วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ความจริงของแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก “ จินดามณี ”




ภาคการศึกษาที่แล้วได้ลงเรียนรายวิชาพัฒนาการแบบเรียนภาษาและวรรณคดีไทย สอนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วีรฉัตร วรรณดี ได้ศึกษาแบบเรียนภาษาไทยอย่างละเอียดถึง4เล่มด้วยกัน นั่นคือ จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร แบบเรียนเร็วของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสยามไวยากรณ์ของพระยาอุปกิตศิลปะสาร “จินดามณี”เป็นแบบเรียนเล่มแรกที่เราเรียนในรายวิชานี้ หลังจากที่ได้ยินชื่อบ่อยครั้งในสมัยเรียนชั้นประถมและมัธยม เมื่อได้สัมผัสกับของจริงแล้วทำให้รู้สึกว่า ผู้แต่งแบบเรียนเล่มนี้“เยี่ยม”จริงๆ สมกับที่เป็นปราชญ์แผ่นดินโดยแท้ จะว่าไปจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีก็มีอายุอานามกว่าสี่ร้อยปีแล้ว ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ก็คงจะหาใช่เล่มที่ใช้เป็นต้นฉบับเล่าเรียนกันในสมัยนั้นไม่ จึงเกิดข้อสันนิษฐานที่ว่า


“หนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี (จินดามณีเล่ม1) ที่พิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบันมิใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สืบทอดมาจากต้นฉบับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”


การที่มีผู้คาดกันว่าหนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี (จินดามณีเล่ม1) ที่พิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบันมิใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สืบทอดมาจากต้นฉบับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอาจเนื่องมาจากหนังสือจินดามณีนั้นเป็นแบบเรียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ต้องการศึกษาจึงต้องคัดลอกเนื้อหาจากต้นฉบับลงสมุดไทยเอาเอง ดังนั้นเมื่อคัดลอกสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยก็เกิดความคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้เมื่อเจ้าของสมุดได้รับความรู้มาใหม่หรือคิดอะไรได้ใหม่ก็จะเพิ่มเติมลงไปในสมุดนั้น หรือเมื่อสมุดขาดก็เอามาปะติดปะต่อใหม่โดยไม่ได้ดูการเรียงลำดับหน้า อาจเอาต้นต่อกลาง กลางต่อท้ายปะปนกันไปหมด หรือในสมัยหลังอาจมีการคัดลอกหรือจดจารใหม่ ทำให้เกิดความคาดเคลื่อนขึ้น ดังที่ได้พบข้อสังเกตต่อไปนี้


1. การลำดับเนื้อหาที่ไม่เรียงไปตามความยากง่าย
ขึ้นต้นด้วยเรื่อง อักษรศัพท์ ซึ่งรวบรวมคำลักษณะต่างๆเช่น คำพ้องเสียง คำพ้องรูป
คำพ้องความหมาย เป็นต้น มาเรียงไว้

ตามด้วยเรื่องความรู้เกี่ยวกับอักขรวิธี ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการเขียน
และอ่านหนังสือไทย โดยขึ้นต้นเนื้อหาด้วยฉันท์ที่ประมวลศัพท์ที่ใช้ ส ศ ษ และคำที่ใช้
ใ ไ ตามด้วยความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรได้แก่ สระและพยัญชนะ โดยจำแนกพยัญชนะออก
เป็น 3 หมู่แล้วจึงตามด้วยการแจกลูกและการผันอักษรซึ่งผันเสียงวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง
ในตอนท้ายของเรื่องมีโคลงสี่สุภาพสรุปความรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมทั้ง
มีโคลงอธิบายเครื่องหมายวรรณยุกต์ และคำเป็นคำตาย

ในส่วนสุดท้ายเป็นการอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน ฉันท์ โคลง
ซึ่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆอยู่ปะปนกันเช่นกาพย์ขับไม้แทรกระหว่าง
โคลงกลบทสกัดแคร่กับโคลงขับไม้ เป็นต้น

จะเห็นว่าการเรียงลำดับเนื้อหาไม่เรียงไปตามความยากง่าย ตามความเป็นจริงแล้วผู้เริ่มเรียนต้องเรียนความรู้เกี่ยวกับอักขรวิธี ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานสู่การอ่าน เขียน สะกดคำอย่างถูกต้องแล้วจึงเรียนเรื่องอักษรศัพท์และการแต่งคำประพันธ์

2। เนื้อหาเรื่องเครื่องหมายวรรณยุกต์

ไม่ได้อธิบายแยกไว้โดดๆแต่มีการกล่าวถึงวรรณยุกต์ในตอนต้นของการผันอักษร โดยอธิบายเครื่องหมายวรรณยุกต์2 รูปคือ ( ่ )ไม้ค้อนหางวัว และ( ้ )ไม้โท แต่ในโคลงตอนท้ายปรากฏวรรณยุกต์ทั้ง4 รูปคือ ่ ้ ๊ ๋ และพบในโคลงที่คาดว่าจะมีผู้รู้แต่งขึ้นมาภายหลังเพราะมีส่วนคล้ายกับฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เลขเจ็ดคือรูปไม้ ตรีหมาย ก๊า

ห้าจัตวากาปลาย ที่เท้า ก๋า

อักษรกลางเบาราย เป็นฮ่า คำนา
นักปราชจงรู้เค้า ดั่งนี้อักษรไทย ฯ[1]

3. เนื้อหาและข้อความที่แสดงว่าเขียนขึ้นภายหลัง เช่น
ญ ย
นักปราช ส ศ ษ
ณ น
กิน บ ครัน คนตาม เร่งไร้
เป็นเสมียนหมู่ถามความ กินง่าย

ส แล นี้ใช้ ยิ่งค้าเมืองจีน ฯ [2]

โคลงบทนี้อาจแต่งเสริมขึ้นใหม่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าขายกับชาวจีนเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นการบันทึกค่านิยมของคนที่เห็นว่าการรู้หนังสือ เอื้อต่อการเป็นเสมียน อาจเป็นอาชีพที่แสดงความรู้และได้เงินดี โคลงบทนี้ยังแสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นเศรษฐกิจดีและมีการติดต่อกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีน ที่สร้างรายได้ต่ออาณาจักรสยามมาก


4. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งแตกต่างกัน

ในตอนท้ายของการผันอักษรมีการบอกที่มาของผู้แต่งว่า


“ จินดามุนีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุกโขทัยแต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าลพบุรีย” [3]

และได้กล่าวถึงอีกครั้งในตอนอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ โดยแต่งเป็นกาพย์สุรางคณางค์ 28 ว่า

“ ขุนปราชหนึ่งเลิศ เปนโหรประเสริฐ ปัญญาชำนาญ ชาวโอฆบุรี สวัสดีพิศาล ข้าพระภูบาล เจ้ากรุงพระนคร” [4]

จากข้อความตอนนี้จะเห็นว่าข้อมูลผู้แต่งไม่ตรงกันเพราะอาจจะแต่งเพิ่มในภายหลังหรือเดิมพระโหราธิบดีนี้อยู่เมืองสุโขทัย แล้วได้ย้ายมาอยู่เมืองโอฆบุรี(พิจิตร)ในภายหลังก็เป็นได้

5. มีคำประพันธ์ที่กล่าวว่า จินดามณีมีถึง5เล่มสมุดไทย

จากกลบทสิริวิบูลกิติ์ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) กวีในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีข้อความกล่าวถึงจินดามณีว่า


“…จินดามณี มีเสร็จสุด สมุดเล่มหนึ่ง ถึงเล่มสอง ต้องเล่มสาม ตามเล่มสี่ มีเล่มห้า…” [5]
หากจินดามณีเดิมมีถึง5เล่มจริงหนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นตำราที่มีเนื้อหาละเอียดและมีการอธิบายเป็นลำดับขั้นตอนอย่างมีระบบระเบียบกว่าฉบับที่หลงเหลือมาในปัจจุบันซึ่งมีเพียง1หรือ2 เล่มสมุดไทยเท่านั้น และเนื้อหาก็ไม่เป็นระเบียบและไม่ปะติดปะต่อกัน จึงเชื่อว่ามีการสูญหายของต้นฉบับเป็นแน่แท้ เพราะ “ ใช่วิสัยคนขนาด ‘ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ’ จะเขียนหนังสืออย่างจินดามณีเท่าที่มีอยู่ในบัดนี้ ”[6]

การศึกษาแบบเรียนจินดามณีในรายวิชานี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้สึกษาตามประเด็นที่อาจารย์วางไว้เท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือพัฒนาการทางภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รวมทั้งหลักเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่ผู้แต่งบรรจุลงในแบบเรียน ฉันคิดว่าผู้แต่งอาจตั้งตามสิ่งที่ตนเรียนรู้และสัมผัสได้ มีความเห็นอย่างไรก็บรรจุลงไปอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงจินตนาการและความสามารถในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และนักเรียนก็สามารถเรียนรู้ได้เร็วอีกด้วย

ลักษณะตัวอักษรในแบบเรียนจินดามณี
[1] จินดามณี เล่ม1-2 กับบันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ,(พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร,2514) หน้า30.
[2] เรื่องเดียวกัน ,หน้า27.
[3] เรื่องเดียวกัน,หน้า 27.
[4] เรืองเดียวกัน,หน้า 33.
[5] ชุมนุมตำรากลอนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ,หน้า183.
[6] ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, พระคัมภีร์จินดามณีของพระโหราธิบดี…,หน้า25

ไม่มีความคิดเห็น: