วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ลักษณะสำคัญของพระมาลัยคำหลวง



พระมาลัยคำหลวงเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงพระนิพนธ์ขึ้นขณะผนวช เมื่อ พ.. ๒๒๘๐ เชื่อกันว่าพระองค์ได้เค้าเรื่องมาจาก มาลัยสูตรซึ่งภิกษุชาวลังกาแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีในราว พ.. ๑๗๐๐ ต่อมาภิกษุชาวเชียงใหม่ชื่อพุทธวิลาสได้นำมาขยายความใหม่ เรียกว่า ฎีกามาลัย พระมาลัยสำนวนนี้เดิมทรงตั้งชื่อว่า ลิลิตพระมาลัย แต่เนื่องจากเรื่องพระมาลัยมีอยู่หลายสำนวนจึงได้เปลี่ยนเป็น พระมาลัยคำหลวง ในเวลาต่อมา พระมาลัยคำหลวงเป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทยในฐานะเป็นวรรณคดีฉบับหลวง มีลักษณะสำคัญทั้งในด้านเนื้อหาและด้านวรรณศิลป์ ดังต่อไปนี้




๑. ด้านเนื้อหา : แนวคิดความเชื่อทางพระพุทธศาสนา



เรื่องพระมาลัยเป็นวรรณกรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เนื่องจากเนื้อหาหลักที่แสดง

แนวคิดเกี่ยวกับนรกสวรรค์ บาปบุญ กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว การเวียนว่ายตายเกิด และโลกยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว แก่นสำคัญของเรื่องมุ่งสอนให้ผู้อ่านตระหนักถึงผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ทำให้เห็นว่าคนทุกคนสามารถแสวงหาความสุขได้จากโลกนี้และโลกหน้าตามกำลังความสามารถด้วยการทำบุญ โดยนำองค์ประกอบต่างๆที่อยู่ในความเชื่อของคนทั่วไปมาผูกเป็นเรื่องขึ้น ผู้อ่านซึ่งมีพื้นความรู้ในเรื่องเหล่านี้มาบ้างแล้วก็จะถูกโน้มน้าวให้ประพฤติกาย วาจา ใจให้ดีขึ้น เกิดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป จึงละเว้นการกระทำความชั่วในที่สุด




กวีแสดงให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์สิ้นอายุขัย ผลกรรมที่ทำไว้ในอดีตจะทำให้ได้ไปอยุ่ในภพภูมิต่างๆกัน ผู้ที่ทำอกุศลกรรมทั้งหลายจะต้องชดใช้กรรมในนรกด้วยความทุกข์ทรมาน โดยกล่าวถึงนรกทั้งแปดขุมซึ่งมีวิธีการทรมานสัตว์นรกในรูปแบบต่างๆกัน หากมีผู้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ความทุกข์นั้นก็จะบรรเทาลงบ้าง ส่วนผู้ที่ทำกุศลกรรมก็จะได้ขึ้นสวรรค์ตามกำลังบุญจะหนุนส่ง กวีได้อธิบายรายละเอียดของการทำบุญตั้งแต่ขั้นที่ง่ายคือทำทานกับสัตว์เดรัจฉานไปจนถึงขั้นที่ยากคือการรักษาศีล๕อย่างเคร่งครัด รักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ให้ทานตามกำลังฐานะของตน อันจะส่งผลให้ได้เสวยสุขในทิพยวิมานและได้รับในสิ่งที่ปรารถนาตามกรรมดีที่ตนปฏิบัติไว้ เมื่อหมดบุญก็ต้องจุติลงมายังโลกมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะเข้าสู่นิพพาน




นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์หรือพระศรีอาริยเมตตรัย ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระสมณโคดม มนุษย์ส่วนใหญ่มีความปรารถนาที่จะมาเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งมีความสุขสบายเพียบพร้อมทุกอย่าง ผู้ที่ปรารถนาจะเกิดในยุคนี้ต้องทำบุญและความดีสั่งสมไว้ ต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบใน๑วัน และทำบุญด้วยสิ่งของต่างๆ เช่น ประทีป ดอกบัว เทียน ธง ฉัตร อย่างละพันสิ่ง การที่กวีพยายามชักชวนคนส่วนใหญ่ให้ประกอบบุญกุศลและทำความดีเพื่อให้ได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์นี้เป็นเหมือนจิตวิทยาในการสั่งสอนธรรมะโดยอ้างถึงประโยชน์และความสุขสบายที่ตนจะได้รับเมื่อได้ไปเกิดในโลกหน้า ดังที่ ปก แก้วกาญจน์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันทักษิณศึกษากล่าวไว้ว่าพระมาลัยสะท้อนกลวิธีการสั่งสอนประชาชนที่เป็นชาวพุทธสองแนวทฤษฎี คือ ทฤษฎีศาสนาของผู้รู้(Intellectual Religion) และทฤษฎีศาสนาของประชาชน(Popular Religion) ซึ่งกลุ่มแรกเปรียบเหมือนยอดของเจดีย์ ได้แก่คนกลุ่มน้อยผู้มีสติปัญญาสูง การสอนจะมุ่งไปยังอุดมคติสูงสุดของศาสนา คือ พระนิพพาน แต่กลุ่มหลังเปรียบเหมือนเจดีย์ส่วนฐาน ได้แก่ คนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งจำเป็นต้องใช้กลวิธีในการสอนต่างกัน พระมาลัยคำหลวงจึงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าต่อพุทธศาสนิกชนโดยตรงในแง่การเป็นเครื่องมืออบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมและควบคุมพฤติกรรม จิตใจของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข



๒. ด้านวรรณศิลป์ : พรรณนาโวหาร

พระมาลัยคำหลวงแต่งด้วยร่ายสุภาพ และมีคาถาบาลีสั้นๆแทรกอยู่ด้านหน้า สำนวนที่ใช้ง่ายและชัดเจนกว่าในนันโทปนันทสูตรคำหลวง วรรณศิลป์ในพระมาลัยคำหลวงที่เด่นชัดคือการใช้โวหารแบบพรรณนาในการให้ภาพฉากของเรื่อง ซึ่งก่อให้เกิดจินตนาการอย่างเด่นชัด กวีกล่าวถึงภาคนรกไว้ในบทนำเพียงเล็กน้อย โดยบรรยายสภาพทั่วไปในนรกทั้งแปดขุม นิริยัตแปดขุม สัญชีพรุมราญร้อน กาลสูตรนอนตีปะทัด ตาปนรกบัตรใบไม้ เป็นปืนไฟหอกแหลน มหาตาปแดนดุจกัน สังฆาฏควันเปลวปลาบ โรรูพวาบวาวเพลิง มหาโรรูพเสริงสุมสุก อวิจีลุกพุ่งพลาม และบรรยายการมาของพระมาลัยทำให้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นฝนตกจนไฟในนรกมอดลง กวีเลือกใช้คำเพื่ออธิบายเป็นคำที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก เกิดจินตนาการ เห็นภาพความร้อนแรงของนรก การบรรยายเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านเกิดความเกรงกลัวและเห็นความทุกข์ทรมานหากได้ไปเกิดในภพภูมินี้



สำหรับเนื้อหาส่วนใหญ่ของพระมาลัยคำหลวงเน้นที่ภาคสวรรค์ ซึ่งสร้างภาพโดยพรรณนาสภาพแวดล้อมและรายละเอียดสวรรค์อย่างสวยงามน่าสัมผัส ดังในวิมานของอุบลเทวินทร์ กระหนกวิมาน โชติชัชวาลย์แล้วด้วยอุบลบานไพจิตร ห้าประการวิวิธโสภา มีนางอัจฉราบริวาร ถ้วนพันผสานดนตรี ปัญจางคศรีสังคีต โดยจารีตบำเรอ สุขอำเภอนีจกาลเสวยพัศสฐานดั่งคาม เป็นพระนามโดยกลชื่ออุบลเทวินทร์ความงดงามของภาพที่ปรากฎทำให้ผู้อ่านเกิดความรื่นรมย์ในการอ่านและเกิดแรงจูงใจในการทำความดียิ่งขึ้น



นอกจากนี้ยังจำลองโลกในอุดมคติของมนุษย์เอาไว้ ในยุคพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นการจูงใจให้คนทำ ความดีเพื่อที่จะสามารถเข้าไปอยู่ในทิพยสถานแห่งนั้นได้ และปลอบใจให้คนเรามีความหวังในอนาคต ทั้งบุรุษแลสตรี เปรมปรีดีโอฬารึก เสพกรรมพฤกษ์เลี้ยงกาย บได้ขวนขวายกิจการ แต่สำราญ บำรุงกาย ผ้าพรรณพรายทิพยเพริศ อาภารณ์เลิศประดับองค์ รูปยรรยงค์เยาวมาลย์ อัปสรปานปูนเปรียบ สมบัติเทียบชาวสวรรค์



กวีได้นำพรรณาโวหารมาใช้เพื่อบรรยายฉาก และสถานที่ ทำให้พระมาลัยคำหลวงมีความน่าสนใจ สามารถสื่อความคิดและสร้างจินตนาการให้กับผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม นอกจากนี้ยังเป็นการจูงใจให้ผู้อ่านทำความดีละเว้นความชั่ว ทำกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ อันจะทำให้ง่ายต่อการไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ นิพพาน อันเป็นบรมสุขเหนือกว่าสุขใดๆ แม้แต่โลกของพระศรีอาริย์ก็ไม่อาจเทียบได้







บรรณานุกรม



กรมศิลปากร. วรรณกรรมสมัยอยุธยาเล่ม๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๑

ชฎาลักษณ์ สรรพานิช . พระมาลัย : การศึกษาเชิงวิเคราะห์.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชา จารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528.

ทองแก้ว โอฬารสมบัติ.”การศึกษาความเชื่อเรื่องกรรมในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๓๐.


ปก แก้วกาญจน์. การศึกษาและปริวรรตวรรรกรรมท้องถิ่น เรื่อง พระมาลัยฉบับวัดจินตาวาสทักษิณคดี.():


พรพรรณ ธารานุมาศ. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๑๕.


เสนีย์ วิลาวรรณ. ประวัติวรรณคดี . กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช, ๒๕๑๙.