วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ตำนานรักท้าวแสนปม: เปลือกนอกหรือจะสำคัญเท่าเนื้อใน


ตำนานรักท้าวแสนปม :
เปลือกนอกกับเนื้อใน สิ่งใดสำคัญกว่ากัน


สังคมไทยปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความคิดของผู้คนในสังคม ทั้งวัฒนธรรมตะวันตก กระแสทุนนิยม และกระแสโลกาภิวัตน์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนมีความอยากมีอยากเป็นอย่างที่คนอื่นเขามีหรือเป็นกัน และต่างก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา จึงไม่แปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างนับถือและนิยมชมชอบผู้อื่นที่รูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าที่จะมองเข้าไปในจิตใจของคนคนนั้น สิ่งที่น่าคิดก็คือจะมีสักกี่คนที่มองคนให้ลึกถึงเนื้อในโดยไม่พิจารณาถึงรูปลักษณ์ภายนอก


นางอุษา ราชธิดาของท้าวไตรตรึงษ์แห่งบทละครเรื่องท้าวแสนปม บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่6) เป็นหนึ่งในบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้น แม้นางจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันแต่การกระทำของนางก็เป็นตัวอย่างให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อแรกที่นางเห็นท้าวชินเสนในร่างของนายแสนปม นางคิดในใจว่า


“รุงรังดังหนึ่งอนาถา แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่
จ้องดูไม่หลบตาไป นี่มิใช่คนทรามต่ำช้า”


จะเห็นว่าแม้รูปกายภายนอกของนายแสนปมจะดูน่าเกลียดเพียงใด แต่นางอุษาก็ฉลาดพอที่จะมองคนออกและรู้สึกนึกรักนายแสนปมขึ้นมาทันที กล่าวได้ว่าความรักที่ทั้งสองมีให้กันนั้นเป็นความรักแรกพบที่บริสุทธิ์ไม่เจือสิ่งปรุงแต่งใดๆ เพราะท้าวชินเสนในร่างของนายแสนปมก็ต้องการที่จะทดสอบใจนางอุษา ส่วนนางอุษาก็ไม่ได้สนใจในเปลือกนอกของนายแสนปม และยินดีที่นายแสนปมมีสารมาถึงตนจนเกิดตำนานรักอันเลื่องชื่อ แม้ว่าเส้นทางรักของนางจะพบอุปสรรคบ้าง แต่สุดท้ายนางก็มีความสุขกับความรักที่นางเป็นผู้เลือกเอง


เมื่อมองยังที่ที่เรายืนอยู่นี้อีกครั้ง ตราบใดกระแสสังคมยังไหลเอื่อยๆไปตามครรลองของมันเอง โดยไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ ตราบนั้น“เปลือกนอก”ก็ยังเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่ใช้ตัดสินความดีความเลวของคนในสังคม คงเป็นเรื่องยากที่คนเราจะมองให้ลึกถึงเนื้อในได้โดยไม่สนใจรูปลักษณ์ภายนอกเช่นนางอุษา แต่กระนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักในสังคมปัจจุบันก็คือ ความดีงามของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก จิตใจต่างหากที่เป็นตัวตัดสิน ดังคำกล่าวที่ว่า “เปลือกนอกหรือจะสำคัญเท่าเนื้อใน”



ไม่มีความคิดเห็น: