วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

บทวิจารณ์ บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ : ภาพสะท้อนความคิดมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อ พ.ศ. 2521เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวนสิบสามเรื่องในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2524 โดยอัศศิริ ธรรมโชติ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีร้อยแก้วเพราะใช้ภาษาคมคายนุ่มลึก และมีศิลปะ เรื่องสั้นเรื่อง “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” ก็มีคุณสมบัตินี้เช่นเดียวกัน

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนวิธีคิดของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจ นำเสนอความพยายามของมนุษย์ในการดิ้นรนเพื่อให้ตนเอง “มี” อย่างที่คนอื่น “มี” การดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมที่เห็นความสำคัญของเงินเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเอารัดเอาเปรียบกัน มนุษย์ยอมให้สังคมแห่งทุนนิยมเข้ามามีบทบาทเหนือชีวิตของตนเพียงเพราะ“ความไม่มีเงิน ” และพยายามผลักดันตนเองสู่ชายขอบของสังคมเพียงเพราะตนเอง “มีไม่เท่าคนอื่น” เงินจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและพร้อมที่จะทำทุกวิธีการให้ได้มาโดยที่ศีลธรรมในจิตใจก็มิอาจต้านทานได้

เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงชายขายแตงโมคนหนึ่งได้พายเรือกลับบ้านพร้อมกับใจที่ห่อเหี่ยวในเวลาพลบค่ำ ก่อนหน้านี้เขาขนแตงโมล่องเรือไปขายเหมาที่ตลาดแต่ได้เงินมาเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่พอต่อการซื้อเสื้อลูกไม้ให้เมียและซื้อตุ๊กตาให้ลูกของเขา ระหว่างการพายเรือเขาเก็บตุ๊กตายางที่ลอยมากับกอสวะได้ เขาพอใจมากและคิดจะเก็บไว้ให้ลูกเล่น จากนั้นได้พายเรือพบศพเด็กหญิงร่างหนึ่ง ตอนแรกเขาต้องการใครสักคนมาช่วยแต่เมื่อเหลือบเห็นสร้อยทองคำที่ข้อมือเด็กน้อย เขาตื่นเต้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจรูดสร้อยเส้นนั้นออก เมื่อเขาก้มลงพบตุ๊กตาที่เก็บได้เมื่อครู่ ด้วยความกลัวจึงโยนทิ้งไปและกลับบ้านด้วยความดีใจ

จากเนื้อเรื่องที่กล่าวมาจะพบว่าความขัดแย้งของเรื่องเริ่มต้นที่ตัวละครเอกคือชายขายแตงโมถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน เขาต้องทำงานอย่างยากลำบากในการปลูกและขายแตงโม ทว่าเงินที่ได้ตอบแทนนั้นไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยที่เขาได้ลงทุนลงแรงไป เขาจึงพยายามหาเงินให้ได้มากกว่านี้ สิ่งที่เขาต้องการคือเสื้อลูกไม้ สร้อยข้อมือทองคำ ตุ๊กตา และวิทยุ ซึ่งมิใช่ของที่จำเป็นแต่อย่างใด เขาต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกตนก็ “มี” ไม่ต่างกับที่คนอื่น “มี” ดังนั้นเมื่อได้พบสร้อยข้อมือทองคำจากศพ เขาจึงไม่ลังเลที่จะรูดสร้อยข้อมือนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเขาเพราะลงทุนลงแรงแค่พายเรือเท่านั้นซึ่งเทียบไม่ติดกับความสุขของการได้รับความเติมเต็มทางด้าน “วัตถุ” ที่ครอบครัวได้รับ ทั้งที่ใจจริงแล้วเขาก็รู้สึกผิดพอสมควร ความคิดของเขาเป็นวิธีคิดในระบบทุนนิยมซึ่งมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก การกระทำครั้งนี้เหมือนกับการลงทุน ทั้งการลงทุนอยู่กับความกลัว อยู่กับกลิ่นเหม็นของศพ เขาจึงไม่อาจปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือไปได้ง่ายๆ เขายังอ้างถึงโชคชะตาที่ทำให้เขามาพบตุ๊กตา พบศพเด็ก พบสร้อย และทำให้เขาต้องทำเช่นนี้ โชคชะตาหรือกรรมเป็นข้ออ้างที่ยุติความคิดเขา ทำให้เขารู้สึกผิดน้อยลงและเป็นการปลอบใจตนเองอีกทางหนึ่ง

แนวเรื่องของเรื่องสั้นบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำนี้ 80% เน้นฉากและบรรยากาศ ผู้แต่งพรรณนาฉากอย่างโดดเด่นมีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และได้สัมผัส เสมือนว่าผู้อ่านได้ร่วมในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ผู้แต่งเลือกใช้ภาษาสื่อภาพ ความคิดและอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกคำที่ได้ใจความ สื่อความหมายเหมาะเจาะ ในการพรรณนาฉากริมสองฝั่งลำน้ำ ผู้เขียนได้ใช้ความรู้ทางทัศนศิลป์เข้าช่วย โดยเฉพาะการใช้แสง สี และเงา ภาพที่บรรยายจึงมีความงามทางทัศนศิลป์แฝงอยู่ “ นกเป็นฝูงบินกลับรังผ่านขอบฟ้าสีส้มเหนือทุ่งนาไกลลิบ ตะวันคล้อยลงเหลี่ยมเขา แมกไม้สองข้างริมฝั่งเกิดเงาง้ำถูกสีดำเข้ายึดครองเป็นหย่อมๆ ตรงเวิ้งน้ำข้างหน้าควันไฟลอดทิวไม้ดิ่งหายไปกับฟ้าสีซีด” นอกจากนี้ตั้งแต่เปิดเรื่องมาจะเห็นว่าผู้แต่งเน้นแสงจันทร์รำไรอยู่เสมอ ความมืดสลัวทำให้อารมณ์ของผู้อ่านต้องตื่นเต้นและลุ้นอยู่เสมอว่าจะเกิดอะไรขึ้น เสียงจักจั่นเรไรที่ร้องระงมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างน่ากลัว และทำให้การพบศพเด็กหญิงของชายขายแตงโมนั้นสมจริงยิ่งขึ้น อีกทั้งกลิ่นศพของเด็กหญิงขณะที่เขาได้กรีดข้อมือเพื่อที่จะรูดสร้อยออกมานั้นช่างทำให้ผู้อ่านพะอืดพะอมเสียเหลือเกินเมื่อนึกภาพตาม จะเห็นว่าฉากและบรรยากาศในเวลานี้เอื้อต่อการกระทำของเขาเป็นอย่างมาก

บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อประชาชน ระบบทุนนิยมทำให้ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะต่างคนก็ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” บางทีคนเราก็ไม่มีทางเลือกที่มากนัก ทุกคนจำต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเอง พยายามหาพื้นที่ทางสังคมให้ตนเองยืนอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสของกระแสทุนนิยมที่ไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

ไม่มีความคิดเห็น: