วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มิตรภาพไม่จำกัดภพใน "เด็กหอ"

“ทรงยศ สุขมากอนันต์” เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันที่โด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อน จากการประสบความสำเร็จอย่างงดงามของแฟนฉันและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเรื่อยๆทำให้เขาก้าวสู่การเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัวจากภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเรื่อง“เด็กหอ” โดยมีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงขณะอยู่โรงเรียนประจำที่จังหวัดชลบุรี นำไปสู่เรื่องราวที่สนุกสนาน แฝงไปด้วยความตื่นเต้น และซาบซึ้งใจกับความหมายของคำว่า “มิตรภาพ”

“เพื่อนตาย…หาไม่ยากอย่างที่คิด” ประโยคนี้เป็นแกนหลักของ “เด็กหอ” ภาพยนตร์ที่นำเสนอความรัก ความจริงใจระหว่างเพื่อนผ่านตัวละครชื่อ ต้น(ชาลี ไตรรัตน์) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ที่ต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำอย่างกะทันหันเพราะได้ล่วงรู้ความลับของพ่อ(สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล)โดยบังเอิญ ที่โรงเรียนใหม่นี้ ต้นได้อยู่ในความดูแลของครูปราณี (จินตรา สุขพัฒน์) ซึ่งเป็นครูที่เด็กๆต่างลงความเห็นว่ามีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ชอบเปิดแผ่นเสียงที่สะดุดแผ่นเดิมฟังทุกวัน และชอบเปิดดูลิ้นชักแล้วร้องไห้ สำหรับต้นเองก็มีปัญหาในการเข้าสังคม เขามักถูกแกล้งอยู่บ่อยๆและไม่สนิทกับเพื่อนมากนัก มีเพียงวิเชียร(ศิรชัช เจียรถาวร)ที่เข้ามาคุยด้วย ทั้งสองสนิทกันอย่างรวดเร็ว แม้ต่อมาต้นจะรู้ว่าวิเชียรไม่ใช่คนก็ตาม วิเชียรมักจะหายไปตอน1ทุ่มเพื่อไปกระโดดน้ำที่สระเก่าทุกวันโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้นรับรู้ความทุกข์ทรมานของวิเชียรและเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยวิเชียรได้สำเร็จ

การเล่าเรื่องในเด็กหอนี้เป็นการเล่าตามลำดับเวลา โดยเปิดเรื่องที่พ่อ แม่ น้องรวมทั้งต้นกำลังขับรถมุ่งหน้าสู่โรงเรียนสายชลวิทยา และเกิดความฉงนใจในท่าทีของต้นที่มีต่อพ่อ มีแทรกภูมิหลังของเรื่องราวเป็นระยะๆผ่านมุมมองของต้น แต่ผู้ชมไม่สามารถล่วงรู้ความคิดของตัวละครได้เลย เมื่อผู้ชมชมไปได้สักพักจึงทราบเหตุของเรื่อง วิธีการนี้เป็นการเฉลยที่มาของการกระทำของตัวละครที่ค้างคาใจผู้อ่านได้ดีทีเดียว เพราะไม่เยิ่นเย้อน่าเบื่อ แต่กลับกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสนใจและกระหายใคร่รู้ในตัวเรื่องต่อไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสน่ห์ตรงที่การสร้างภาพลักษณ์ของภาพยนตร์ระทึกขวัญเคลือบอยู่บางๆ แต่เนื้อแท้ที่ต้องการนำเสนอเป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งกับชีวิตในอีกสังคมหนึ่ง ความขัดแย้งที่เห็นเด่นชัดนอกจากจะขัดแย้งระหว่างต้นกับพ่อแล้ว ยังมีความขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อนอีก เขาจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆให้ได้ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น

การผสมผสานความน่าสะพรึงกลัวที่ลงตัวด้วยการสร้างฉากและบรรยากาศให้น่าสะพรึงกลัว ใช้แสงมืดๆทึมๆ และดนตรีประกอบที่บ่งบอกถึงความหดหู่ เศร้าสร้อย เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมและเกิดอาการ “อิน”ไปกับภาพยนตร์ ถึงแม้บางบทตอนจะดูเหนือความเป็นจริงก็ตาม เช่น ตอนที่ต้นถอดวิญญาณด้วยการสูดดมอีเทอร์เพื่อช่วยวิญญาณของวิเชียร แต่เพราะเหตุการณ์ตอนนี้เป็นจุดวิกฤตของเรื่องที่มุ่งเสนอความรักความผูกพันระหว่างเพื่อน แม้จะแลกด้วยความตายก็ย่อมได้ ช่วงนี้ผู้ชมจะเกิดอารมณ์ร่วมไปกับต้นและเอาใจช่วยต้นให้ช่วยวิเชียรให้ได้จนอาจลืมหลักความจริงไปเสียสนิท

บุคลิกของนักแสดงแต่ละคนเป็นไปอย่างคงที่ตั้งแต่ต้นจนจบ การสร้างตัวละครทำได้อย่างเหมาะสม และเป็นไปได้ในชีวิตจริง ตัวละครที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้มี3ตัว คือ

ชาตรี หรือต้น เด็กชายรูปร่างผอมสูง บุคลิกเรียบร้อย ซื่อๆแต่จริงใจ แววตาเศร้าหมองเหมือนมีเรื่องให้คิดมากตลอดเวลา ต้นถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำอย่างไม่เต็มใจเพราะเห็นพ่อมีอะไรกับผู้หญิงอื่น แววตาที่ต้นมองพ่อแสดงถึงความผิดหวังและเสียใจ ตลอดทั้งเรื่องต้นแทบจะไม่พูดกับพ่อเลยแม้พ่อจะโทรหาต้นอยู่บ่อยๆก็ตาม ชีวิตในโรงเรียนประจำทำให้ต้นต้องปรับตัวอย่างมาก และเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ วิเชียรได้เข้ามาเติมเต็มความโดดเดี่ยวนั้น เกิดความรักความผูกพันอย่างจริงใจ

วิเชียร ช่ำชอง เด็กชายหน้าทะเล้น ร่าเริงสดใส ด้วยความขี้เล่นนี่เองที่ทำให้เขาจมน้ำตายโดยไม่มีใครช่วย เขาจึงเป็นวิญญาณที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนี้มานาน ก่อนหน้าที่เขาจะตายวิเชียรพยายามหาข่าวของพ่อเขาจากหนังสือพิมพ์ แต่ครูปราณีกลับไม่ให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นและเก็บมันไว้ในลิ้นชัก แต่สุดท้ายวิเชียรก็แอบเอาไปจนได้ เมื่อวิเชียรได้พบกับต้นทั้งสองจึงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

ครูปราณี ครูประจำหอพักผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง บุคลิกภายนอกดุ เจ้าระเบียบ และพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้นักเรียนเกรงกลัว ครูมีความหลังฝังใจกับแผ่นเสียงที่ฟังแล้วสะดุดเก่าๆ และลิ้นชักโต๊ะที่เห็นเมื่อไหร่ก็ต้องร้องไห้เมื่อนั้นเพราะทำให้นึกถึงวิเชียร นักเรียนที่จมน้ำตายเมื่อ10ปีก่อน ครูเก็บหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวพ่อของเขาไว้ เมื่อเขามาแอบอ่านจนครูจับได้จึงตีวิเชียรจนไปถูกแผ่นเสียงทำให้แผ่นเสียงเป็นรอย และก่อนหน้าที่วิเชียรจะตายก็ได้แอบเอาหนังสือพิมพ์ไป ครูปราณีจึงโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้วิเชียรตาย นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเจ้าระเบียบกับนักเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก

ทรงยศได้แสดงฝีมือเต็มขั้นในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท คัดเลือกตัวนักแสดง และการกำกับภาพ ภาพทุกภาพที่ผ่านสายตาผู้ชมทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวล้วนมีองค์ประกอบที่ดูเป็นธรรมชาติ การใช้แสงเงาประกอบทำให้รู้สึกถึงความสมจริงและสะกดสายตาผู้ชมได้อย่างดี “เด็กหอ”จึงเป็นภาพยนตร์ที่มากด้วยคุณภาพเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นด้านกลวิธีการนำเสนอทั้งภาพและข้อคิดดีๆ ทำให้ผู้ชมได้ย้อนดูตัวเองดังคำพูดของต้นที่ว่า “แค่มีเพื่อนดีๆ1คนอยู่ข้างเรา ทุกอย่างไม่ว่าดีหรือร้ายก็จะผ่านไปได้เพียงแค่ไม่กี่อึดใจเท่านั้น”

ไม่มีความคิดเห็น: