วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

รังแห่งความปรารถนาของมนุษย์ ใน "รังเลือด"


เหตุผลที่เลือก “รังเลือด”
ในโครงการประกวดงานเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดซึ่งเป็นเวทีแสดงความสามารถของนักเขียน และสร้างเขียนใหม่ๆที่มีคุณภาพในสังคมไทย จัดขึ้นโดยร้านนายอินทร์ซึ่งเป็นร้านหนังสือในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) แบ่งงานเขียนเป็น ๖ ประเภท ได้แก่ สารคดี วรรณกรรมเยาวชน หนังสือภาพสำหรับเด็ก นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ สำหรับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทนวนิยาย ครั้งที่ 2 ประจำปี ๒๕49 มีผลงานส่งประกวดทั้งสิ้น 54 เรื่อง คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ให้ "รังเลือด" ของ สาคร พูลสุข เป็นนวนิยายรางวัลยอดเยี่ยม นายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
ผู้วิจารณ์จึงสนใจที่จะวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล ถือเป็นหนึ่งในเครื่องรับประกันคุณภาพของงานเขียน เมื่ออ่านความเห็นของคณะกรรมการตัดสินแล้วรู้สึกว่านวนิยายเล่มนี้น่าสนใจ และงานเล่มนี้ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยเดียวกับผู้วิจารณ์จึงไม่น่าจะเข้าถึงสารของนวนิยายได้ยากเกินไปนัก

เนื้อเรื่องย่อ
นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงบุญเติมชายหนุ่มผู้เบื่อหน่ายชีวิตในกรุงเทพฯ เขาจึงทิ้งทุกอย่างรวมทั้งรอยพิมพ์ หญิงสาวที่รักเขาหมดหัวใจ เพื่อเดินทางสู่เกาะสี่เกาะห้า จังหวัดพัทลุงโดยทำงานในฐานะผู้ตรวจเก็บรังนก ในที่นี้เขาได้พบกับทีมเก็บรังนกอันมีลุงลอย ชอหอในทีมรังนก เขียว และคิ้มผู้เป็นลูกเชือก ชีวิตในการทำงานของเขาทำให้เขาได้เห็นภาพการเก็บรังนกซึ่งเปรียบเหมือนเกมชีวิตบนลำไม้ไผ่ เขาเห็นว่างานนี้เป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก แต่ค่าของชีวิตของพวกเขายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่บริษัทได้จากรังนกเหล่านั้น เขาจึงไว้ใจลูกทีมโดยไม่นับจำนวนรังนกที่เก็บได้

ข่าวลือเรื่องนางพรายทำให้ทุกคนบนเกาะกลัวจนไม่กล้าออกมาในยามค่ำคืน โดยหารู้ไม่ว่านางพรายที่ออกมาเล่นน้ำในเวลากลางคืนนั้นคือคันธมาลี เสมียนของบริษัท ความลับของนางพรายนี้มีบุญเติมเท่านั้นที่ล่วงรู้ ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งสองจึงได้ก่อตัวขึ้น

คิ้มหลงรักหนูวิน นางรำโนรา เขาจึงมีเรื่องหมางใจกับบุญยิ่ง ผู้ที่ได้ครอบครองปืนเพียงคนเดียวในเกาะที่มาติดพันหนูวิน เดือนร้อนถึงบุญเติมต้องเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหา บุญยิ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือคนอื่น แม้แต่เรื่องของความรัก เขาไม่ได้หมายปองหนูวินเพียงคนเดียว แต่รวมไปถึงคันธมาลีด้วย

วันหนึ่งรังนกได้หายไปจำนวนหนึ่ง เขาจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบรังนกส่วนที่หายไป แต่สุดท้ายเขาก็ได้รู้ว่าผู้กระทำผิดคือคิ้ม ลูกทีมที่เขาสนิทสนมซึ่งยอมหลังหลังเขาเพื่อนำเงินไปสู่ขอหนูวิน คิ้มสารภาพความผิดและโยงใยไปถึงบุญยิ่งผู้อยู่เบื้องหลัง ในคืนนั้นเองบุญยิ่งก็ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือของคันธมาลี ปัญหาบนเกาะรังนกได้คลี่คลายลง บุญเติมรู้ตัวว่าตนไม่เหมาะกับที่นี่ จึงตัดสินใจจากคันธมาลีเพื่อกลับไปใช้ชีวิตในเมืองหลวงตามเดิม และกลับไปหารอยพิมพ์หญิงสาวที่รอคอยเขาด้วยความรัก

โครงเรื่อง
จากเนื้อเรื่องย่อที่กล่าวมาจะเห็นว่ามีความน่าสนใจ ชวนติดตาม เป็นเรื่องจริง (realistic) ทั้งตัวละคร และเหตุการณ์ เหมาะกับสภาพความเป็นจริงทั้งในสังคมเมืองและสังคมบนเกาะรังนก สะท้อนภาพการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ต่างก็พยายามแสวงหาและแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองปรารถนาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆที่ผู้เขียนนำมาประกอบกันเป็นเนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเอกภาพ มีโครงสร้างของบทบาทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสมบูรณ์และจัดลำดับไว้เป็นอย่างดี

รังเลือดเปิดเรื่องบนเรือที่กำลังมุ่งหน้าสู่เกาะสี่เกาะห้า มีการแนะนำลูกทีมแต่ละคนผ่านบุญเติมซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง มีการเล่าเรื่องย้อนต้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภูมิหลังของบุญเติมทั้งความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับรอยพิมพ์ และบอกเหตุผลของการเดินทางสู่เกาะรังนก การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างช้าๆ เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับตัวละคร คือบุญเติมกับบุญยิ่งแต่ไม่เด่นชัดนัก เมื่อบุญเติมขอให้บุญยิ่งปล่อยชีวิตคิ้มไป บุญยิ่งจึงเริ่มหมางใจกับบุญเติม ต่อมาเรื่องดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุดเมื่อพบว่ารังนกได้หายไปส่วนหนึ่ง บุญเติมจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องถึงจุดคลี่คลายตรงที่คิ้มเปิดเผยว่าตนเป็นผู้ขโมยรังนก และโยงใยหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังคือบุญยิ่งนั่นเอง ปัญหาทุกอย่างจึงจบลง และปิดเรื่องที่บุญเติมตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเทพฯและกลับมาหารอยพิมพ์ หญิงสาวที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย

โครงเรื่องย่อยคือเรื่องของความรักและกามารมณ์สามารถสนับสนุนโครงเรื่องใหญ่ให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้ผู้อ่านเห็นสารของเรื่องนั่นคือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ได้เด่นชัดยิ่งขึ้น ตัวละครแต่ละตัวต่างเห็นแก่ตัวเพื่อความรักและเห็นแก่ตัวเพื่อผลประโยชน์ และทำทุกวิถีทางให้ได้มาโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง

ผู้วิจารณ์พบข้อบกพร่องในการดำเนินเรื่องอยู่ประการหนึ่งคือ การสร้างปมปัญหาในเรื่อง ดูเหมือนจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนและท้าทายความสามารถของบุญเติม แต่ผู้แต่งสร้างให้บุญเติมเป็นคนที่มีแต่ผู้อุปถัมภ์และคอยช่วยเหลือตลอด เมื่อเขาถูกกล่าวหาว่าขโมยรังนกและต้องรับผิดชอบจำนวนรังนกที่หายไป เขากลับมีความกลัว และหวาดหวั่นในใจอยู่ลึกๆ นอกจากนี้ผู้วิจารณ์รู้สึกว่าปมปัญหานั้นกระตุกได้ง่ายยิ่งเมื่อคิ้มเกิดสำนึกผิด เขาบอกความลับทุกอย่างก่อนจะกระโดดจาก ตัวหันลงมาตาย และบุญยิ่งซึ่งเป็นคู่อริของบุญเติมก็ถูกคันธมาลีหญิงสาวที่เขาต้องการมีความสัมพันธ์ด้วยฆ่าตาย จะเห็นว่าบุญเติมไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหานั้นเลย เพราะบุคคลใกล้ตัวเป็นผู้แก้ปมปัญหาให้เขาเสร็จสรรพ การดำเนินเรื่องลักษณะนี้ทำให้บทบาทการเป็นตัวละครเอกถูกลดทอนคุณค่าลงเพราะเขาไม่ได้แสดงไหวพริบใดๆในการแก้ปัญหาเลย

ตัวละคร
ตัวละครเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องในนวนิยายประเภทชีวิตจริง ดังเรื่อง“รังเลือด”นี้ ผู้แต่งได้พยายามสร้างตัวละครไม่ให้ผิดไปจากมนุษย์จริง ไม่ว่าการกระทำ คำพูด หรือความคิด ไม่มีใครที่ดีพร้อมไปทุกอย่าง ทั้งบุญเติมผู้เป็นตัวละครเอก รอยพิมพ์ นักร้องพันหน้า คันธมาลี ลุงลอย เขียว คิ้ม บุญยิ่ง หนูวิน หนูวาด เป็นตัวประกอบ แต่ละคนก็มีบทบาทที่โดดเด่น มีชีวิตชีวา มีความเป็นตัวของตัวเอง การสร้างภาพตัวละครแต่ละตัวมีมิติและรายละเอียดที่ต่างกัน อาจเพราะการเล่าผ่านสายตาของบุญเติม ทำให้รูปลักษณ์ของตัวละครเหล่านั้นแตกต่างไปตามความสนิทสนมและทัศนคติของบุญเติมไปด้วยซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ในที่นี้ผู้วิจารณ์จะเลือกวิเคราะห์ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินเรื่องได้แก่ บุญเติม บุญยิ่ง คันธมาลี และรอยพิมพ์

บุญเติม ตัวละครเอกของเรื่อง
เนื่องจากในนวนิยายเรื่องนี้ตัวละครเอก คือ บุญเติมเป็นผู้เล่าเรื่อง ดังนั้นทุกการกระทำ ทุกการสนทนา วิธีการใช้คำพูด วิธีการโต้ตอบ และการบรรยายสิ่งรอบตัวให้ผู้อ่านเห็นก็พอจะสรุปได้ว่าเขาเป็นคนที่คิดมาก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงได้ตัดสินใจออกจากกรุงเทพด้วยเหตุผลที่ว่า “สิ่งทีอยู่ในความคิดของผมคือการไปให้พ้นจากเมืองที่กลืนกินชีวิตทั้งชีวิตของผมไว้”การถูกกดดันและถูกคนในสังคมเล่นตลกกับชีวิต เขาจึงพยายามก้าวออกจากกรอบของสังคมที่ทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ทุกคำพูดของเขาจะแทรกการเปรียบเปรย ใช้คำพูดที่สละสลวยแฝงไปด้วยความคมคาย และเห็นทัศนคติต่อโลกที่ในมุมแตกต่าง จนบางทีผู้วิจารณ์เองยังคิดว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ดู “แปลก” เช่น การเปลือยกายลงสระน้ำในสวนสาธารณะกับเพื่อนชายหญิง ด้วยความรู้สึกว่า ตัวเองได้เปลือยทุกสิ่งทุกอย่างออกมาหมด หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันภายในผืนน้ำอันกว้างใหญ่และสงบนิ่ง นอกจากนี้เขายังทำให้เราเห็นทัศนคติอีกด้านของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง เช่น ทัศนคติเกี่ยวกับพรหมจรรย์ของผู้หญิงที่ว่า

“ถ้าพรหมจรรย์ที่คุณพูดถึงมันไม่ได้หมายถึงเยื่อพรหมจารี ผมเชื่อว่าคุณมี ผู้หญิงทุกคนเป็นสาวพรหมจรรย์ได้ ถ้าหากรักษาความเป็นผู้หญิงเอาไว้ได้”

บุญเติมมีลักษณะคล้ายพระเอกในวรรณคดีคือมีความเจ้าชู้ เชี่ยวชาญในบทรักและสามารถทำให้หญิงสาวที่มีความสัมพันธ์ด้วยพอใจ ผู้แต่งบรรยายภาพการร่วมรักของเขาอย่างโจ่งแจ้ง สื่อถึงแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้อุปนิสัยของเขายังทำให้เขาเป็นที่รักของทีมเก็บรังนก การที่เขาไว้ใจทีมเก็บรังนกโดยไม่ตรวจจำนวนรังนกที่เก็บได้ เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจนี่เองที่ทำให้เขาต้องเกิดปัญหาตามมา แต่ก็มีคนยื่นมือมาช่วยแก้ปัญหานั้นจนได้โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลย

บุญเติมเป็นตัวละครกลม เขามีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองเหมือนมนุษย์ทั่วไป เช่นการที่เขาทิ้งรอยพิมพ์มาทำงานที่เกาะรังนกและได้มีความสัมพันธ์กับคันธมาลีอย่างลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่ยังผูกพันกับรอยพิมพ์อยู่ ทั้งนี้บุคลิกและลักษณะนิสัยของเขามีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเมื่อเขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในดินแดนที่มีการแก่งแย่งชิงดีไม่ต่างจากในเมืองใหญ่

บุญยิ่ง
บุญยิ่งเป็นตัวละครปรปักษ์ ผู้แต่งสร้างเขาให้มีความแตกต่างจากบุญเติมอย่างสิ้นเชิงทั้งรูปลักษณ์ ลักษณะนิสัยและเสน่ห์มัดใจผู้หญิง บุญยิ่งเป็นตัวละครแบน โดยผู้อ่านจะมองเขาในมุมที่ไม่ดีผ่านสายตาของบุญเติม มีความมั่นใจในตัวเองสูง หยาบคาย ใจร้อน ชอบระราน ไม่จริงใจ การที่เขามีปืน ทำให้เขาหลงคิดว่าตนเองมีอำนาจ ชอบใช้กำลังและเป็นคนที่ “กร่าง” พอตัว เขามีเรื่องกับคิ้มแต่บุญเติมเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ จากนั้นบุญยิ่งก็ไม่ชอบบุญเติมอยู่ลึกๆ เพราะระแคะระคายเรื่องที่บุญเติมมีความสัมพันธ์กับคันธมาลี เขาพร้อมจะฆ่าใครก็ได้ที่คิดไม่ซื่อกับบริษัท แต่สุดท้ายเขาก็เป็นผู้วางแผนการขโมยรังนกเสียเอง โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขโมยรังนกของคิ้ม เขาหลงรักคันธมาลี จึงทำทุกอย่างให้เธอสนใจ สุดท้ายบุญยิ่งก็ต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของคันธมาลี ผู้หญิงที่เขารักนั่นเอง

รอยพิมพ์
รอยพิมพ์เป็นตัวละครที่รักใครรักจริง แม้จะขาดความรัก ความอบอุ่น แต่เธอก็ได้มองหาสิ่งเติมเต็มในชีวิตเธออยู่เสมอ เธอเคยมีปมหลังในชีวิต เพราะครั้งหนึ่งเธอเคยเชื่อใจหญิงสาวคนหนึ่งที่สอนให้เธอรู้จักกับการหาความสุขด้วยตัวเอง แต่กลับมารู้ภายหลังว่าถูกหลอก ถึงเธอจะไม่ใช่เลสเบียน หรือชอบผู้หญิงด้วยกันเอง แต่เธอก็รู้สึกหมดศรัทธาและไม่เชื่อใจใครมานานแล้ว ด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่สนใจจะดูแลตัวเองและปล่อยให้ห้องรกรุงรัง จนได้มาพบกับบุญเติมที่เข้ามาเติมเต็มความสุขในเพศรสให้แก่เธออีกครั้ง เมื่อบุญเติมทิ้งเธอไปเธอจึงพยายามตัดใจโดยการปรับปรุงตัวใหม่ และมองโลกในมุมใหม่ๆเพื่อให้ลืมเขา

แม้รอยพิมพ์จะเป็นตัวละครที่ไม่เด่นมากนัก แต่ทุกครั้งที่ปรากฏตัว ก็เป็นการสร้างสีสันให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นตัวละครที่มีความหลากหลายในตนเอง มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีอย่างเด่นชัด เช่นในเรื่องของความรัก เธอเป็นคนรักเดียวใจเดียว และมีบุญเติมเพียงคนเดียว ทำให้เกิดความอยากเป็นเจ้าของและเมื่อบุญเติมทิ้งให้เธอต้องอยู่คนเดียวอีกครั้ง ทำให้เธอกลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น และพยายามหาทางแก้แค้นบุญเติม แต่ในที่สุดเธอก็ให้อภัยบุญเติม และกลับมาคืนดีกันในที่สุด ด้วยการเป็นตัวละครที่แสดงอารมณ์อันหลากหลาย ทำให้รอยพิมพ์เป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจอีกตัวหนึ่งเลยทีเดียว

คันธมาลี
คันธมาลีเป็นหญิงสาวที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง เป็นคนตรงไปตรงมา ชอบความท้าทาย และไม่กลัวใคร เธอเป็นตัวละครที่มีความ “แปลก” ในตัวเอง มักคิดหรือทำอะไรไม่เหมือนกับคนอื่น โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เช่น การใช้ชีวิตแบบนางพราย โดยตอนกลางคืนจะชอบเปลือยกายว่ายน้ำอยู่คนเดียว ทำให้ผู้คนต่างติดว่าเธอเป็นผีพราย เธอมีทัศนคติที่แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น ไม่ชอบความสัมพันธ์ที่ผูกมัด และเปรียบเทียบความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชายหญิงที่ไม่ต่างจากความตาย นอกจากบทบาทที่โดดเด่นในเรื่องกามารมณ์แล้ว เธอยังเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีมารยาหญิงสูงทีเดียว เธอได้ใช้ไหวพริบและจริตของความเป็นหญิงในการทดสอบปฏิภาณผู้ชายอย่างแนบเนียนเรียกได้ว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่มีคุณสมบัติสำคัญของความเป็นกุลสตรีเลย

ในอดีตคันธมาลีไม่ชอบต้นมะขามเทศและขี้แพะ เธอมีวิธีลดปมเหล่านี้ในใจ โดยการบอกให้พ่อขายแพะทุกครั้งที่เธอขอเงินไปเรียน เธอทำเช่นนั้นเรื่อยมา จนในที่สุดพ่อก็ขายแพะทีเดียว 10 ตัวพร้อมกับนำเงินมาให้เธอ แล้วพูดว่า “ อย่ากลับมาจนกว่าจะคิดว่าขี้แพะหอม” จึงเป็นสาเหตุให้เธอเลือกออกจากบ้าน เพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระตามเส้นทางของเธอเอง

คันธมาลีเป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมที่เหลือเชื่อ เช่น เมื่ออยู่ในน้ำจะมีแรงมาก จนสามารถฆ่าบุญยิ่งได้ ดูเป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติและผิดจากความเป็นจริงอยู่ทีเดียว เธอเป็นตัวละครกลม มีทั้งด้านดีและด้านร้ายปะปนกันไป ซึ่งในด้านดีเป็นเรื่องของความจริงใจที่เธอมีต่อบุญเติม ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ เธอเป็นตัวละครที่แหวกประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เช่นในเรื่องของการรักนวลสงวนตัว และการที่เธอฆ่าบุญยิ่งเพื่อช่วยบุญเติม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่าไรนัก

กลวิธีการเล่าเรื่องและผู้เล่าเรื่อง
กลวิธีของผู้ประพันธ์วิธีการที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินเรื่องให้น่าสนใจโดยอาศัยพฤติกรรมของตัวละครเอก นั่นคือบุญเติม การเล่าเรื่องแบบนี้เรียกว่าผู้เล่าเรื่อง-ผู้กระทำ เหตุการณ์ทุกอย่างที่ผู้อ่านได้รับรู้จะเล่าผ่านสายตาและความรู้สึกนึกคิดของบุญเติม ซึ่งในเรื่องนี้ใช้สรรพนามบุรุษที่1คือ”ผม” ทั้งเรื่อง โดยพยายามเสียดสี ตีแผ่สังคมที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ ผู้อ่านได้เห็นทัศนะของบุคคลต่างๆ ที่มีต่อชีวิตและสังคมที่พวกเขายืนอยู่ ทำให้เราเห็นรูปร่าง บุคลิก และลักษณะนิสัยของตัวละครผ่านสายตาบุญเติม แม้ว่าการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ทำให้เรื่องดูสมจริง น่าเชื่อถือ แต่การบรรยายอากัปกิริยาท่าทาง ลักษณะภายนอก การแต่งตัวของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครอื่นเฉพาะที่บุญเติมสนทนาด้วยเท่านั้น และตัวละครที่ถูกกล่าวถึงนั้นถูกปรุงแต่งด้วยความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของเขา หากบุญเติมนิยมชมชอบก็จะพูดถึงในทางที่ดี แต่หากเขารู้สึกไม่ดีด้วยก็อาจจะพูดถึงด้วยอคติก็เป็นได้

บทสนทนา
ผู้แต่งพยายามเลือกเฟ้นถ้อยคำสำนวนมาใช้อย่างประณีต ในบทสนทนาทำให้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครได้ดี เห็นบุคลิกของตัวละครอย่างเด่นชัด บทสนทนามีความแตกต่างไปตามฐานะทางสังคมของตัวละคร เหมาะกับสถานการณ์ ใส่อารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจนดี ทำให้เรื่องมีความสมจริง ผู้แต่งมีความสามารถในการนำบทสนทนามาช่วยในการดำเนินเรื่อง และเป็นวิธีการหนึ่งในการนำเสนอตัวละคร บทสนทนาของตัวละครมีความสละสลวย ใช้ความเปรียบมาก เช่นคำว่า “เกสรแห่งความใคร่” “กระจกส่องตัณหา”หรือ“นกพิราบในแขนเสื้อของนักมายากล” นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาถิ่นใต้อย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไปและไม่ยากเกินความเข้าใจของผู้อ่าน มีการบอกความหมายศัพท์เฉพาะถิ่นบางคำไว้ที่เชิงอรรถ
ตัวอย่างบทสนทนาระหว่างบุญเติมกับเขียว

“มีจริงหรือคุณเขียว” ผมรีบถามขึ้น
“มีสิ คนเขาเห็นกันทั้งเกาะ ผมยาวเฟื้อยเลยนายหัวเหอ มันชอบมาว่ายน้ำเล่นตอนหัวค่ำ ยิ่งคืนไหนเดือนแจ้งมันยิ่งชอบ บางคืนมันยังมานั่งฟังลุยลอยเป่าปี่ ผมสงสัยว่ามันต้องเป็นผีที่ลุงลอยเลี้ยงไว้ด้วยเสียงปี่ ลุงลอยนี่ก็แปลก เลี้ยงผีด้วยเสียงปี” เขียวเล่า (หน้า 66)

ฉากและบรรยากาศ
ฉากและบรรยากาศส่วนใหญ่จะเป็นสภาพพื้นที่โดยทั่วไปบนเกาะสี่เกาะห้า จังหวัดพัทลุงในยุคปัจจุบัน ผู้เขียนใช้สถานที่ต่างๆเป็นฉากอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น บนเรือ ถ้ำเก็บรังนก กงสีของบริษัท และท่าอาบน้ำ เป็นต้น นวนิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นอยู่ที่การพรรณนาฉาก เพราะสามารถพรรณนารายละเอียดปลีกย่อยได้หมด ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ บรรยากาศ อากาศขณะนั้น รวมทั้งสภาพสถานที่ มีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นได้รส และมีสัมผัส ใช้ภาษาที่มีพลังของการอธิบาย สามารถสร้างภาพในใจให้กับผู้อ่าน ฉากแต่ละแห่งทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพพจน์ได้ชัดเจน มีความสมจริงผู้อ่านจะรู้สึกว่าตนเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง การสร้างฉากปรุงแต่งบรรยากาศในเรื่องให้มีชีวิตชาขึ้น แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ดี สอดคล้องกับเหตุการณ์ในเรื่องและสอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร เช่น

ปากพะยูน อำเภอเล็กๆริมฝั่งทะเลสาบสงขลา ไม่ว่าจะมองจากมุมใด แค่คุณกวาดสายตาเพียงครั้งเดียวก็สามารถมองเห็นอำเภอนี้ได้ทุกแง่มุม ย่นตลาดเห็นตึกแถวสลับด้วยบ้านไม้แบบเก่าซึ่งมีร้านขายของชำเสียเป็นส่วนใหญ่ ใกล้กับริมทะเลสาบมีสวนหย่อมเล็กๆพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นสวนสาธรระให้คนพักผ่อนหย่อนใจ (หน้า35)

ภาษาสำนวนที่ใช้ในเรื่อง
สำนวนภาษาที่ใช้ในเรื่อง มีความชัดเจน ใช้ความเปรียบได้ดี เต็มไปด้วยคารมคมคายและมีปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้ง เช่น

“ ถ้าหากจะมีใครสักคนพูดว่า ชีวิตก็เหมือนขนนกในสายลม ทั้งเบาหวิวและไร้แรงต้านทานต่อโชคชะตา ผมก็คงเป็นขนนกเส้นที่บางเบาที่สุด เพราะสายลมได้พัดพาเอาชีวิตของผมมาตกอยู่ในดินแดนอันเต็มไปด้วยเลือดเนื้อแห่งความจริง ทุกเนื้อหนังมังสาของผู้คนบนเกาะรังนกนางแอ่นนี้เต็มไปด้วยความปรารถนาซึ่งงอกเงยมาจากความต้องการอันซ่อนเร้นอยู่ภายใน บางคนเปิดเผยมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา บางคนเปิดออกมาอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งคนที่พ่ายแพ้และคนที่สมหวัง” (หน้า16)

“คุณพูดว่าคนบางคนทำตัวเหมือนนกพิราบในแขนเสื้อของนักมายากล คุณหมายถึง…”
“ใครก็ได้ บางทีผมก็ทำตัวอย่างนั้น หรือบางทีคุณเองอาจจะเคยทำแต่ไม่รู้สึกตัว เพราะเคยชินกับวิธีให้อาหารของนักมายากล เคยชินกับการถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวอยู่ในที่อับมืด ได้ยินแต่เสียงปรบมือดังแว่วมาจากที่ไกลๆ เสียงปรบมือที่นักมายากลได้รับแต่เพียงผู้เดียว” (หน้า 26)

… บางครั้งความแตกต่างที่มีอยู่บนโลกใบนี้ถูกคั่นแค่การมองมาจากล่างขึ้นข้างบนหรือมองจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอกไป เมื่อมองจากข้างบนลงมายังข้างล่าง เรามักจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่และมีความสำคัญ ภาพที่มองเห็นอยู่ในความควบคุมของเรา แต่เมื่อเรามองจากด้านล่างขึ้นข้างบน เราก็จะรู้สึกว่าโลกนี้ยิ่งใหญ่นัก ทุกสิ่งทุกอย่างดูใกล้และใหญ่โตราวกับมองผ่านกล้องส่องทางไกลและเราควบคุมมันไม่ได้… (หน้า70)

ท่วงทำนองการแต่ง มีความเด่นทั้งการเลือกใช้คำ การเล่าเรื่องใช้คำง่ายๆ กระจ่างชัดเจนและท่วงทำนองโวหาร เช่น

พรรณนาโวหาร โดยบรรยายฉากทีละส่วนๆ จากส่วนที่จางที่สุดไปสู่ส่วนที่เข้มที่สุดเหมือนการค่อยๆร่างภาพของจิตรกร มีการอธิบายโดยอาศัยแสงและเงา ทำให้ภาพในจินตนาการมีความงามทางทัศนศิลป์ เช่น
… ปลายเดือนมีนาคม ในช่วงบ่ายมีม่านเมฆจางๆตั้งเค้ามาจากเมืองพัทลุงก่อนจะจางหายไปกับความอบอ้าว บางครั้งม่านเมฆกรองแสงอาทิตย์ออกเป็นเฉดสีดูละลานตา แถบสีแดงเข้มไล้ไปตามขอบก้อนเมฆ ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีม่วงและสีน้ำเงินจางๆ ในขณะที่สีเทานั้นพาดผ่านและค่อยๆโอบล้อมสีทั้งหมดไว้และค่อยๆกลืนหายไปทีละน้อย...

บรรยายโวหาร ผู้แต่งมีความสามารถในการใช้คำมาบรรยายเหตุการณ์ได้อย่างดี ผู้อ่านสามารถรับรู้ถึงรูป รส กลิ่น เสียง เห็นภาพวิถีชีวิตและการกระทำอย่างชัดเจน เช่น

...บริเวณศาลของสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เคยสงบเงียบขรึมขลังกลับแทนที่ด้วยความอึกทึกของผู้คน มีพ่อค้าแม่ค้านำสิ่งของมาวางขายตลอดแนวทางเดิน กลิ่นธูปลอยอบอวลไปทั่วทั้งบริเวณ แสงเทียนส่องไสวทำให้ใบหน้าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูอิ่มเอิบราวกับจะรับรู้ถึงการบวงสรวง ทองคำเปลวปลิวตกเกลื่อนหน้าถ้ำ...

อุปมาโวหาร มีการใช้ความเปรียบในการอธิบายขยายความหรือ ในความคิดของตัวละครเกือบทั้งเรื่อง ซึ่งความเปรียบนั้นได้ชำแหละลึกลงไปให้เห็นตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
...สิ่งที่ผมประสบมา เมื่อมาเทียบกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำ มันทำให้คิดว่าตัวผมเป็นเพียงแค่เม็ดทรายในภูเขาแห่งความทุกข์ยาก ที่แม้แต่ลมเพียงน้อยนิดก็พัดให้ผมปลิวไปได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ก้อนกรวดอย่างพวกเขายังคงหนักแน่นอยู่ในภูเขาเช่นเดิม หนักแน่นอยู่ในความทุกข์ยากเช่นเดิม...

การเลือกใช้คำ ใช้คำที่มีความหมายเหมาะสมกับเนื้อเรื่องและสถานภาพของตัวละคร ลักษณะการพูดจาเหมาะสมกับบุคลิกลักษณะตัวละคร มีการแทรกภาษาถิ่นในบทสนทนาอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิด กับสภาพความเป็นจริงตามสถานการณ์ในเรื่องมากขึ้น คำที่ใช้เป็นคำง่ายๆไม่ซับซ้อน สามารถตีความได้ง่าย

แก่นของเรื่อง
แก่นของนวนิยายเรื่องนี้มุ่งแสดงเหตุการณ์บางช่วงตอนของชีวิตบุญเติม แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มีแก่นหรือแนวคิดสำคัญของเรื่องคือ

มนุษย์ทุกคนมีแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ไม่อาจเก็บซ่อนไว้ได้ จึงต่างแสดงความเห็นแก่ตัวและทำทุกวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ

ผู้อ่านสามารถตีความได้จากชื่อเรื่อง “รังเลือด” ไม่ได้หมายความถึงรังรุ่นสุดท้ายของนกนางแอ่นซึ่งมีสีแดง เชื่อกันว่ามีเลือดของนกนางแอ่นปนอยู่ แต่ “รังเลือด” นี้หมายถึงรังนกที่เป็นที่หมายปองของคนที่มีความโลภ และ ความเห็นแก่ตัว จนต้องทิ้งชีวิต ทิ้งคราบเลือดที่คาวข้นไว้บนเกาะแห่งนี้

สารของเรื่อง
สารของเรื่อง หรือสารัตถะ ไม่ได้หมายถึงข้อคิดที่ได้จากตัวละครเอกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสารที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอให้แก่ผู้อ่านได้รับรู้ผ่านตัวละครอื่นๆ เช่น ความรู้สึกของนักร้องพันหน้า ที่ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเพื่อแลกกับอาชีพการงาน ก็เปรียบเสมือนกับคนในสังคมที่ชื่นชอบคนแต่เพียงเปลือกนอก โดยไม่ได้มองให้ลึกถึงเนื้อแท้และความปรารถนาอันแท้จริงของคนๆนั้น การใส่หน้ากากเข้าหากันของคนในสังคม จึงเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของสังคมเมืองทุกวันนี้ไปเสียแล้ว

เรื่องของความจริงใจในการคบหาหรือรู้จักกันก็เป็นอีกข้อคิดหนึ่ง รังเลือดแสดงให้เราได้เห็นว่าคนเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการคบกับใครก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เหมือนกับบุญเติมซึ่งเป็นตัวละครที่มีความจริงใจกับทุกคนที่เขารู้จัก เขาจึงเป็นที่รักของคนเหล่านั้น และคนรอบตัวของเขาก็พร้อมให้การช่วยเหลือบุญเติมอย่างเต็มใจเสมอ แม้ยามที่บุญเติมตกที่นั่งลำบาก ซึ่งแตกต่างกับบุญยิ่งอย่างสิ้นเชิง บุญยิ่งไม่เคยมีความจริงใจให้กับใคร คิดถึงแต่ตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว จนถึงวินาทีสุดท้ายในชีวิต เขาก็ไม่เคยได้สัมผัสกับความรู้สึกเหล่านั้นตอบแทนเลยสักครั้ง

สารที่ได้โดยอ้อมจากเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่มีค่าและสำคัญที่สุดในชีวิต คือประสบการณ์และการเรียนรู้ของมนุษย์ แต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้และคงไม่มีใครเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ดีไปกว่าตัวของเราเอง ดังเช่นบุญเติม ที่พยายามค้นหาคำตอบมาตอบโจทย์ปัญหาชีวิตเกี่ยวกับเรื่องงาน และเรื่องความรัก จนได้มาพบคำตอบที่เกาะรังนกแห่งนี้ ทำให้เราได้เห็นว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือการเรียนรู้ชีวิต(ของผู้อื่น)ด้วยประสบการณ์ชีวิต(ของตัวเอง) นี่เอง

ความสำเร็จของผู้ประพันธ์ในการแสดงจุดมุ่งหมาย
นวนิยายเรื่องรังเลือดนี้ ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงภาพชีวิตและจิตวิญญาณของกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอันเสี่ยงอันตรายและห่างไกลจากการรับรู้ของคนส่วนมากอาชีพหนึ่ง นั่นคือ อาชีพเก็บรังนก โดยตีแผ่และเจาะลึกถึงความคิดของคนทั้งในสังคมเมือง และสังคมบนเกาะ ผ่านถ้อยคำสำนวนภาษาที่คมคายลึกซึ้ง เต็มไปด้วยข้อคิดและปรัชญาชีวิต
หากไม่พิจารณาถึงการผูกเรื่องแล้ว ถือว่านวนิยายเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการแสดงสาระสำคัญของเรื่อง เพราะทำให้ผู้อ่านได้เห็นเนื้อแท้ของมนุษย์ จนทำให้ต้องย้อนมามองดูตัวเองเพื่อกลับไปคิดหาเหตุผลมาอธิบายความเป็นตัวเองอีกครั้ง และได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับศิลปะท้องถิ่น ศัพท์ไทยถิ่นใต้ และอิ่มเอมไปกับจินตนาการที่ผู้แต่งร่างไว้ให้ผู้อ่านคิดตาม

สรุป
ผู้จัดทำเห็นว่านวนิยายเรื่องรังเลือดนี้มีความสมบูรณ์ในด้านองค์ประกอบต่างๆของ นวนิยาย ทั้งโครงเรื่องที่ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ มีเหตุการณ์ที่สอดรับกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตัวละครแต่ละตัวมีความเป็นตัวของตัวเอง เสมือนว่ามีชีวิตจริง ผู้แต่งได้เสนอความคิดเห็นโดยการให้ทรรศนะชีวิตแก่ผู้อ่านผ่านตัวละครเหล่านั้นสามารถชำแหละลึกลงไปในจิตใจของตัวละครโดยเฉพาะบุญเติม ผู้เล่าเรื่อง ทำให้เราได้สัมผัสกับความคิดอีกแง่มุมหนึ่งของมนุษย์ สอดแทรกคำคมชวนคิดและปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งและบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างถึงแก่น แม้แต่เรื่องของกามารมณ์ที่นักเขียนน้อยคนนักจะหยิบยกมานำเสนออย่างโจ่งแจ้ง และเชื่อมโยงให้เข้ากับแก่นของเรื่องได้อย่างกลมกลืน ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การนำเสนอสารของผู้แต่งที่แปลกและแหวกแนว โดยสะท้อนภาพชีวิตของตัวละครผ่านฉากและสังคมบนเกาะรังนก ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมภาคใต้อย่างลงตัว
กล่าวได้ว่า “รังเลือด” ได้สร้างมิติใหม่ในการเปลี่ยนแปลงของวงการนวนิยายไทย
ที่นำเสนอปรัชญาชีวิตอันทรงคุณค่าที่มีกลิ่นอายของสารคดีเจืออยู่อย่างลงตัว และให้สาระแก่ผู้อ่านมากกว่าการเป็นนวนิยายสารคดี (Documentary novel) ด้วยคุณสมบัตินี้เอง จึงไม่แปลกที่นวนิยายเรื่องนี้จะได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙

ไม่มีความคิดเห็น: