ่าฟืนดังมาจากในครัวทำให้รู้ว่าอามะตื่นมาทำอาหารแล้ว ฉันเดินตรงไปยังครัวพลางถูมือเพิ่มความอบอุ่น ฉันยิ้มให้อามะและเป็นลูกมือในการทำอาหารมื้อนี้ ฉันมองควันไฟเหนือหม้อข้าวที่ลอยขึ้นไปเกาะหลังคาจนเป็นสีดำ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งเพราะควันไฟจะทำให้หลังคาหญ้าเหนียวทนมากขึ้นและทำให้ภายในบ้านไร้แมลงรบกวน



หลังมื้ออาหารครูอาสาและเด็กๆเดินไปโรงเรียนด้วยกัน ระยะทาง3 กิโลเมตรในวันนี้ดูเหมือนไม่ไกลนัก พวกเราไปทันโรงเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติพอดี จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูของฉันถูกปลุกขึ้นมาเป็นครั้งแรกในชีวิต มันเป็นสิ่งเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่สำหรับฉัน เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พวกดูมีความสุขมากเมื่อได้ฟังนิทาน ร้องเพลงและได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าพวกเขาจะขาดสื่อการสอนดีๆ แต่ฉันรู้สึกว่าพวกเขามีทั้งจินตนาการและ “ทักษะชีวิต”สูง เด็กๆแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สามารถเอาตัวรอดในสังคมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ฉันเชื่อว่าทักษะชีวิตต้องปลูกฝังควบคู่ไปกับทักษะการเรียน เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


.............................................


…เมื่อดาวหนึ่งดวงร่วงลงจากฟ้า
จะมีดวงตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้แทน เป็นเด็กผู้หญิง
เป็นเด็กผู้ชาย ส่องแววประกายเด็กมีความหมายเช่นดาว…
เพลงนี้เป็นเพลงที่เด็กๆและครูอาสาร้องประสานกันก้องลานวัฒนธรรม ท่ามกลางภูเขารายล้อม มีดวงดาวเป็นดังโมบายแขวนระยิบระยับยามค่ำคืน แม้ลมหนาวจะพัดผ่านร่างกายจนสะท้าน แต่ฉันเชื่อว่าในหัวใจของทุกคนคงจะอบอุ่นและอบอวลไปด้วยมิตรภาพและความอาลัยเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอีกไม่นาน เราทุกคนต่างก็ต้องเดินไปตามทางของตนเองอีกครั้ง



คืนนี้เหล่าอามะ อาดะและเด็กๆต่างใส่ชุดประจำเผ่ามาร่วมกิจกรรมกัน อามะและเด็กหญิงสวมหมวกสีดำ มีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเชิดขึ้นมาทางด้านหลัง ด้านหน้าประดับสายลูกปัดสลับกับสายกระดุมเงิน มีลูกบอลเงินล้อมกรอบใบหน้า และมีเหรียญและลูกปัดห้อยเป็นสายประบ่า ด้านหลังเสื้อประดับด้วยเศษผ้าหลากสีสลับลายปักงามวิจิตร มีกระดุมเปลือกหอย กระดุมเงิน และพู่ห้อย กระโปรงสีดำ ผ้าผูกเอวประดับเปลือกหอยและลูกเดือย ส่วนเสื้อของอาดะและเด็กชายมีลายปักประดับชายเสื้อโดยรอบ บางคนก็ปักประดับอย่างงดงามที่สาบหน้าและสวมกางเกงสีดำ อามะแสดงการเต้นประจำเผ่าให้ชมกัน ก่อนที่พวกเราจะเต้นตอกบอกร่วมกันอย่างสนุกสนาน



หลังเลิกกิจกรรมพวกเราเหล่าครูอาสาต่างมาประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกันในด้านต่างๆ มีปัญหามากมายอันเนื่องจากความเจริญและความพัฒนาทางวัตถุซึ่งเข้ามาและพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตพวกเขา ชาวบ้านยินดีรับความเจริญนั้นเพราะทำให้เขาสะดวกสบายขึ้น การมีโทรทัศน์ทำให้พวกเขาเปิดโลกทัศน์และรับรู้ข่าวสารต่างๆ แต่ทว่าลานวัฒนธรรมกลับเงียบเหงา มีเพียงภูผาและแสงดาวเท่านั้นที่ยังคงเดิม เสียงหัวเราะของเด็กๆและวัยรุ่นกำลังเลือนหายไป ในเมื่อวัยรุ่นต้องเข้าเมืองเพื่อไปเรียนต่อ บางส่วนไปหางานทำ ทั้งๆที่บางคนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ด้วยซ้ำ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ฉันก็ได้แต่หวังว่า สักวันบ้านห้วยน้ำรินและชุมชนชาวเขาเผ่าอื่นๆจะเข้มแข็งพอที่จะยืนด้วยตนเองได้ ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง สามารถสืบทอดและรักษาความเป็นอาข่าและสิ่งที่บรรพบุรุษปลูกฝังไว้ ดังลูกปัดแห่งวิถีอาข่าที่จะต้องร้อยให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้
…………….

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ไม่มีใครอยากให้มาถึง เด็กๆมาหาฉันตั้งแต่เช้าเพื่อจะช่วยยกกระเป๋าสัมภาระ อามะร้อยสร้อยข้อมือที่ทำด้วยเมล็ดพืชให้ฉัน พวกเราไปที่ลานวัฒนธรรมเพื่อร้องเพลงอำลา ครูอาสาต่างกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เด็กๆเดินมาส่งฉันและเพื่อนครูอาสาที่หน้าประตูหมู่บ้าน และยืนรอจนรถสองแถวคันสีน้ำเงินเคลื่อนที่จากไป เสียงของอามะก้องดังในใจฉัน “อามะไปหาครูไม่ได้ แต่ครูมาหาอามะได้ ครูต้องมาอีกนะ” ฉันคิดในใจว่า “แน่นอนค่ะอามะ ถ้าเส้นทางของเราสองคนได้มาบรรจบกันอีกครั้ง”

รถสองแถวแล่นไปอย่างช้าๆด้วยความขรุขระของพื้นถนนลูกรัง ฉันเหม่อมองทุ่งข้าวข้างทาง พลางนึกถึงวันสุดท้ายที่เราเดินกลับหมู่บ้านด้วยกัน ภาพเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน แม่น้ำกก ดวงอาทิตย์ลอยประเหลี่ยมเขาสาดแสงส่องพื้นน้ำเป็นประกายสีทอง โดยเฉพาะความงามของใยแมงมุมที่ถักทอสานกันระหว่างใบกล้วยเป็นสีม่วงแกมทองเมื่อแสงอาทิตย์อัสดงส่องผ่าน เสียงหัวเราะของเด็กๆประสานกันดังดนตรีแห่งขุนเขาก้องดังอยู่ในโสตประสาทของฉัน นานๆครั้งที่ “เรา” จะได้มาเดินบนทางเดียวกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมอบมิตรภาพให้แก่กัน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่ฉันรู้สึกว่า หัวใจของฉันได้ถูกวางไว้ที่นี่โดยไม่รู้ตัว พวกเขาทำให้ฉันพบคำตอบที่ฉันเฝ้าหามานาน



“ ชีวิต ที่มีความสุขได้โดยไม่ต้องมีเงินมากมาย
ชีวิต ที่มีความสุขได้ด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ
ชีวิต ที่มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่คนเมืองไม่เคยมี
สิ่งนั้นก็คือ น้ำใจ

บทวิจารณ์ บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ : ภาพสะท้อนความคิดมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อ พ.ศ. 2521เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวนสิบสามเรื่องในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2524 โดยอัศศิริ ธรรมโชติ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีร้อยแก้วเพราะใช้ภาษาคมคายนุ่มลึก และมีศิลปะ เรื่องสั้นเรื่อง “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” ก็มีคุณสมบัตินี้เช่นเดียวกัน

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนวิธีคิดของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจ นำเสนอความพยายามของมนุษย์ในการดิ้นรนเพื่อให้ตนเอง “มี” อย่างที่คนอื่น “มี” การดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมที่เห็นความสำคัญของเงินเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเอารัดเอาเปรียบกัน มนุษย์ยอมให้สังคมแห่งทุนนิยมเข้ามามีบทบาทเหนือชีวิตของตนเพียงเพราะ“ความไม่มีเงิน ” และพยายามผลักดันตนเองสู่ชายขอบของสังคมเพียงเพราะตนเอง “มีไม่เท่าคนอื่น” เงินจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและพร้อมที่จะทำทุกวิธีการให้ได้มาโดยที่ศีลธรรมในจิตใจก็มิอาจต้านทานได้

เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงชายขายแตงโมคนหนึ่งได้พายเรือกลับบ้านพร้อมกับใจที่ห่อเหี่ยวในเวลาพลบค่ำ ก่อนหน้านี้เขาขนแตงโมล่องเรือไปขายเหมาที่ตลาดแต่ได้เงินมาเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่พอต่อการซื้อเสื้อลูกไม้ให้เมียและซื้อตุ๊กตาให้ลูกของเขา ระหว่างการพายเรือเขาเก็บตุ๊กตายางที่ลอยมากับกอสวะได้ เขาพอใจมากและคิดจะเก็บไว้ให้ลูกเล่น จากนั้นได้พายเรือพบศพเด็กหญิงร่างหนึ่ง ตอนแรกเขาต้องการใครสักคนมาช่วยแต่เมื่อเหลือบเห็นสร้อยทองคำที่ข้อมือเด็กน้อย เขาตื่นเต้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจรูดสร้อยเส้นนั้นออก เมื่อเขาก้มลงพบตุ๊กตาที่เก็บได้เมื่อครู่ ด้วยความกลัวจึงโยนทิ้งไปและกลับบ้านด้วยความดีใจ

จากเนื้อเรื่องที่กล่าวมาจะพบว่าความขัดแย้งของเรื่องเริ่มต้นที่ตัวละครเอกคือชายขายแตงโมถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน เขาต้องทำงานอย่างยากลำบากในการปลูกและขายแตงโม ทว่าเงินที่ได้ตอบแทนนั้นไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยที่เขาได้ลงทุนลงแรงไป เขาจึงพยายามหาเงินให้ได้มากกว่านี้ สิ่งที่เขาต้องการคือเสื้อลูกไม้ สร้อยข้อมือทองคำ ตุ๊กตา และวิทยุ ซึ่งมิใช่ของที่จำเป็นแต่อย่างใด เขาต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกตนก็ “มี” ไม่ต่างกับที่คนอื่น “มี” ดังนั้นเมื่อได้พบสร้อยข้อมือทองคำจากศพ เขาจึงไม่ลังเลที่จะรูดสร้อยข้อมือนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเขาเพราะลงทุนลงแรงแค่พายเรือเท่านั้นซึ่งเทียบไม่ติดกับความสุขของการได้รับความเติมเต็มทางด้าน “วัตถุ” ที่ครอบครัวได้รับ ทั้งที่ใจจริงแล้วเขาก็รู้สึกผิดพอสมควร ความคิดของเขาเป็นวิธีคิดในระบบทุนนิยมซึ่งมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก การกระทำครั้งนี้เหมือนกับการลงทุน ทั้งการลงทุนอยู่กับความกลัว อยู่กับกลิ่นเหม็นของศพ เขาจึงไม่อาจปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือไปได้ง่ายๆ เขายังอ้างถึงโชคชะตาที่ทำให้เขามาพบตุ๊กตา พบศพเด็ก พบสร้อย และทำให้เขาต้องทำเช่นนี้ โชคชะตาหรือกรรมเป็นข้ออ้างที่ยุติความคิดเขา ทำให้เขารู้สึกผิดน้อยลงและเป็นการปลอบใจตนเองอีกทางหนึ่ง

แนวเรื่องของเรื่องสั้นบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำนี้ 80% เน้นฉากและบรรยากาศ ผู้แต่งพรรณนาฉากอย่างโดดเด่นมีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และได้สัมผัส เสมือนว่าผู้อ่านได้ร่วมในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ผู้แต่งเลือกใช้ภาษาสื่อภาพ ความคิดและอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกคำที่ได้ใจความ สื่อความหมายเหมาะเจาะ ในการพรรณนาฉากริมสองฝั่งลำน้ำ ผู้เขียนได้ใช้ความรู้ทางทัศนศิลป์เข้าช่วย โดยเฉพาะการใช้แสง สี และเงา ภาพที่บรรยายจึงมีความงามทางทัศนศิลป์แฝงอยู่ “ นกเป็นฝูงบินกลับรังผ่านขอบฟ้าสีส้มเหนือทุ่งนาไกลลิบ ตะวันคล้อยลงเหลี่ยมเขา แมกไม้สองข้างริมฝั่งเกิดเงาง้ำถูกสีดำเข้ายึดครองเป็นหย่อมๆ ตรงเวิ้งน้ำข้างหน้าควันไฟลอดทิวไม้ดิ่งหายไปกับฟ้าสีซีด” นอกจากนี้ตั้งแต่เปิดเรื่องมาจะเห็นว่าผู้แต่งเน้นแสงจันทร์รำไรอยู่เสมอ ความมืดสลัวทำให้อารมณ์ของผู้อ่านต้องตื่นเต้นและลุ้นอยู่เสมอว่าจะเกิดอะไรขึ้น เสียงจักจั่นเรไรที่ร้องระงมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างน่ากลัว และทำให้การพบศพเด็กหญิงของชายขายแตงโมนั้นสมจริงยิ่งขึ้น อีกทั้งกลิ่นศพของเด็กหญิงขณะที่เขาได้กรีดข้อมือเพื่อที่จะรูดสร้อยออกมานั้นช่างทำให้ผู้อ่านพะอืดพะอมเสียเหลือเกินเมื่อนึกภาพตาม จะเห็นว่าฉากและบรรยากาศในเวลานี้เอื้อต่อการกระทำของเขาเป็นอย่างมาก

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อประชาชน ระบบทุนนิยมทำให้ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะต่างคนก็ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” บางทีคนเราก็ไม่มีทางเลือกที่มากนัก ทุกคนจำต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเอง พยายามหาพื้นที่ทางสังคมให้ตนเองยืนอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสของกระแสทุนนิยมที่ไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

คำรัก

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจที่ฉันมีคนที่ฉันรัก”
ข้างหลังภาพ ศรีบูรพา

“ฉันหลงคิดว่าความรักเป็นความสุขนิรันดร์เสียอีก เราเศร้าโศกเสียใจเพราะความรักดำเนินต่อไป .. หาใช่เพราะความรักจากไปไม่”
Il Mare

“นอกจากรักคุณแล้วผมไม่เก่งเรื่องอะไรเลย”
the classic

“หม่อมฉันไม่มีทั้งอำนาจราชศักดิ์ ปราศจากเสน่ห์ที่จะตรึงตราใจผู้ใด จะมีก็แต่ หัวใจรักที่ไม่เคยอ่อนลง ด้วยความงามหรือความยิ่งใหญ่ของใครอื่น หัวใจที่ยังคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยกาลเวลาและความเหินห่าง หัวใจดวงนั้นมีทั้งความจงรัก ที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน และภักดี ที่พูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีผู้ใดเทียบเท่า หัวใจดวงนั้นได้วางไว้แทบเบื้องบาท จากครั้งเยาว์วัยตราบจนกระทั่งบัดนี้”
ในฝัน โรสลาเรน

“Life is full of surprise; even two parallel lines may one day meet”
หัวใจรักที่หวนหา อาจอยู่ใกล้ตา.........เพียงแค่มือเอื้อม
Turn Left Turn Right

“ความรักเป็นยอดปรารถนาของหัวใจ เป็นสิ่งที่มีประจำตัวมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรัก การแสดงความรักโดยชอบด้วยทำนองคลองธรรม เป็นรสหวานชื่นไม่มีอะไรเท่า...”
สงครามชีวิต ศรีบูรพา

“ผู้ชายเขามีความจองหองอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องการจะเป็นคนแรก ในการเป็นเจ้าของหัวใจผู้หญิงที่เขารัก ความจองหองอันนี้ ทำให้เกิดความใจแคบ”
สด กูรมะโรหิต

“ความรักของผมเกิดที่นั่น”
“ความรักของเราต่างหาก นพพร”
“ความรักของเธอ เกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น
แต่ของอีกคนหนึ่ง ยังรุ่งโรจน์อยู่ ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”
ข้างหลังภาพ ศรีบูรพา

“เวลาหลับเท่านั้น จะเป็นสวรรค์ของฉัน เพราะมันทำให้ฝันว่า ได้อยู่ใกล้ชิดผู้ชายที่ฉันรักที่สุดเกินกว่าความเป็นจริง...”
รักเขา ยาขอบ

“ผมไม่บูชาความรักด้วยเวลา ผมบูชาความรักด้วยใจรัก เดี๋ยวนี้เราพูดกันถึงเรื่องที่หยาบคายที่สุดของกามรมณ์เถิด มนุษย์ต่างกว่าสัตว์เดียรัจฉานที่ตรงไหนในความปรารถนาของกามรมณ์”
รักและร้าง ยาขอบ

“ทำไมมาสอนบทเรียน ก่อนที่ฉันจะรับรักจนจับหัวใจ รู้ตัวเป็นเจ้าของหัวใจเขาแล้ว จะมาสอนให้เขากลับใจไปจากตัว...”
อารมณ์ ยาขอบ

“ความรักเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ความเมตตากรุณาทำให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น”
เฮอร์เบิร์ต เอ็น คัสสัน

“คนโง่มักจะแต่งงานกับคนที่ตนรัก แต่คนฉลาดมักจะแต่งงานกับคนที่รักตน”
พลาโต

“จงรักเมื่อยังรักได้”
ฟริกกิลราธ

“คนรักควรรักษาความแปลกหน้ากันไว้”
อีเมอร์สัน

“ไม่มีรักใดจะแท้ไปกว่ารักที่ตายไปโดยไม่ได้บอกรัก”
โอ. ดับบลิว โฮมส์

“ความรักคืออาชีพของคนเกียจคร้าน อันตรายของราชันย์ และเครื่องบันเทิงของนักรบ”
นโปเลียน

“ความรักก็เหมือนรถเหมือนเรือนั่นแหละ จะให้ตรงเวลาเสียทุกทีอย่างไรได้”
อาจเป็นเพราะฉันเหงา กฤษณา อโศกสิน

“ความรักเหมือนสายฝน ถึงฤดูกาลของมัน มันก็จะโปรยลงมาเอง ไม่ว่าคุณจะต้องการมันหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่ท้องฟ้ายังแห้งแล้งไม่มีละอองน้ำ ต่อให้คุณต้องการแค่ไหน ฝนก็ยังไม่มาอยู่ดี”
วสันต์ลีลา แก้วเก้า

“จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ”
นิราศอิเหนา สุนทรภู่

“ความรักคือสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เราไม่รู้ว่ามาจากไหน เราไม่รู้ว่าหมดสิ้นไปได้อย่างไร”
มาดมัวแชล เดอ สตึเดรี

“ความรักนั้น คือดอกไม้ที่งดงามซึ่งเราต้องใช้น้ำตาของเราสำหรับรดต้นไม้”
กิลเบอร์ด

“ความรักนั้น เกิดขึ้นในสิ่งสองประการ คือสิ่งที่จะให้ผลเป็นสุขประการหนึ่ง สิ่งที่จะให้ผลเป็นทุกข์อีกประการหนึ่ง แต่สิ่งไรที่เป็นทางกลางคือไม่ให้ผลเป็นสุข หรือทุกข์แล้ว คนเราจะไม่รักกันเลยเป็นอันขาด”
ไลปนิดช์

“การที่เราชอบใครคนหนึ่ง เรายังไม่ควรใช้คำว่า “รัก” ในทันที เพราะยังมีอีกหลายขั้น กว่าจะถึงความรัก...”
เดส์การ์ดีน

“แม้แต่สัตว์เดียรฉานที่ขลาดที่สุด ถ้าเมื่อถึงเวลาที่มันจะต้องทำการป้องกันสิ่งที่มันรักแล้ว มันก็อาจจะกลายเป็นสัตว์ที่กล้าหาญที่สุดไปได้”
มิราโบ

“รักคือเครื่องทรมานที่หวานชื่น”
เอช. บี. บอห์น

“รักคือเกมกีฬาที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายมักคดโกง”
อี. ดับบลิว. ฮาว

“ความรักและแสงสว่างย่อมปิดไม่ได้มิดชิด”
เจมส์ เคลส

“ความรักคือความกลัวที่ตื่นตูม”
โอวิด

“ผู้ที่ชัง ย่อมรักไม่เป็น”
สวินเบิร์น

“ความรักระหว่างหญิงกับชายนั้น คือการเล่นซึ่งต้องใช้ปัญญาระหว่างคนสองคนที่มีเพศต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเพียรจะเอาเปรียบมากที่สุด อีกฝ่ายหนึ่งเพียรจะเสียเปรียบน้อยที่สุดจะเป็นไปได้...”
นิทานเวตาล น.ม.ส.

“ความรักเหมือนโรคา บันดาลให้ตามืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง”
มัทนพาธา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ชายที่มีความคิดชั้นต่ำๆ ถ้าสามารถโน้มน้าวหัวใจสตรีให้มารักตนได้แล้ว ก็มักถือว่าเป็นชัยชนะหรือเป็นลาภผลอันใดหนึ่ง...”
ความรัก หลวงวิจิตรวาทการ

“ความรักเหมือนเด็กซน อาจจะตัดช่องย่องเข้าสู่เรือน แต่ถ้าเปิดประตูและกวักเรียกให้เข้าไปดีๆ ก็มักจะวิ่งหนี”
กุศโลบาย หลวงวิจิตรวาทการ

“คนหนุ่ม ในเวลาที่กำลังรักผู้หญิงคนไหน คนนั้นก็ต้องเป็นยอดโลก ไม่มีใครเสมอเหมือน จนกว่าจะรักอีกคนหนึ่ง”
กุศโลบาย หลวงวิจิตรวาทการ




วิถีสู่ความสำเร็จกับชีวิตหลังแท่นกลึง


ในอาคารปูนสีหม่นหลังนั้น มีเสียงอึกทึกของเครื่องจักรดังกึกก้องเป็นจังหวะสลับกับเสียงแหลมเล็กบาดหูของเครื่องตัดเหล็ก เสียงเครื่องยนต์กลไกหลากชนิดดังมาเป็นระยะๆ ประกอบกับเสียงเหล็กกระทบกันโครมครามเป็นเสียงที่ชินหูของฉันมากว่า20ปี

ภาพที่ชินตาฉันมาตั้งแต่เด็ก ชายร่างท้วมในเครื่องแบบช่างสีกรมท่าคนนั้นยังคงยืนสั่งการลูกน้องอย่างเอาจริงเอาจัง แม้เศษฝุ่นจะคลุ้งไปทั่วบริเวณ หรือแม้แดดจะร้อนสักเพียงใด ลูกค้าก็ยังพบกับรอยยิ้มที่เป็นมิตรและคำพูดที่เป็นกันเองของ “ช่างเนียว” หรือ
“นายนัฐพล รสสุขุมาลชาติ”

ในแวดวงช่างกลึงในอำเภอแม่สอด จังหวัดตากและอำเภอใกล้เคียง ไม่มีใครไม่รู้จัก “ช่างเนียว” หรือที่ใครๆเรียกว่า “เถ้าแก่เนียว”เจ้าของกิจการโรงกลึงเนียวการช่าง ซึ่งชีวิตของเขาในขณะนี้พูดได้ว่าก้าวมาถึงขั้น “ประสบความสำเร็จ” ในบทบาทการทำธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทและโรงงานต่างๆเป็นเวลากว่า20ปี กว่าที่เขาจะมายืนตรงจุดนี้ได้ อุปสรรคชีวิตที่ต้องเผชิญนั้นไม่ใช่น้อยๆทีเดียว

ช่างเนียวเป็นลูกคนที่3ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด7คน เกิดมาในบ้านเล็กๆแทบจะเรียกได้ว่ากระต๊อบซึ่งสร้างขึ้นอย่างง่ายๆด้วยไม้รวกสานมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เติบโตมาในสังคม
ชาวจีนแต้จิ๋วที่ทำการเกษตรเป็นหลัก ชีวิตในวัยเด็ก ลำบากเพราะต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ ไปเรื่อยๆเพื่อหาเช่าที่ดินสำหรับทำการเกษตรตามฤดูกาล เช่นปลูกอ้อย ยาสูบ เป็นต้น แม้จะขัดสนเงินทองแต่ในหัวใจของเขาไม่เคยขัดสนความรักจากครอบครัว เด็กชายเนียวมีโอกาสได้ศึกษาถึงระดับประถมศึกษาปีที่4เท่านั้นทั้งๆที่ใฝ่ฝันจะเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ด้วยความยากจนแม้รองเท้านักเรียนยังไม่มีใส่ ต้องเดินเท้าเปล่าไปยังโรงเรียน หลังจากเรียนจบเขาร่อนเร่หางานทำไปเรื่อย ทั้งรับจ้างตัดอ้อยได้ค่าแรงเพียงวันละ50บาท และไปเป็นศิษย์วัดเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอีก2ปี

ชีวิตของเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่ออายุได้13ปี เด็กชายเนียวต้องเดินทางจากบ้านเกิดมาฝึกงานที่โรงกลึงจังหวัดตาก โรงกลึงนี้เองที่เป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้ เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่มอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าในการทำงาน และสอนให้เขาเติบโตด้วยความเข้มแข็งและอดทน แม้จะต้องห่างไกลญาติพี่น้อง แม้จะถูกสบประมาทจากคนอื่นว่าเป็นลูกคนจน แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ คติประจำใจที่ก้องดังในมโนสำนึกอยู่เรื่อยมาคือ“ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน” เป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำงานด้วยความขยันขันแข็งและเก็บหอบรอมริบเพื่อที่สักวันจะต้องก้าวให้พ้นจากการเป็นลูกน้องและต้องหาหลักที่มั่นคงให้กับชีวิตให้ได้

15ปีผ่านไป เด็กชายเนียวได้กลายเป็นหนุ่มน้อยผู้เชี่ยวชาญงานกลึงและงานซ่อมแซมเครื่องจักรต่างๆ เขาใฝ่ฝันที่จะมีโรงกลึงเล็กๆของตนเอง เขาพบรักกับแม่ค้าผัดไทยสาวอายุ19ปี เจ้าของตำแหน่งขวัญใจช่างภาพ ในการประกวดเทพีกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ประจำปี2525 ต่อมาในวันที่1 เมษายน 2529 ทั้งสองก็ตกลงปลงใจแต่งงานกัน

หลังจากแต่งงาน ช่างเนียวตัดสินใจลาออกจากโรงกลึงที่จังหวัดตากและเดินตามความฝันของเขาด้วยการทำกิจการโรงกลึงเล็กๆของตัวเองที่อำเภอแม่สอดด้วยเงินทุนจากทองหมั้นของภรรยา โดยตั้งชื่อสถานประกอบการว่า “โรงกลึงเนียวการช่าง” เรียกได้ว่าโรงกลึงนี้เติบโตมาพร้อมๆกับชีวิตของฉันทีเดียว ลักษณะโรงกลึงในระยะแรกที่ฉันยังพอจำได้รางๆนั้นสร้างด้วยไม้มุงสังกะสีแบบเพิงหมาแหงน มีเครื่องกลึงเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ช่างเนียวเล่าถึงความรู้สึกในตอนแรกของการลงทุนทำกิจการของตัวเองว่า

“เราไม่มีอะไรต้องกลัวอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยมาก่อน การค่อยๆก้าวจากศูนย์ขึ้นมามันก็เหมือนการสั่งสมประสบการณ์ ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม้จะพบอุปสรรคก็ต้องสู้ ถ้ามัวแต่กลัวความผิดพลาดก็ไม่ได้ก้าวซะที คุณค่าของการเป็นมนุษย์อยู่ที่การต่อสู้ ไม่ใช่ไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่มันคือการต่อสู้ที่นี่(ชี้ที่หน้าอกข้างซ้าย) ต่อสู้กับจิตใจตัวเองนี่แหละ ปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะยากหรือง่ายมันอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ถ้าเรากล้าที่จะเผชิญหน้า ถ้าเรามองว่าต้องผ่านไปได้ มันก็จะผ่านไปได้เอง ที่สำคัญอย่าเพิ่งท้อแท้ ต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ”

“ ถึงแม้จะเพิ่งเปิดกิจการ แต่งานก็มีเข้ามาไม่เคยขาด อาจเพราะเราเลือกสถานที่ประกอบการดี อำเภอแม่สอดเป็นเมืองชายแดนที่มีโรงงานมาลงทุนมาก การค้าระหว่างประเทศเจริญดี เศรษฐกิจก็ดีส่งผลให้เรามีงานเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เมื่อเงินเหลือเก็บเราจึงเริ่มซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และจ้างลูกน้องคนไทย2-3คน ในช่วงแรกนี้ต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนทีเดียว” ช่างเนียวนึกย้อนไปในอดีตด้วยสีหน้าอิ่มเอิบใจ

8ปีผ่านไปโรงกลึงเนียวการช่างได้พัฒนาไปมาก จากเพิงหมาแหงนสู่อาคารปูนที่แข็งแรงทนทาน เครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆมีมากขึ้น และจ้างคนงานเกือบสิบชีวิตเพื่อรองรับงานที่เข้ามาตลอดแม้จะอยู่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ตาม ที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นด้วยนอกจากฉันแล้ว ยังมีน้องชายและน้องสาวตัวน้อยถือกำเนิดขึ้น

ถึงแม้เส้นทางการทำธุรกิจจะไปได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย บางคนเอาของมาซ่อมแล้วไม่จ่ายเงินหรือมาสั่งทำไว้แล้วไม่มารับก็มีเหมือนกัน และปัจจุบันราคาเหล็กและวัสดุอื่นๆสูงขึ้นทำให้อัตราค่าซ่อมแซมต้องเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะคนไทย ก็ไม่สนใจที่จะทำงานที่ต้องใช้แรงงานและเสี่ยงอันตรายเช่นนี้

ปัจจุบันนอกจากช่างเนียวจะเป็นเจ้าของกิจการโรงกลึงแล้วยังมีร้านขายเหล็กและวัสดุก่อสร้างอีกหนึ่งแห่งที่ดูแลโดยคุณแสงเทียน รสสุขุมาลชาติ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่คอยให้กำลังใจและเอาใจใส่กันอยู่เสมอมา ทั้งสองบอกกับฉันว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือว่ามีความสุขดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย แค่ได้อยู่กับคนที่เรารัก อยู่กับครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” ฉันรู้สึกตื้นตันกับประโยคที่มาจากใจนี้ หลังจากการพูดคุยกันในวันนั้นทำให้ฉันได้รู้จักคนใกล้ที่อยู่ห่างกันแสนไกลได้มากขึ้น และรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของเขา
"นายนัฐพล รสสุขุมาลชาติ" วีรบุรุษหลังแท่นกลึง …นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในใจฉัน

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ในฝันกับมายาภาพแห่งชีวิตจริง

“…สิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่นั้น ไม่คงทน…แน่นอน…
สิ่งที่เราประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้
ที่แท้ก็เหมือนภาพมายา มันเปลี่ยนแปลงได้ สูญสลายได้
เหมือนอย่างที่เรานอนฝัน พอลืมตาตื่นขึ้นก็หายไปหมด…” เป็นข้อความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ของเจ้าชายโอริสสาวัฒนาที่ทรงไว้ถึงเจ้าหญิงพรรณพิลาศผู้เป็นดังยอดดวงพระหทัย จาก “ในฝัน” นวนิยายรักที่ทั้งเฉียบคมทางความคิดและละมุนละไมด้วยความอ่อนหวานแห่งถ้อยคำผ่านนามปากกา “โรสลาเรน” หนึ่งในนามปากกาของวิมล ศิริไพบูลย์ ผู้โลดแล่นบนถนนสายวรรณกรรมอย่างภาคภูมิเป็นเวลากว่า50ปี

ข้อความตอนนี้เป็นสัจธรรมชีวิตที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังคงเดินตามวิถีโลก โลกก็จะสร้างแบบทดสอบชีวิตมาทดสอบมนุษย์อยู่ตลอดเวลา และรอจังหวะที่มนุษย์ผู้หลงระเริงก้าวพลาดพลั้ง โลกก็พร้อมที่จะกระหน่ำซ้ำเติมและมอบรอยแผลเป็นแห่งชีวิตไว้เป็นสิ่งเตือนใจ เป็นความจริงที่มนุษย์ต้องทำใจยอมรับโดยไม่สามารถหลีกหนีได้

แม้แต่เจ้าหญิงพรรณพิลาศเองยังทรงดำริว่า “จริงซินะ...ในความฝันดูเหมือนอะไรๆก็จะสดใส น่าดู น่าชมไปหมด แต่ครั้นแล้วเมื่อความจริงมาถึงเราก็ต้องประสบกับความสูญเสีย หน้าที่ของเรามีอยู่อย่างเดียวคืออดทน!”

สาระสำคัญที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอก็คือ แม้ว่าในฝันนั้นจะหอมหวาน สวยงามสักเพียงใด แต่เมื่อเราตื่นขึ้นมาพบกับความจริงอันแสนเจ็บปวด เราก็ต้องทำใจให้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไป หลายต่อหลายครั้งที่แบบทดสอบชีวิตไม่มีคำตอบที่สมเหตุสมผลนักสำหรับมนุษย์ผู้ตกเป็นจำเลยในการเล่นตลกของโชคชะตา คำตอบสุดท้ายที่ไม่มีใครปฏิเสธก็คือ “ความไม่แน่นอน” ที่ยังคงอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อจำเป็นต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการยอมรับและทำความเข้าใจกับชีวิตเพื่อนำไปสู่การค้นหาคำตอบว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องพร้อมที่จะก้าวต่อไปด้วยกำลังที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าโลกจะโหดร้ายนัก แต่ความโหดร้ายนั้นทำให้เราได้ “คิด” และ “เรียนรู้”มากขึ้น ทำให้เรามองย้อนกลับไปในอดีต ทำให้เรามุ่งไปสู่อนาคต และทำให้เราได้คิดหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ตระหนักจากข้อความตอนนี้ก็คือเราอาจจะคิดว่ายังมีเวลาอีกมากที่จะทำเพื่อคนที่เรารัก จึงผัดวันประกันพรุ่งหรือรอโอกาสสำคัญอยู่ แต่ทว่าไม่มีใครรู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องทำทุกเวลาให้มีค่าและเกิดประโยชน์ที่สุด เพราะโอกาสสำคัญนั้นอาจจะไม่มีวันมาถึงอีกเลยก็ได้ เมื่อผ่านเลยเวลานั้นไปแล้วจะได้ไม่มีคำว่า “สายเกินไป” และต้องเสียใจเมื่อได้รำลึกถึงเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง อย่างที่เจ้าหญิงพรรณพิลาศได้รำพึงรำพันถึงเจ้าชายโอริสสาว่า “ถ้าหม่อมฉันรู้สึกนิดว่าเวลาของเรามีน้อย…ถ้ารู้สักนิดว่าจุดจบของเราจะเป็นอย่างนี้ พรรณพิลาศจะรัก’ริสาให้มากกว่านี้ จะถวายความสุขให้สมกับระยะอันยาวนานที่จะต้องจากกันเพื่อสำหรับจะได้ระลึกถึงความหวานชื่นที่ผ่านมาเก็บไว้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงบำรุงใจยามที่จะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่โดดเดี่ยวตลอดไป…” ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใดกับการเพ้อพร่ำรำพันกับตัวเองฝ่ายเดียว โดยที่ผู้ที่เราคะนึงหาไม่มีวันได้รับรู้ถ้อยคำที่กลั่นมาจากก้นบึ้งหัวใจเช่นนั้นอีกแล้ว

ดังนั้นการใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้เท่าทันความคิดและการกระทำของตนเอง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาไปกับปัจจัยปรุงแต่งภายนอกไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ต้องทำให้ได้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ที่เดินตามกระแสกิเลสด้วยความหลงระเริงก็ตาม

ในฝันเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่แฝงข้อคิดในการดำเนินชีวิต สะท้อนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคม เสนอชั้นเชิงทางความคิดของผู้ที่เป็นผู้นำ และสิ่งที่สำคัญที่สุด “ความรัก” ที่คนสองคนมอบให้กันนั้น ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความ ‘จงรัก’และ‘ภักดี’ ยิ่ง แม้ในบางครั้งความรักจะทุรนทุราย หรืออ่อนไหว กรุ่นไปด้วยความห่วงหาอาทร แต่ความรักก็เติมเต็มความสุขให้กับโลก หากโลกนี้ไม่มีความรักเสียแล้ว มนุษย์คงไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และคงจะชาชินกับสิ่งรอบตัว ความรักนั่นเองที่ก่อให้เกิดวรรคทองที่ข้าพเจ้าชื่นชอบวรรคนี้ ความรักช่วยเติมเต็มหัวใจเจ้าชายโอริสสา ความผูกพันสร้างถ้อยคำอันคมคายผ่านเจ้าหญิงพรรณพิลาศ และความรักคงเป็นสิ่งเดียวที่อยู่เหนือความไม่แน่นอนทั้งปวง แม้ยามฝันความรักจะสวยงามเพียงไร ยามตื่นความรักก็ยังคงงดงามไม่สร่างซา






วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ห่วงหาคนห่างเหิน

ห่างเหินใช่ห่างหาย
เพราะหัวใจยังห่วงหา
ห่างหายไกลลับตา
ห่างเหินพาไกลลับใจ
ห่วงหวงและห่วงหา
แต่ทว่ายังห่างเหิน
ห่างหายเพราะไกลเกิน
หากหัวใจยังผูกพัน