วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

ยอดดอยในรอยใจ



มู่มวลดอกหญ้าที่ขึ้นสองฝั่งถนนลาดยางนั้นพลิ้วไหวอย่างนุ่มนวลตามแรงลมที่พัดมาระลอกแล้วระลอกเล่า มีบางส่วนถูกมือน้อยๆของเด็กๆชายหญิงรูดกลีบเล็กๆสีขาวบริสุทธิ์โยนขึ้นเหนือศีรษะ ละอองเกสรล่องลอยตามแรงลมพร้อมกับเสียงหัวเราะสดใสดังกังวานไปทั่วบริเวณที่พวกเราเหยียบย่างถึง



ระยะทางกว่า 3กิโลเมตรจากโรงเรียนบ้านห้วยทรายขาว ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย สู่บ้านห้วยน้ำรินนั้นต้องข้ามภูเขาถึง2ลูก ไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆเลยสำหรับการเดินเท้าของคนพื้นราบเช่นฉัน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับหนูน้อยชาวเขาเผ่าอาข่าซึ่งเชี่ยวชาญการเดินทางบนพื้นที่สูง พวกเขามีความสุขที่จะจับมือผู้มาเยือนเดินไปด้วยกันตามทางสายนั้น รอยยิ้มที่พวกเขามอบให้ดูแจ่มใส จริงใจและมีชีวิตชีวา
ฉันมาที่นี่ในฐานะ “ครูอาสา”
มาที่นี่ เพื่อที่จะตามหาสิ่งที่ขาดหายไปของชีวิต
ฉันได้พบแล้วที่นี่ “บ้านห้วยน้ำริน”

…เป็นครั้งแรกที่แทนตัวเองว่า "ครู" ได้อย่างสนิทปาก
อาจเป็นเพราะ"พวกเขา" มองเราเป็นครูได้อย่างสนิทใจ…



สิ่งแรกที่สะดุดสายตาและบ่งบอกให้รู้ว่าถึงที่หมายแล้วคือ ประตูหมู่บ้านหรือที่เรียกกันว่าประตูผี สร้างขึ้นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและภูตผีปีศาจไม่ให้เข้ามาทำอันตรายคนในหมู่บ้าน ข้างประตูหมู่บ้านมีตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปชายหญิงแสดงถึงต้นกำเนิดของชาวอาข่า



ฉันอาศัยอยู่กับครอบครัวของน้องนาย เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่3 บ้านของเธอเป็นบ้านชั้นเดียว ก่ออิฐอย่างหยาบๆไว้ ภายในมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆเช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี ตู้เย็น และโทรศัพท์มือถือ มีห้องนอน2ห้อง ด้านหลังเป็นห้องครัว มีหลายอย่างที่ฉันไม่คาดคิดว่าจะพบที่นี่ สิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญ” กำลังคืบคลานเข้ามาในสังคมแห่งนี้และได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว
คงไม่เป็นไร แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป
หากวิถีแห่งใจยังคงเดิม

ฉันเรียกแม่ของน้องนายเป็นภาษาอาข่าว่า “อามะ” และเรียกพ่อว่า “อาดะ” พวกเขาพูดภาษาไทยได้และต้อนรับฉันอย่างดี รอยยิ้มที่อบอุ่นเป็นมิตรทำให้หัวใจของฉันแช่มชื่นขึ้นอย่างประหลาด เย็นวันนั้นฉันต้องแสดงเสน่ห์ปลายจวักเป็นมื้อแรก ที่นี่ใช้เตาอั้งโล่ที่มีกระบะดินอัดแน่นรองข้างใต้และใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยมีเพียงเกลือและผงชูรสเท่านั้นที่เป็นเครื่องปรุงรส



เมื่อทุกคนในครอบครัวมาพร้อมหน้าจึงเริ่มรับประทาน อาหารบนโตกไม้ไผ่สานมีต้มจืดและไข่ทอดฝีมือฉัน และแตงโมอ่อนต้มพร้อมน้ำพริกถั่วเหลืองที่อามะคะยั้นคะยอให้ฉันชิม เธอตักข้าวให้ฉันพูนจานทีเดียว ข้าวไร่ที่ปลูกเองตำเองหุงเองนี้ ไม่ติดกันเป็นก้อนเหมือนข้าวเหนียว ไม่นุ่มร่วนเหมือนข้าวสวยและสีค่อนข้างขุ่น ก่อนรับประทานอาหารอามะ และอาดะต่างสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าตามความเชื่อในคริสต์ศาสนา ฉันมองไปรอบๆห้องเห็นรูปเคารพพระเยซูติดอยู่ อามะบอกว่าชาวอาข่าบ้านห้วยน้ำรินนี้นับถือศาสนาคริสต์และนับถือผีควบคู่กัน ชาวบ้านจะไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ทุกบ้านจะมีรูปเคารพพระเยซูและเคร่งครัดต่อศาสนามาก แต่เด็กๆเกือบทุกคนก็สามารถสวดบูชาพระรัตนตรัยได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำประจำเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ความคิดอย่างหนึ่งผุดขึ้นมาในใจ “โรงเรียน เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่านะ?”



หลังมื้ออาหารเด็กๆชวนฉันไปเดินเล่นรอบๆหมู่บ้าน เจ้ามัคคุเทศก์ตัวน้อยจับมือฉันเดินไปตามบ้านต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ไผ่ยกพื้นเตี้ย หลังคาทำด้วยหญ้าคา ชายหลังคาคลุมเกือบปิดบ้าน ตัวบ้านจะมีระเบียงหน้าบ้านสำหรับนั่งเล่น และทุกบ้านมีไฟฟ้าใช้แล้ว



บริเวณลานวัฒนธรรมที่เราใช้ทำกิจกรรมกันมีชิงช้าไม้ไผ่ขัดกัน4เสาสำหรับพิธีกรรมโล้ชิงช้า ตั้งตระหง่านท่ามกลางแสงดาวพร่างพรายในเวลานี้ และชิงช้าสวรรค์ที่ทำด้วยไม้เรียกว่า “กะลาล่าเซอ” ซึ่งอนุญาตให้คนทั่วไปเล่นได้ ความรู้สึกของฉันเมื่อได้เล่น“กะลาล่าเซอ”นี้ เหมือนอยู่สูงพอจะเอื้อมมือไปคว้าดาวได้ทีเดียว


ฉันและกลุ่มครูอาสาได้พูดคุยกับลุงอาตี๋ ผู้นำชุมชนบ้านห้วยน้ำริน ชายชราผมสีดอกเลาบอกเล่าความเป็นมาของชาวอาข่าด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ คนอาข่ามองชีวิตเป็นการสืบทอดหน้าที่กัน เด็กเกิดมาเป็นประกันว่าเผ่าจะไม่สูญพันธุ์ เติบใหญ่ขึ้นเป็นผู้สร้างเผ่าและเป็นผู้รักษาวีถีชีวิตอาข่า เมื่อตายจะกลายเป็นวิญญาณบรรพบุรุษคอยปกป้องลูกหลานต่อไป”



เนื่องจากชาวอาข่าไม่มีตัวหนังสือใช้ จึงไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาข่าก็มีตำนาน สุภาษิต ประเพณีพิธีกรรมมากมายที่ทำให้หมายรู้ในเผ่าพันธุ์ และซาบซึ้งในความเป็นอาข่าของตน สามารถสืบสาวรายงานบรรพบุรุษฝ่ายบิดาขึ้นไปได้ถึง“ต้นตระกูล” และรู้สึกว่าท่านเหล่านั้นก่อกำเนิดชีวิตพวกเขา และประทานวิชาความรู้ในการเลี้ยงชีพมาโดยตลอด จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะรักและหวงแหนสิ่งที่บรรพบุรุษให้มาและสืบทอดไว้ให้นานเท่านาน เพราะชาวอาข่ามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสายโซ่ที่ร้อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน



สิ่งที่ครูอาสาทุกคนอยากรู้คือกฎหรือข้อห้ามของเผ่าอาข่า ลุงอาตี๋พูดอย่างแจ่มใสว่า ผู้มาเยือนต้องให้ความเคารพในประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่า ห้ามจับต้องสิ่งของต่าง ๆเช่น ประตูผี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้า ชิงช้า ที่ตีเหล็ก ถ้าฝ่าฝืนจะต้องเสียหมู 1 ตัวและเหล้า เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมขอขมาที่ล่วงเกินโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม



ฉันจึงโล่งใจที่ยังไม่ได้กระทำการอะไรผิดกฎของหมู่บ้าน และคิดว่าชีวิตครูอาสาในหมู่บ้านห้วยน้ำรินของฉันคงจะเป็นไปอย่างราบรื่น



คืนนี้ฉันเดินกลับบ้านพร้อมเพื่อนครูอาสาอีกหลายคน เด็กๆส่วนมากง่วงนอนกลับบ้านไปก่อนหน้านี้แล้ว เสียงจักจั่นเรไรร้องระงมทั่วหมู่บ้าน แสงจันทร์สาดส่องยอดดอยเบื้องหน้าแลเห็นเงาสีทองของก้อนเมฆยามเคลื่อนมาทาทาบดวงจันทร์เป็นความงดงามที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ที่มีเพียงป่าคอนกรีตและแสงไฟประดิษฐ์เท่านั้น
…………….

ความหนาวเย็นลอดผ่านก้อนอิฐมายังผืนผ้าห่มที่คลุมกาย ปลุกฉันให้ตื่นจากการหลับใหล เสียงผ่าฟืนดังมาจากในครัวทำให้รู้ว่าอามะตื่นมาทำอาหารแล้ว ฉันเดินตรงไปยังครัวพลางถูมือเพิ่มความอบอุ่น ฉันยิ้มให้อามะและเป็นลูกมือในการทำอาหารมื้อนี้ ฉันมองควันไฟเหนือหม้อข้าวที่ลอยขึ้นไปเกาะหลังคาจนเป็นสีดำ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งเพราะควันไฟจะทำให้หลังคาหญ้าเหนียวทนมากขึ้นและทำให้ภายในบ้านไร้แมลงรบกวน



หลังมื้ออาหารครูอาสาและเด็กๆเดินไปโรงเรียนด้วยกัน ระยะทาง3 กิโลเมตรในวันนี้ดูเหมือนไม่ไกลนัก พวกเราไปทันโรงเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติพอดี จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูของฉันถูกปลุกขึ้นมาเป็นครั้งแรกในชีวิต มันเป็นสิ่งเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่สำหรับฉัน เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พวกดูมีความสุขมากเมื่อได้ฟังนิทาน ร้องเพลงและได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าพวกเขาจะขาดสื่อการสอนดีๆ แต่ฉันรู้สึกว่าพวกเขามีทั้งจินตนาการและ “ทักษะชีวิต”สูง เด็กๆแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สามารถเอาตัวรอดในสังคมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ฉันเชื่อว่าทักษะชีวิตต้องปลูกฝังควบคู่ไปกับทักษะการเรียน เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


.............................................


…เมื่อดาวหนึ่งดวงร่วงลงจากฟ้า
จะมีดวงตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้แทน เป็นเด็กผู้หญิง
เป็นเด็กผู้ชาย ส่องแววประกายเด็กมีความหมายเช่นดาว…
เพลงนี้เป็นเพลงที่เด็กๆและครูอาสาร้องประสานกันก้องลานวัฒนธรรม ท่ามกลางภูเขารายล้อม มีดวงดาวเป็นดังโมบายแขวนระยิบระยับยามค่ำคืน แม้ลมหนาวจะพัดผ่านร่างกายจนสะท้าน แต่ฉันเชื่อว่าในหัวใจของทุกคนคงจะอบอุ่นและอบอวลไปด้วยมิตรภาพและความอาลัยเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอีกไม่นาน เราทุกคนต่างก็ต้องเดินไปตามทางของตนเองอีกครั้ง



คืนนี้เหล่าอามะ อาดะและเด็กๆต่างใส่ชุดประจำเผ่ามาร่วมกิจกรรมกัน อามะและเด็กหญิงสวมหมวกสีดำ มีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเชิดขึ้นมาทางด้านหลัง ด้านหน้าประดับสายลูกปัดสลับกับสายกระดุมเงิน มีลูกบอลเงินล้อมกรอบใบหน้า และมีเหรียญและลูกปัดห้อยเป็นสายประบ่า ด้านหลังเสื้อประดับด้วยเศษผ้าหลากสีสลับลายปักงามวิจิตร มีกระดุมเปลือกหอย กระดุมเงิน และพู่ห้อย กระโปรงสีดำ ผ้าผูกเอวประดับเปลือกหอยและลูกเดือย ส่วนเสื้อของอาดะและเด็กชายมีลายปักประดับชายเสื้อโดยรอบ บางคนก็ปักประดับอย่างงดงามที่สาบหน้าและสวมกางเกงสีดำ อามะแสดงการเต้นประจำเผ่าให้ชมกัน ก่อนที่พวกเราจะเต้นตอกบอกร่วมกันอย่างสนุกสนาน



หลังเลิกกิจกรรมพวกเราเหล่าครูอาสาต่างมาประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกันในด้านต่างๆ มีปัญหามากมายอันเนื่องจากความเจริญและความพัฒนาทางวัตถุซึ่งเข้ามาและพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตพวกเขา ชาวบ้านยินดีรับความเจริญนั้นเพราะทำให้เขาสะดวกสบายขึ้น การมีโทรทัศน์ทำให้พวกเขาเปิดโลกทัศน์และรับรู้ข่าวสารต่างๆ แต่ทว่าลานวัฒนธรรมกลับเงียบเหงา มีเพียงภูผาและแสงดาวเท่านั้นที่ยังคงเดิม เสียงหัวเราะของเด็กๆและวัยรุ่นกำลังเลือนหายไป ในเมื่อวัยรุ่นต้องเข้าเมืองเพื่อไปเรียนต่อ บางส่วนไปหางานทำ ทั้งๆที่บางคนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ด้วยซ้ำ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ฉันก็ได้แต่หวังว่า สักวันบ้านห้วยน้ำรินและชุมชนชาวเขาเผ่าอื่นๆจะเข้มแข็งพอที่จะยืนด้วยตนเองได้ ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง สามารถสืบทอดและรักษาความเป็นอาข่าและสิ่งที่บรรพบุรุษปลูกฝังไว้ ดังลูกปัดแห่งวิถีอาข่าที่จะต้องร้อยให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้
…………….

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ไม่มีใครอยากให้มาถึง เด็กๆมาหาฉันตั้งแต่เช้าเพื่อจะช่วยยกกระเป๋าสัมภาระ อามะร้อยสร้อยข้อมือที่ทำด้วยเมล็ดพืชให้ฉัน พวกเราไปที่ลานวัฒนธรรมเพื่อร้องเพลงอำลา ครูอาสาต่างกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เด็กๆเดินมาส่งฉันและเพื่อนครูอาสาที่หน้าประตูหมู่บ้าน และยืนรอจนรถสองแถวคันสีน้ำเงินเคลื่อนที่จากไป เสียงของอามะก้องดังในใจฉัน “อามะไปหาครูไม่ได้ แต่ครูมาหาอามะได้ ครูต้องมาอีกนะ” ฉันคิดในใจว่า “แน่นอนค่ะอามะ ถ้าเส้นทางของเราสองคนได้มาบรรจบกันอีกครั้ง”

รถสองแถวแล่นไปอย่างช้าๆด้วยความขรุขระของพื้นถนนลูกรัง ฉันเหม่อมองทุ่งข้าวข้างทาง พลางนึกถึงวันสุดท้ายที่เราเดินกลับหมู่บ้านด้วยกัน ภาพเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน แม่น้ำกก ดวงอาทิตย์ลอยประเหลี่ยมเขาสาดแสงส่องพื้นน้ำเป็นประกายสีทอง โดยเฉพาะความงามของใยแมงมุมที่ถักทอสานกันระหว่างใบกล้วยเป็นสีม่วงแกมทองเมื่อแสงอาทิตย์อัสดงส่องผ่าน เสียงหัวเราะของเด็กๆประสานกันดังดนตรีแห่งขุนเขาก้องดังอยู่ในโสตประสาทของฉัน นานๆครั้งที่ “เรา” จะได้มาเดินบนทางเดียวกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมอบมิตรภาพให้แก่กัน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่ฉันรู้สึกว่า หัวใจของฉันได้ถูกวางไว้ที่นี่โดยไม่รู้ตัว พวกเขาทำให้ฉันพบคำตอบที่ฉันเฝ้าหามานาน



“ ชีวิต ที่มีความสุขได้โดยไม่ต้องมีเงินมากมาย
ชีวิต ที่มีความสุขได้ด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ
ชีวิต ที่มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่คนเมืองไม่เคยมี
สิ่งนั้นก็คือ น้ำใจ

ไม่มีความคิดเห็น: