วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

วิถีสู่ความสำเร็จกับชีวิตหลังแท่นกลึง


ในอาคารปูนสีหม่นหลังนั้น มีเสียงอึกทึกของเครื่องจักรดังกึกก้องเป็นจังหวะสลับกับเสียงแหลมเล็กบาดหูของเครื่องตัดเหล็ก เสียงเครื่องยนต์กลไกหลากชนิดดังมาเป็นระยะๆ ประกอบกับเสียงเหล็กกระทบกันโครมครามเป็นเสียงที่ชินหูของฉันมากว่า20ปี

ภาพที่ชินตาฉันมาตั้งแต่เด็ก ชายร่างท้วมในเครื่องแบบช่างสีกรมท่าคนนั้นยังคงยืนสั่งการลูกน้องอย่างเอาจริงเอาจัง แม้เศษฝุ่นจะคลุ้งไปทั่วบริเวณ หรือแม้แดดจะร้อนสักเพียงใด ลูกค้าก็ยังพบกับรอยยิ้มที่เป็นมิตรและคำพูดที่เป็นกันเองของ “ช่างเนียว” หรือ
“นายนัฐพล รสสุขุมาลชาติ”

ในแวดวงช่างกลึงในอำเภอแม่สอด จังหวัดตากและอำเภอใกล้เคียง ไม่มีใครไม่รู้จัก “ช่างเนียว” หรือที่ใครๆเรียกว่า “เถ้าแก่เนียว”เจ้าของกิจการโรงกลึงเนียวการช่าง ซึ่งชีวิตของเขาในขณะนี้พูดได้ว่าก้าวมาถึงขั้น “ประสบความสำเร็จ” ในบทบาทการทำธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทและโรงงานต่างๆเป็นเวลากว่า20ปี กว่าที่เขาจะมายืนตรงจุดนี้ได้ อุปสรรคชีวิตที่ต้องเผชิญนั้นไม่ใช่น้อยๆทีเดียว

ช่างเนียวเป็นลูกคนที่3ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด7คน เกิดมาในบ้านเล็กๆแทบจะเรียกได้ว่ากระต๊อบซึ่งสร้างขึ้นอย่างง่ายๆด้วยไม้รวกสานมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เติบโตมาในสังคม
ชาวจีนแต้จิ๋วที่ทำการเกษตรเป็นหลัก ชีวิตในวัยเด็ก ลำบากเพราะต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ ไปเรื่อยๆเพื่อหาเช่าที่ดินสำหรับทำการเกษตรตามฤดูกาล เช่นปลูกอ้อย ยาสูบ เป็นต้น แม้จะขัดสนเงินทองแต่ในหัวใจของเขาไม่เคยขัดสนความรักจากครอบครัว เด็กชายเนียวมีโอกาสได้ศึกษาถึงระดับประถมศึกษาปีที่4เท่านั้นทั้งๆที่ใฝ่ฝันจะเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ด้วยความยากจนแม้รองเท้านักเรียนยังไม่มีใส่ ต้องเดินเท้าเปล่าไปยังโรงเรียน หลังจากเรียนจบเขาร่อนเร่หางานทำไปเรื่อย ทั้งรับจ้างตัดอ้อยได้ค่าแรงเพียงวันละ50บาท และไปเป็นศิษย์วัดเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอีก2ปี

ชีวิตของเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่ออายุได้13ปี เด็กชายเนียวต้องเดินทางจากบ้านเกิดมาฝึกงานที่โรงกลึงจังหวัดตาก โรงกลึงนี้เองที่เป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้ เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่มอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าในการทำงาน และสอนให้เขาเติบโตด้วยความเข้มแข็งและอดทน แม้จะต้องห่างไกลญาติพี่น้อง แม้จะถูกสบประมาทจากคนอื่นว่าเป็นลูกคนจน แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ คติประจำใจที่ก้องดังในมโนสำนึกอยู่เรื่อยมาคือ“ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน” เป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำงานด้วยความขยันขันแข็งและเก็บหอบรอมริบเพื่อที่สักวันจะต้องก้าวให้พ้นจากการเป็นลูกน้องและต้องหาหลักที่มั่นคงให้กับชีวิตให้ได้

15ปีผ่านไป เด็กชายเนียวได้กลายเป็นหนุ่มน้อยผู้เชี่ยวชาญงานกลึงและงานซ่อมแซมเครื่องจักรต่างๆ เขาใฝ่ฝันที่จะมีโรงกลึงเล็กๆของตนเอง เขาพบรักกับแม่ค้าผัดไทยสาวอายุ19ปี เจ้าของตำแหน่งขวัญใจช่างภาพ ในการประกวดเทพีกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ประจำปี2525 ต่อมาในวันที่1 เมษายน 2529 ทั้งสองก็ตกลงปลงใจแต่งงานกัน

หลังจากแต่งงาน ช่างเนียวตัดสินใจลาออกจากโรงกลึงที่จังหวัดตากและเดินตามความฝันของเขาด้วยการทำกิจการโรงกลึงเล็กๆของตัวเองที่อำเภอแม่สอดด้วยเงินทุนจากทองหมั้นของภรรยา โดยตั้งชื่อสถานประกอบการว่า “โรงกลึงเนียวการช่าง” เรียกได้ว่าโรงกลึงนี้เติบโตมาพร้อมๆกับชีวิตของฉันทีเดียว ลักษณะโรงกลึงในระยะแรกที่ฉันยังพอจำได้รางๆนั้นสร้างด้วยไม้มุงสังกะสีแบบเพิงหมาแหงน มีเครื่องกลึงเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ช่างเนียวเล่าถึงความรู้สึกในตอนแรกของการลงทุนทำกิจการของตัวเองว่า

“เราไม่มีอะไรต้องกลัวอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยมาก่อน การค่อยๆก้าวจากศูนย์ขึ้นมามันก็เหมือนการสั่งสมประสบการณ์ ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม้จะพบอุปสรรคก็ต้องสู้ ถ้ามัวแต่กลัวความผิดพลาดก็ไม่ได้ก้าวซะที คุณค่าของการเป็นมนุษย์อยู่ที่การต่อสู้ ไม่ใช่ไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่มันคือการต่อสู้ที่นี่(ชี้ที่หน้าอกข้างซ้าย) ต่อสู้กับจิตใจตัวเองนี่แหละ ปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะยากหรือง่ายมันอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ถ้าเรากล้าที่จะเผชิญหน้า ถ้าเรามองว่าต้องผ่านไปได้ มันก็จะผ่านไปได้เอง ที่สำคัญอย่าเพิ่งท้อแท้ ต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ”

“ ถึงแม้จะเพิ่งเปิดกิจการ แต่งานก็มีเข้ามาไม่เคยขาด อาจเพราะเราเลือกสถานที่ประกอบการดี อำเภอแม่สอดเป็นเมืองชายแดนที่มีโรงงานมาลงทุนมาก การค้าระหว่างประเทศเจริญดี เศรษฐกิจก็ดีส่งผลให้เรามีงานเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เมื่อเงินเหลือเก็บเราจึงเริ่มซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และจ้างลูกน้องคนไทย2-3คน ในช่วงแรกนี้ต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนทีเดียว” ช่างเนียวนึกย้อนไปในอดีตด้วยสีหน้าอิ่มเอิบใจ

8ปีผ่านไปโรงกลึงเนียวการช่างได้พัฒนาไปมาก จากเพิงหมาแหงนสู่อาคารปูนที่แข็งแรงทนทาน เครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆมีมากขึ้น และจ้างคนงานเกือบสิบชีวิตเพื่อรองรับงานที่เข้ามาตลอดแม้จะอยู่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ตาม ที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นด้วยนอกจากฉันแล้ว ยังมีน้องชายและน้องสาวตัวน้อยถือกำเนิดขึ้น

ถึงแม้เส้นทางการทำธุรกิจจะไปได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย บางคนเอาของมาซ่อมแล้วไม่จ่ายเงินหรือมาสั่งทำไว้แล้วไม่มารับก็มีเหมือนกัน และปัจจุบันราคาเหล็กและวัสดุอื่นๆสูงขึ้นทำให้อัตราค่าซ่อมแซมต้องเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะคนไทย ก็ไม่สนใจที่จะทำงานที่ต้องใช้แรงงานและเสี่ยงอันตรายเช่นนี้

ปัจจุบันนอกจากช่างเนียวจะเป็นเจ้าของกิจการโรงกลึงแล้วยังมีร้านขายเหล็กและวัสดุก่อสร้างอีกหนึ่งแห่งที่ดูแลโดยคุณแสงเทียน รสสุขุมาลชาติ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่คอยให้กำลังใจและเอาใจใส่กันอยู่เสมอมา ทั้งสองบอกกับฉันว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือว่ามีความสุขดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย แค่ได้อยู่กับคนที่เรารัก อยู่กับครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” ฉันรู้สึกตื้นตันกับประโยคที่มาจากใจนี้ หลังจากการพูดคุยกันในวันนั้นทำให้ฉันได้รู้จักคนใกล้ที่อยู่ห่างกันแสนไกลได้มากขึ้น และรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของเขา
"นายนัฐพล รสสุขุมาลชาติ" วีรบุรุษหลังแท่นกลึง …นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในใจฉัน

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับสำหรับบทความ