วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระทิณวงศ์ มิติใหม่ของการเปลี่ยนแปลงของละครจักรๆวงศ์ๆ


หากพูดถึงละครจักรๆวงศ์ๆ

หลายคนคงนึกถึงในวัยเด็กที่ต้องมาเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เวลาแปดนาฬิกา ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่องเจ็ด

หลายคนคงนึกถึงละครที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในนิทานพื้นบ้าน แต่งกายด้วยชุดไทยวิจิตรงดงาม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ปราบปรามเหล่าอธรรม

หลายคนเคยเอาใจช่วยขวานฟ้าหน้าดำ เคยแอบลุ้นให้นางยอพระกลิ่นคืนดีกับพระมณีพิชัย หรืออาจจะเคยคิดว่าตนเองเป็นนางมโนราห์เสียเอง

ละครจักรๆวงศ์ๆมีหลากหลายมนต์เสน่ห์ที่ตรึงผู้ชมให้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบละครที่บ่งบอกเนื้อเรื่องย่อของละครเรื่องนั้นไปในตัว ทำให้ผู้ชมพอจะทราบเนื้อเรื่องคร่าวๆจากบทเพลงอันไพเราะนั้น ฉากและบรรยากาศของเรื่องแสดงถึงความเป็นไทยและสะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของคนไทย เครื่องแต่งกายอันงดงามก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ละครจักรๆวงศ์ๆมีความโดดเด่นและสะกดสายตาของผู้ชมมาโดยตลอดนอกจากนี้ลักษณะเด่นของละครจักรๆวงศ์ๆที่หาไม่ได้ในละครประเภทอื่นก็คือการอ่านบทกลอนเป็นทำนองเสนาะแทรกในระหว่างดำเนินเรื่อง เป็นวิธีหนึ่งในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครและบอกถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

จวบจนปัจจุบันละครจักรๆวงศ์ๆก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ทว่าได้เดินตามกระแสความนิยมของสังคมไปด้วย ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเป็นตัวลดทอนคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยลงอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากละคร “พระทิณวงศ์” ที่แพร่ภาพอยู่ในขณะนี้

ว่ากันตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับของนักแสดง จะเห็นว่าพระทิณวงศ์ในยุคนี้ไว้ผมรองทรงไม่ต่างจากดาราเกาหลีที่เป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีการมวยผม สวมมงกุฎ คงมีเพียงเครื่องประดับสวมหน้าผากเท่านั้น ดูแล้วขาดความสง่างามอย่างที่ตัวละครเอกควรจะเป็น ส่วนนักแสดงหญิงแต่ละคนทรงผมไม่ซ้ำแบบกันเลย ดูแล้วเหมือนหลุดมาจากเวทีเดินแบบเสียมากกว่า เครื่องประดับก็ดูแปลกตาไป ตัวละครหญิงไม่สวมชฎากันแล้ว

สถานที่ที่สมมุติให้เป็นพระราชวังนั้นเป็นอาคารปูนสีขาวทรงยุโรปซึ่งขาดความวิจิตรงดงามอ่อนช้อยสมกับความเป็นไทยและดูแล้วขัดกับตัวเรื่องเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งบทเจรจาและสรรพนามเรียกตัวละครยังเปลี่ยนไป ไม่มีการเรียก “พระโอรส” หรือ “พระธิดา” แล้ว ในเรื่องนี้เรียก “องค์ชาย”หรือ “องค์หญิง” แทน คนเขียนบทคงได้อิทธิพลมาจากละครจีน เกาหลีที่เกี่ยวกับเจ้าหญิงเจ้าชายและโด่งดังเป็นพลุแตกในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดของละครจักรๆวงศ์ๆคือการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกและเทคนิคพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอสูรกาย การปล่อยพลังทำลายล้าง ถึงแม้จะสมจริงกว่าในอดีตแต่ผู้ชมเองรู้สึกไม่ต่างกับการถูกหลอกให้ดูภาพยนตร์ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน เพราะดูแล้วขัดต่อความรู้สึกและไม่เกิดความประทับใจในการใช้เทคนิคตระการตานี้เลย

นอกจากนี้เนื้อเรื่องที่เน้นการชิงรักหักสวาท พี่ชายกับน้องชายรักผู้หญิงคนเดียวกัน ทั้งๆที่พี่ชายก็มีภรรยาอยู่แล้ว มีการตบตีกันระหว่างผู้หญิงเพื่อแย่งผู้ชายคนเดียว ละครเรื่องนี้ดูแล้วแทบไม่ต่างจากละครหลังข่าวทีเดียว ผู้จัดละครคงลืมไปว่าผู้ชมส่วนใหญ่ที่นั่งอยู่หน้าจอทีวีนั้นเป็นเด็ก หากไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำขณะดูอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมได้

สำหรับข้าพเจ้าเองก็ติดตามละครแนวนี้มาตั้งแต่เด็ก และยังประทับใจกับทุกองค์ประกอบที่แสดงถึงความเป็นไทย ทั้งดนตรีประกอบ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมทั้งฉากและบรรยากาศของละคร ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่ปฏิเสธสิ่งใหม่ๆที่ผู้จัดละครพยายามแต่งเสริมให้มีสีสันยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่มีอยู่เดิมก็ดีอยู่แล้ว มีความคลาสสิคและมีเสน่ห์ในตัวมันเอง การปรับเปลี่ยนนั้นสามารถเป็นไปได้แต่ต้องทำอย่างเหมาะสม ไม่มากไปจนดูขัดหูขัดตาและทำให้แก่นแท้ของละครถูกเบี่ยงเบนไป ทั้งโครงเรื่องและแนวคิดสำคัญของเรื่องต้องคงอยู่เพื่อให้เป็นจุดเด่นของละครเรื่องนั้นๆ

อย่างไรก็ตามแม้องค์ประกอบของละครจะเปลี่ยนไปแต่ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อคิดที่ละครเรื่องนี้มอบให้กับผู้ชมยังคงอยู่ คำกล่าวที่ว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง” สามารถใช้ได้ในละครเรื่องนี้ พระทิณวงศ์เป็นอีกเรื่องที่นำเสนอแง่คิดในการดำเนินชีวิต และสะท้อนสังคมปัจจุบันได้ดี คนทุกคนไม่ว่าจะใหญ่โตมาจากไหนก็ย่อมทำผิดพลาดได้เสมอ ขอแค่เพียงยอมรับผิดเมื่อทำผิดและพร้อมจะแก้ไขสิ่งที่ผิดไปให้ดีขึ้น เหมือนกับพระทิณวงศ์ผู้เชื่อมั่นในความสามารถของตนเองและไม่ยอมก้มหัวให้ใคร ไม่ยอมรับฟังใคร ผู้เป็นใหญ่ไม่ควรจะมีลักษณะเช่นนี้ เพราะการเชื่อมั่นในตนเองมากไปก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ง่าย นอกจากนี้การทำอะไรตามใจตนเองมากเกินไปก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน คนเราต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจตัวเอง มีสติรอบคอบ คิดหน้าคิดหลังอยู่ตลอดเวลาว่าการกระทำของเราจะทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับผลกระทบนั้นๆหรือไม่

เป็นเวลากว่า40ปีแล้วที่ละครจักรๆวงศ์ๆได้ยืนหยัดอยู่บนถนนสายบันเทิงนี้ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสิ่งที่คู่กับกาลเวลาเสมอ “การอนุรักษ์” คงเป็นขั้วตรงข้ามกับการพัฒนา แต่ขอให้การพัฒนานั้นนำไปสู่สิ่งที่ดีในสังคม มิใช่มุ่งแต่ผลกำไรของผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียว เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนจะได้รู้สึกรักและหวงแหนสิ่งที่เป็นรากเหง้า เป็นเงาแห่งความเจริญในอดีตที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นและถ่ายทอดสู่ลูกหลานของตนด้วยความภาคภูมิใจ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในเว็บไซต์นี้ หยิบขึ้นมา ที่หลากหลายของ ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับ [url=http://title-publishing.org/]заниматься спортом[/url].