วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ผ้าขาวเปื้อนสีในชีวิต "ล่องจุ๊น"

ขอหมอนใบนั้น…ที่เธอฝันยามหนุน เป็นนวนิยายที่สะท้อนตัวตน ความคิดและชีวิตในบางแง่มุมของวัยรุ่นพร้อมทั้งเสริมแง่คิดให้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งการดำเนินชีวิต จากปลายปากกาของนักเขียนคุณภาพ ประภัสสร เสวิกุล ผู้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาวรรณกรรมหลากหลายอันลุ่มลึกสู่งานเขียนที่เข้าใจง่ายและละเมียดละไมในความรู้สึก เป็นการรวมศาสตร์และศิลป์แห่งภาษาให้ร้อยเรียงออกมาได้อย่างสละสลวย



“ไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง และไม่มีใครพลาดหวังทุกครั้งไป” เป็นวรรคทองอันคมคายที่ติดอยู่ในใจผู้อ่านเสมอมา คนเราอยู่ได้ด้วยความหวังและความฝัน หากเรามุ่งมั่นที่จะก้าวไปบนถนนสายชีวิตแห่งนี้ ก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะพบกับอุปสรรคขวากหนามที่เข้ามาเพื่อพิสูจน์กำลังใจและความกล้าแข็งเพื่อที่จะเติบโตและยืนหยัดบนโลกใบนี้อย่างมั่นคง เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตั้งรับ กล้าที่จะเผชิญและทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแค่เรามีสติและพยายามสู้กับปัญหาอย่างเต็มกำลังความสามารถ ปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นก็หมดไปได้ พร้อมกับความสำเร็จซึ่งรอเราอยู่ที่ปลายทางชีวิต และ“ล่องจุ๊น” เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้ดี



วายุ ภูบาลบริรักษ์ หรือล่องจุ๊นเป็นลูกชายคนกลางที่ถูกตราหน้าจากพ่อว่าเป็นผู้นำพาความโชคร้ายมาสู่ครอบครัว จุ๊นมีพี่น้องอีกสองคนคือ พี่ถมและนายกี้ ทั้งสองได้รับความรักจากผู้เป็นพ่ออย่างเต็มที่ ผิดกับจุ๊นที่ได้รับความรักความอบอุ่นจากผู้เป็นแม่เพียงฝ่ายเดียว ต่อมาพ่อมีรายได้มากขึ้นและมีผู้หญิงคนใหม่ ทำให้แม่หนีออกจากบ้านโดยพาจุ๊นไปด้วย แม่กับจุ๊นอาศัยอยู่กับอาอี๊จูและอาเตี๋ย ซึ่งขายหมูอยู่ที่นครปฐม ในวันหนึ่งหมูถูกตะขาบกัดตายหมดเล้า ทำให้จุ๊นกลับไปคิดว่าตัวเองเป็นตัวซวยอย่างที่พ่อบอก หลังจากนั้นแม่ของจุ๊นลงทุนขายข้าวแกง ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วนอาอี๊ก็เปลี่ยนมาขายวัสดุก่อสร้าง จุ๊นได้เจอพ่ออีกครั้ง และพ่อก็ยังดูถูกจุ๊นและแม่เหมือนเคย

ต่อมาครอบครัวของอาอี๊ถูกโจรปล้นฆ่าทั้งบ้าน พ่อมางานศพนี้ด้วยและพูดจาถากถางจุ๊น แต่จุ๊นก็ยังมี นิจ เพื่อนหญิงที่คอยให้กำลังใจมาโดยตลอด ทางบ้านของนิจกีดกันจุ๊น โดยพี่ชายของนิจยกพวกมาทำร้ายเขา พร้อมกับมิตรภาพที่ดีระหว่างนิจและจุ๊นก็ได้จบลงไปด้วย ต่อมานายทองเส็งเข้ามาอยู่ในบ้านในฐานะสามีใหม่ของแม่ วันหนึ่งจุ๊นเห็นนายทองเส็งซ้อมแม่ จึงได้นำมีดแทงที่ท้องของนายทองเส็ง ด้วยเหตุนี้ทำให้จุ๊นต้องหนีเข้ากรุงเทพฯกับไอ้นก เพื่อนสมัยเรียนด้วยกัน แต่ก่อนที่จุ๊นจะจัดการกับเรื่องเรียนอย่างที่ตั้งใจไว้ ไอ้นกก็ก่อเรื่องขึ้นเป็นเหตุให้จุ๊นต้องเข้าไปนอนในห้องขังแทน สุดท้ายก็พิสูจน์ได้ว่าจุ๊นไม่มีความผิด จุ๊นจึงต้องโทรหาพ่อให้มารับตัวไป

จากนั้นพ่อพาจุ๊นมาอยู่ที่บ้านแต่ทุกคนก็มีท่าทีหมางเมินกับเขา และเมื่อมาถึงวันเปิดเรียนจุ๊นได้พบกับประเวศน์ ผู้ทำให้เขาได้พบกับแตงกวา เด็กสาวผู้มีความหมายต่อชีวิตเขาในเวลาต่อมา จากนั้นไม่นานพ่อประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ จุ๊นจึงรีบรุดไปดู แต่พ่อก็ยังมีท่าทีความเฉยชากับเขาเหมือนเคย จุ๊นจึงเก็บตัวอยู่ในห้องโดยมีวิทยุเป็นเพื่อน จึงได้รู้ว่าที่โรงเรียนของแตงกวาจะมีการฉายหนังการกุศล และเมื่อวันงานมาถึงจุ๊นได้พบแตงกวา ทั้งสองพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร โชคร้ายที่มีคนตีกัน จุ๊นเข้าไปช่วยผู้ถูกรุมทำร้ายซึ่งก็คือนายกี้ ทำให้งานนี้ต้องล้มเลิกไปกลางคัน เหตุการณ์นี้เองทำให้จุ๊นรู้ว่าพ่อก็เห็นจุ๊นเป็นลูกคนหนึ่ง พ่อไม่ต้องการให้ลูกคนใดคนหนึ่งต้องไปอยู่ในห้องขัง จุ๊นจึงขอให้แตงกวาซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดมาเป็นพยาน ต่อมาจุ๊นได้ข่าวว่าแม่เจ็บหนัก จึงรีบไปหาแม่โดยมีนายกี้ พี่ถมและพ่อไปด้วย จากนั้นถึงแม้แม่จะไม่ได้มาอยู่กับพ่อเหมือนเคย แต่ทุกคนในครอบครัวก็อยู่กันด้วยความรักความเข้าใจ

. ล่องจุ๊น วายุ ภูบาลบริรักษ์ ตัวละครเอกของเรื่อง

กลวิธีในการแสดงลักษณะนิสัยของตัวละครเอก

เนื่องจากในนวนิยายเรื่องนี้ตัวละครเอกเป็นผู้เล่าเรื่อง ผู้อ่านจะรู้ความคิด ลักษณะนิสัยและ พฤติกรรมของเขามากที่สุด ล่องจุ๊นเป็นคนที่ต้องสู้กับความอยุติธรรมในชีวิตมาโดยตลอด ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่เคยได้รับความสุขเลยแม้แต่น้อย เขาไม่เคยได้รับความรักจากพ่อ และแอบอิจฉาพี่ชายและน้องชายอยู่ลึกๆ และเกิดความรู้สึกต่อต้านพ่ออยู่ในใจ
เมื่อมีความรักก็จะเป็นคนที่อ่อนไหว ละเอียดอ่อน ใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อยๆ มีจินตนาการและเต็มไปด้วยความฝันที่วาดไว้อย่างสวยงาม เขาเป็นคนหนักเอาเบาสู้ ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่และผู้มีพระคุณ เขาเป็นคนที่ไม่ยอมคน ถ้าตนไม่มีความผิดก็จะทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้เขายังรักแม่มาก เรียกได้ว่าแม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขาเลยที่เดียว เขาจึงห่วงใยความรู้สึกของแม่และไม่อยากให้แม่ไม่สบายใจหรือผิดหวังในตัวเขา

วิเคราะห์ลักษณะนิสัยของล่องจุ๊นตามแนวจิตวิทยา

จากผลการวิเคราะห์ปัญหาชีวิตและสุขภาพจิตตามแนวทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ฟรอยด์ ได้ให้ความสำคัญกับวัยเด็กมากที่สุด โดยมีความเห็นว่าวัยนี้เป็นพื้นฐานของชีวิต หากวัยเด็กเป็นวัยที่มีสุขและมีสุขภาพจิตดีแล้ว เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีปัญหา

ในกรณีของล่องจุ๊น มีลักษณะของปมเอดิปุส (Oedipus complex) ปมนี้เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุ6-12 ปี เด็กชายเริ่มหวงแม่ในตอนต้น ไม่ชอบพ่อ ต่อมาแรงผลักจากSuperego (ภาวะรู้สำนึกที่คอยควบคุมให้ทำในสิ่งที่สอดคล้องกับมาตฐานการปฏิบัติของสังคม) ทำให้เกิดความเข้าใจว่าพ่อดี มีความเข้มแข็ง เป็นชายเหมือนกันจึงน่าจะยอมแพ้มากกว่าเอาชนะ การรู้สึกยอมแพ้พ่อจึงทำให้เด็กชายรับเอาลักษณะของพ่อมาเป็นของตน เรียกว่า Identification หรือการเอาแบบอย่างเพศชายจากพ่อ มาถึงตอนนี้เด็กชายจะพัฒนาลักษณะของความเป็นชาย ภาวะวิกฤติตอนนี้ก็คือหากพ่อไม่มีลักษณะพิเศษที่จะให้เด็กเอาแบบอย่างได้ เด็กก็จะไม่เห็นจุดดีของพ่อ เด็กที่ขาดพ่อ พ่อขี้เมาหรือไม่เป็นผู้นำที่ดีก็จะทำให้เด็กเกลียดพ่อได้

การกระทำของล่องจุ๊นได้แสดงลักษณะของปมเอดิปุสอย่างชัดเจน เนื่องด้วยการกระทำของพ่อที่แสดงออกต่อตัวเขา ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความรักจากพ่อเท่าพี่น้องคนอื่นๆ จึงเกิดความรู้สึกต่อต้านอยู่ในใจโดยไม่สามารถแสดงออกมาได้ ต่อมาเมื่อเขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ทำให้เขาแสดงออกถึงความเป็นชายออกมา เช่น ตอนที่กลุ่มของเขามีเรื่องชกต่อยกับกลุ่มนายกี้ มีการขีดหัวคนไว้โดยสมมุติว่าเป็นหัวพ่อของแต่ละฝ่าย เขาจึงต้องแสดงถึงความเข้มแข็ง มีความสามารถเพื่อให้คนในกลุ่มยอมรับโดยการเป็นตัวแทนกลุ่มชกต่อย แม้ว่าบางครั้งเขาและนายกี้จะได้จับคู่ชกกันและภาพหัวที่ต้องเหยียบก็คือหัวของพ่อของเขาสองคนนั่นเอง แต่ความรู้สึกที่เขาบรรยายต่อผู้อ่านก็คือ มันเป็นความเจ็บปวดยิ่งกว่าฤทธิ์หมัดและฤทธิ์เข่า แสดงให้เห็นว่าลึกๆแล้วจุ๊นก็รักพ่อ ถึงแม้บางครั้งจะพูดกับตัวเองด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเกลียดพ่อก็ตาม

ฟรอยด์ มีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหาชีวิตในวัยต้นจะสะสมพอกพูนไปสู่ปัญหาในวัยต่อๆไป ปัญหาสุขภาพจิตในวัยเด็กมาจากการขาด 3 อย่าง คือ
1. การขาดความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทะนุถนอมจากพ่อและแม่ ความรักคือการได้รับการกอดรัดสัมผัส การที่พ่อแม่ใช้เสียงพูดคุยกับเด็ก การกล่อมเด็ก การช่วยเหลือเด็กเมื่อเด็กขับถ่ายและการได้รับอาหารเมื่อเด็กต้องการ จะเห็นว่าพ่อไม่เคยแสดงกิริยาอาการแบบนี้ต่อเขาเลย ความรักจากพ่อจึงเป็นสิ่งที่เขาโหยหามาตลอดชีวิตวัยเด็ก

“นับแต่เล็กจนโตที่ผมเฝ้าถามตัวเองว่า ผมทำอะไรผิดไว้แต่ครั้งไหนถึงได้เป็นที่จงเกลียดจงชังของพ่อ ผมเป็นลูกคนเดียวที่พ่อไม่เคยอุ้ม ไม่เคยโอ๋หรือแสดงความรักใครไยดีมาแต่ไหนแต่ไร…” (หน้า9)

2. การขาดวัตถุ เพราะการมีวัตถุแสดงถึงการได้เป็นเจ้าของ การได้เป็นเจ้าของคือการพอใจ
ของเล่นเป็นวัตถุที่เด็กต้องการ การให้เด็กเป็นเจ้าของของเล่นทำให้เด็กภาคภูมิใจ การมีทรัพย์สินส่วนตัวทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า พ่อแม่เป็นวัตถุอันเป็นที่รักของเด็ก เด็กจึงหวงพ่อแม่ หากใครมาแย่งไปก็จะโกรธและอิจฉา สำหรับจุ๊นได้กล่าวไว้หลายครั้งเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมของพ่อ แม้แต่การเติมเต็มด้านวัตถุเขายังไม่ได้รับจากพ่อเลย

“…บ่อยครั้งที่พ่อจะมีขนมอร่อยๆหรือของเล่นประเภทรถไขลานติดมือมาฝากลูกคนโตกับลูกคนเล็ก โดยปล่อยให้ผมเมียงๆมองๆ อยู่ห่างๆ” (หน้า9)

3. การขาดความภาคภูมิใจ เด็กๆต้องการความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ใครๆ
ต้องมาสนใจฉัน มีตำแหน่งฐานะในครอบครัว ถ้าเมื่อไรเด็กรู้สึกว่าตนสูญเสียตำแหน่งฐานะ ไม่มีศักดิ์ศรี เมื่อนั้นก็จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา ลำดับที่ของการเกิดมีผลต่อทัศนคติและการเลี้ยงดูของพ่อแม่ วิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันไปตามลำดับการเกิด ทำให้ความภาคภูมิใจของเด็กต่างกัน และนี่ก็เป็นพื้นฐานของสุขภาพจิตและบุคลิกภาพด้วย

“…ถึงแม้จะเป็นพี่น้องกันแท้ๆ แต่ผมกับนายกี้ก็ดูค่อนข้างจะห่างเหินกัน เพราะมันออกจะวางท่าข่มขู่ผมอยู่ในทีมาแต่ไหนแต่ไร นายกี้ไม่เคยเรียกผมว่า “พี่” และดูเหมือนว่าพ่อก็จะไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้ หนำซ้ำบางครั้งยังดูพออกพอใจที่เห็นมันแกล้งหรือรังแกผมต่อหน้าต่อตา” (หน้า13)

จะเห็นว่าพ่อไม่ได้ยกย่องหรือสร้างความภาคภูมิใจให้กับจุ๊นในฐานะลูกชายคนหนึ่งเลย หรืออาจเพราะจุ๊นเป็นลูกคนกลาง ซึ่งพ่อแม่มักจะเอาใจลูกคนโตและรักลูกคนเล็กมากกว่า ยิ่งการที่พ่อชอบแสดงความรักลูกแบบลำเอียงให้เห็น โดยเฉพาะกับลูกคนเล็ก ทำให้เขาเกิดทัศนคติไม่ดีต่อตัวเองและคนรอบข้างจนคิดว่าไม่มีใครรักเขาจริง สำหรับตัวจุ๊นเองก็มองพ่อด้วยอคติมาตลอด มองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ โดยคิดไปเองว่าพ่อมองเขาด้วยสายตาเยาะเย้ย เหยียดหยาม ทั้งๆที่ความเป็นจริงอาจจะไม่ร้ายแรงเช่นนั้นก็ได้ นอกจากนี้เขายังชอบพูดประชดตัวเอง และมองตัวเองต่ำต้อย การที่เขาไม่สามารถเข้ากับสมาชิกในครอบครัวได้ (ยกเว้นแม่) ทำให้เขาเป็นคนขี้เหงา ว้าเหว่ และต้องการความรัก ความห่วงใยมาเติมเต็มความรักที่ขาดหายไป


ขอหมอนใบนั้น…ที่เธอฝันยามหนุน จึงเป็นนวนิยายที่ไม่เพียงแต่ดีเด่นในด้านเนื้อหาของเรื่องที่เข้มข้น และสามารถตรึงผู้อ่านได้เท่านั้น ยังเป็นการจำลองสภาพชีวิตของคนในสังคมเมืองที่พบปัญหามากมาย และหลายๆปัญหาก็ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องที่แก้ไขไม่ได้แม้ในปัจจุบัน ผู้อ่านจึงต้องคิดพิจารณาในหลายๆแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องของทักษะการใช้ชีวิต แง่คิดในการดำเนินชีวิตและสาระอื่นๆก็สามารถเป็นกรณีศึกษาแก่ผู้อ่านได้ นวนิยายเรื่องนี้จึงมีคุณค่าในการเป็นกระจกสะท้อนสังคม ให้ผู้อ่านได้หันกลับมามองตัวเองว่าทุกวันนี้ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากน้อยเพียงใด และให้พฤติกรรมของล่องจุ๊นสอนผู้อ่านให้ตระหนักถึง “ความเป็นผู้ไม่ยอมแพ้” เพราะ “ไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง และไม่มีใครพลาดหวังทุกครั้งไป